เงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือน ต.ค.อยู่ที่5.98 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 คาดเดือนที่เหลือของปี 65เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอีก ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งเคลื่อนไหวในกรอบ 5.5 - 6.5 % ค่ากลางอยู่ที่ 6.0 %
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือน ต.ค.65 เท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่5.98 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในกลุ่มอาหาร จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการกำกับ ดูแลและควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับก.ย.2565 และเพิ่มขึ้น 3.17% เมื่อเทียบกับต.ค.2564 และเฉลี่ย 10 เดือน เพิ่ม 2.35% และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) อยู่ที่ 6.15%
โดยเงินเฟ้อเดือนต.ค.2565 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 9.58% โดยกลุ่มอาหารสด ราคายังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ต้นหอม ผักบุ้ง ส้มเขียวหวาน แตงโม น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ส่วนสินค้าที่ราคา ลดลง เช่น แป้งข้าวเจ้า ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้ง ขูด และมะขามเปียก เป็นต้น
สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 3.56% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ที่ราคาชะลอตัวลง ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ หน้ากากอนามัย แป้งผัดหน้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น
โดยในเดือนต.ค.65 มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคามีการเปลี่ยนแปลง โดยสินค้าราคาสูงขึ้น มี 187 รายการ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาลดลง มี 79 รายการ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า, ค่าพัสดุไปรษณีย์, โทรทัศน์ เป็นต้นสินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาคงเดิม มี 164 รายการ ได้แก่ รองเท้ากีฬา, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า, ค่าบริการจอดรถ เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เงินเฟ้อของไทย ไม่เพิ่มสูงมากนัก เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลล่าสุดเดือนก.ย. 65 ยังอยู่ในระดับสูงและสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในอาเซียน เช่น สปป.ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และประเทศสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี และอินเดีย รวมถึงสหรัฐฯ ถ้าดูตามสถิติการเก็บเงินเฟ้อของโลกที่มีอยู่ 135 ประเทศ เงินเฟ้อไทยต่ำอยู่ในลำดับ 107 ซึ่งแสดงว่าเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงจนเกินไป
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2565 ที่เหลืออีก 2 เดือน สนค.คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง และบางรายการราคาทรงตัวแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
“เงินเฟ้อเดือน พ.ยและธ.ค. มีแนวโน้มที่จะลดลง คาดว่าคงจะไม่ถึง 6% อยู่ในระดับใกล้เคียง 6 % ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานปีก่อน และมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ในการดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับต้นทุน ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา และดูแลให้มีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ”
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้สนค.ประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ภายใต้ 3 สมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.7 – 3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 90 – 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50 – 35.50 บาทต่อดอลลาร์
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้แรงกดดันของปัญหาเงินเฟ้อเริ่มลดความรุนแรงลง โดยยังอยู่ในกรอบ 6-6.5%ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดี ที่เราเริ่มควบคุมดูแลได้ดี
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มมาที่ 3.1%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสะท้อนว่า ประชาชนเริ่มมีอำนาจซื้อดีขึ้น และทำให้ราคาสินค้าเริ่มขยับเพิ่มจากการที่ธุรกิจเริ่มผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริโภค ก็น่าจะรับได้ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 10 เดือนยังอยู่ที่ 2.3% ถือว่าไม่สูงและยังอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนดไว้ที่ 0-3 % แต่ต้องจับตาดูว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่ แต่ถ้าแกว่งตัวอยู่ที่ 3% น่าจะอยู่ในอัตราที่รับได้ เนื่องจาก เงินเฟ้อไทยที่เพิ่ม มาจากสาเหตุหลัก คือราคาน้ำมัน ที่เป็นแรงกดดัน เหมือนกันทั้งโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท. คงจะทำตามกรอบการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าเดือนพ.ย. อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นอีก 0.25% และ ครึ่งปีแรก จะปรับเพิ่มอีก 0.5% โดยประมาณ