Gen Z เจอภาวะหมดไฟเร็วกว่าคนรุ่นอื่น เฉลี่ยอายุแค่ 25 ปี

คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญภาวะหมดไฟ (Burnout) เร็วกว่าคนรุ่นก่อน ซึ่งมักพบอาการนี้ในอายุสูงสุด 42 ปี ขณะที่สาเหตุหมดไฟของ Gen Z มาจากปัญหาการเงิน งาน สื่อโซเชียล
KEY
POINTS
- ผลสำรวจจาก Talker Research ระบุว่า 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันรู้สึกถึงจุดสูงสุดของภาวะหมดไฟก่อนอายุ 30 โดยเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 25 ปีเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความเชื่อเดิมที่ว่า ความเครียดจากชีวิตจะพุ่งสูงสุดในช่วงวัยกลางคน
- ดร.ชารอน คลาฟฟีย์ (Sharon Claffey) ศาสตราจ
ในโลกการทำงานยุคนี้ปัญหาหนึ่งที่วัยทำงานต่างต้องเผชิญกันมากก็คือ "ภาวะหมดไฟ" หรือ Burnout ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานแทบทุกอาชีพ ทุกระดับตำแหน่งงาน และทุกเพศทุกวัย แต่รู้หรือไม่? มีผลสำรวจล่าสุดพบว่าคนรุ่นใหม่รุ่น Gen Z และมิลเลนเนียลตอนปลาย เป็นกลุ่มประชากรที่เผชิญกับอาการหมดไฟเร็วกว่ารุ่นก่อนๆ
โดยผลสำรวจจาก Talker Research ระบุว่า 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันรู้สึกถึงจุดสูงสุดของภาวะหมดไฟก่อนอายุ 30 ซึ่งสวนทางกับความเชื่อเดิมที่ว่า ความเครียดจากชีวิตจะพุ่งสูงสุดในช่วงวัยกลางคน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 2,000 คน ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่า วัยทำงานชาวอเมริกันทั่วไปมักเผชิญภาวะหมดไฟสูงสุดที่อายุ 42 ปี แต่สำหรับ Gen Z และมิลเลนเนียล (ช่วงอายุ 18-44 ปี) กลับพบว่าพวกเขารู้สึกเครียดหนักที่สุดตั้งแต่อายุเฉลี่ยเพียง 25 ปี
ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเจอภาวะหมดไฟเร็วกว่ารุ่นก่อน
ดร.ชารอน คลาฟฟีย์ (Sharon Claffey) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Massachusetts College of Liberal Arts อธิบายว่า คนรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ถูกกำหนดโดยคนรุ่นก่อน ซึ่งแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ ที่เคยได้ผลสำหรับ Baby Boomers กลับใช้ไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้พวกเขาเกิดความเครียดและความรู้สึกหมดสิ้นหนทางจะไปต่อ
ข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวยังเผยอีกว่า คนอเมริกันทั่วไปต้องใช้ชีวิตภายใต้ความเครียดในระดับสูงเกือบครึ่งหนึ่งของขีดจำกัดที่รับไหว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ความเครียดนี้รุนแรงยิ่งกว่า โดย 51% ของ Gen Z และมิลเลนเนียลรายงานว่า พวกเขารู้สึกเครียดหนัก มากกว่าคนรุ่นก่อนอย่าง Gen X และ Baby Boomers ซึ่งรายงานความเครียดอยู่ที่เพียง 37%
เงิน งาน และโซเชียลมีเดีย คือปัจจัยหลักของภาวะหมดไฟ Gen Z
เมื่อพูดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟของวันยทำงานในทุกๆ รุ่นในภาพรวม ตามรายงานชี้ว่า ปัญหาทางการเงินคือสาเหตุอันดับหนึ่ง โดย 30% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเรื่องเงินเป็นปัจจัยกดดันสูงสุด รองลงมาคือการเมือง (26%) และลำดับที่สามคือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการงาน (25%) และสุดท้ายคือปัจจัยด้านปัญหาสุขภาพ (23%)
แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะจงลงมาที่กลุ่มวัยทำงานคนรุ่นใหม่ กลับพบว่า ความเครียดหลักที่ทำให้พวกเขาหมดไฟมาจาก "เรื่องงาน" เป็นอันดับแรก (33%) ตามมาด้วย "ความไม่มั่นคงทางการเงิน" (27%) และ "ปัญหาสุขภาพจิต" (24%) ในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ ให้ความสำคัญกับการเมืองและสุขภาพเป็นประเด็นหลัก
ดร.คลาฟฟีย์ บอกว่า หนึ่งในความคาดหวังหลักของสังคมคือการที่คนหนุ่มสาวต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้งานที่ดี อย่างไรก็ตาม ค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับหนี้สินก้อนโตตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วง
โซเชียลมีเดีย ปัจจัยที่ยิ่งทำให้ความเครียดรุนแรงขึ้น
นอกจากปัญหาทางการเงินและงานแล้ว โซเชียลมีเดียยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาวะหมดไฟรุนแรงขึ้น การสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียมากกว่าคนรุ่นก่อน
"โซเชียลมีเดียทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าต้องแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา เมื่อเห็นคนในออนไลน์โพสต์ภาพชีวิตที่ดูสมบูรณ์แบบ เราอาจรู้สึกกดดันที่จะต้องทำให้ได้แบบนั้น ทั้งที่อาจไม่มีทรัพยากรหรือโอกาสเท่ากัน" ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อธิบายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนทุกช่วงวัยเครียดมากขึ้น การสำรวจพบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันคาดว่าปี 2025 จะเป็นปีที่เครียดยิ่งกว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม 42% ของวัยทำงานในสหรัฐยังคงหวังว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว
แม้ว่าระดับความเครียดจะต่างกันไปตามช่วงวัย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน นั่นก็คือ การก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในยุคนี้ยากกว่าที่เคย ผลสำรวจพบว่า 83% ของวัยทำงานในสหรัฐเชื่อว่าการเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันยากกว่าทศวรรษก่อน และ 72% คิดว่าในอนาคตจะยิ่งยากขึ้นไปอีก
คาริชมา พาเทล บูฟอร์ด (Karishma Patel Buford) ประธานฝ่ายบุคคลของ Spring Health ให้สัมภาษณ์กับ Newsweek ว่า คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟอย่างหนัก เนื่องจากพวกเขาถูกล้อมรอบไปด้วยสิ่งที่ทำให้เครียดอยู่ตลอดเวลา
"เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียทำให้คนเรารู้สึกกดดันมากขึ้น เพราะเราเชื่อมต่อกับมันตลอดเวลา แต่กลับรู้สึกห่างไกลจากชีวิตจริง สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความเครียดสะสมจากปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟในระยะยาว" บูฟอร์ด สะท้อนความเห็น
เด็กรุ่นใหม่เจอความเครียดหนักตั้งแต่อายุน้อย เรื่องนี้ใครรับผิดชอบ?
ในขณะที่คนรุ่นใหม่เผชิญภาวะหมดไฟจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยก็กังวลถึงผลกระทบระยะยาวของความเครียดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อย แม้ว่าเรื่องการเงิน งาน และการเมืองจะยังเป็นปัจจัยหลัก แต่โซเชียลมีเดียและการเชื่อมต่อดิจิทัลก็ทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น
"คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้เหมือนคนรุ่นก่อน เพราะพวกเขาเติบโตมากับโซเชียลมีเดีย" ดร.คลาฟฟีย์ บอก และย้ำว่า "โทรศัพท์ของเราเต็มไปด้วยข้อมูลที่ทำให้เครียด และการหลีกหนีจากมันแทบเป็นไปไม่ได้"
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ยังต้องรับมือกับแรงกดดันเหล่านี้ คำถามที่สำคัญก็คือ เราจะป้องกันไม่ให้วัฒนธรรมการทำงานแห่งความเหนื่อยล้าจนหมดไฟ กลายเป็นเรื่องปกติได้อย่างไร? ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต
อ้างอิง: Newsweek, Studyfinds.org, TalkerResearch