ทำงานหนักไม่ใช่สาเหตุเดียวของอาการหมดไฟ แต่เพราะโดดเดี่ยวด้วย

ทำงานหนักไม่ใช่สาเหตุเดียวของอาการหมดไฟ แต่เพราะโดดเดี่ยวด้วย

นักวิจัยเผย อาการ "หมดไฟ" ของวัยทำงาน ไม่ได้เกิดจากความเหนื่อยล้าจากการ "ทำงานหนัก" เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความรู้สึกโดดเดี่ยวที่มากเกินไปด้วย

KEY

POINTS

  • ไม่ใช่แค่การทำงานหนักที่ทำให้

ปัจจุบันคนจำนวนมากรู้สึกเหนื่อยล้าและโดดเดี่ยวในที่ทำงาน ข้อมูลจากการสำรวจ General Social Survey พบว่า คนทำงานยุคนี้รู้สึกหมดไฟ (Burnout) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขารู้สึกหมดไฟจากงานอยู่บ่อยครั้งหรือตลอดเวลา ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 32% จากสองทศวรรษก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่รู้สึกหมดไฟจากงานมักจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นควบคู่กันมาด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ The Happiness Track พบว่า คนทำงานถึง 50% ไม่ว่าจะอยู่ในภาคธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือแม้แต่วงการแพทย์ ต่างประสบปัญหาหมดไฟ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้บริหารที่ทำงานหนักเท่านั้น แต่ลุกลามไปยังพนักงานทุกระดับในองค์กร 

มาย้อนทบทวนภาวะหมดไฟกันก่อนสักนิด ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ภาวะหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ที่ประสบภาวะนี้อาจรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือหมดแรงก่อนถึงวันทำงานเสียอีก นอกจากนี้ พวกเขายังอาจรู้สึกไม่มั่นใจในงานและคิดว่าตนเองทำงานได้ไม่เต็มที่ บางครั้งภาวะหมดไฟอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และทำให้ไม่สามารถเพลิดเพลินกับชีวิตประจำวันได้

ลัวนา มาร์เกซ (Luana Marques) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งเปิดคลินิกที่ช่วยให้ผู้บริหารจัดการกับภาวะหมดไฟในการทำงาน อธิบายว่า “มันเหมือนกับการแบกของหนักไว้ตลอดเวลา เหมือนกับแบกกระสอบมันฝรั่งติดตัวไปตลอดทาง” 

ผลกระทบของความโดดเดี่ยวต่ออาการหมดไฟและการทำงาน

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ไม่ใช่แค่การทำงานหนักที่ทำให้คนเราหมดไฟ แต่ความโดดเดี่ยวก็เป็นตัวการใหญ่ในเรื่องนี้ด้วย ยืนยันจาก จอห์น คาโชปโป (John Cacioppo) นักวิจัยด้านความโดดเดี่ยวและผู้เขียน Loneliness: Human Nature and the Need for Social Connection ชี้ให้เห็นว่า ความโดดเดี่ยวส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจอย่างมาก มันส่งผลกระทบต่ออายุขัยและทำให้สุขภาพแย่ลง ไม่แพ้ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ระบุว่า โรคอ้วนทำให้อายุขัยสั้นลง 20%, การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปลดอายุขัยลง 30%, การสูบบุหรี่ลดลง 50% แต่ที่หนักกว่านั้น..ความโดดเดี่ยวทำให้อายุขัยสั้นลงถึง 70% !!

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ความโดดเดี่ยวเพิ่มโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด ถึง 30% (ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว) ในทางตรงกันข้าม การมีความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ลดภาวะซึมเศร้า และเพิ่มอายุขัยได้

ไม่เพียงเท่านั้น ความโดดเดี่ยวในที่ทำงานยังเป็นปัจจัยเร่งให้พนักงานเผชิญกับภาวะหมดไฟและสูญเสียแรงจูงใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพขององค์กรลดลง งานวิจัยจาก Queen’s University และ Gallup พบว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวและการขาดความผูกพันกับองค์กรก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในหลายมิติ เช่น
- อัตราการขาดงานเพิ่มขึ้น 37%
- อุบัติเหตุในที่ทำงานเพิ่มขึ้น 49%
- กำไรขององค์กรลดลง 16%
- ราคาหุ้นของบริษัทลดลงถึง 65% ในระยะยาว

นายจ้างต้องใส่ใจ ลดความโดดเดี่ยวและป้องกันภาวะหมดไฟในที่ทำงาน

ความโดดเดี่ยวและภาวะหมดไฟส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของพนักงานและผลประกอบการขององค์กร งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ความโดดเดี่ยวในที่ทำงานทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี และภาวะหมดไฟทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาล

ปัจจุบันนายจ้างหลายๆ องค์กร ต่างก็พยายามแก้ปัญหาหมดไฟให้แก่พนักงาน  โดยเน้นไปที่การลดความเครียด ฝึกสติ หรือปรับปริมาณงาน แต่วิธีเหล่านี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ที่ต้นทาง เนื่องจาก "ความโดดเดี่ยว" ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หมดไฟ ดังนั้น ทางออกที่ได้ผลดีกว่านั้น อาจอยู่ที่การสร้าง "ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นในที่ทำงาน"

งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานช่วยลดอัตราหมดไฟและเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ผลสำรวจในสหราชอาณาจักรชี้ว่า "ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนมีความสุขกับงาน" คือ ความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งช่วยให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ได้รับการสนับสนุน และปลอดภัย ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศาสตราจารย์คิม คาเมรอน (Kim Cameron) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้เขียน Positive Leadership พบว่า หนึ่งในวิธีช่วยลดเบิร์นเอาท์ได้ดีก็คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเห็นอกเห็นใจกันและกันมกาขึ้น องค์กรที่มีวัฒนธรรมของ "ความห่วงใย ความเคารพ ความซื่อสัตย์ และการให้อภัย" จะทำให้งานโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ เจน ดัตตัน (Jane Dutton) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเห็นอกเห็นใจในที่ทำงาน ระบุว่า การแสดงความเมตตาต่อกันสามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร โดยที่ทำงานสามารถปรับปรุงนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งความเห็นอกเห็นใจได้ ดังนี้ 

1. สร้างเครือข่ายการสนับสนุนในที่ทำงาน: องค์กรส่วนใหญ่มักปล่อยให้พนักงานสร้างเครือข่ายเอง แต่หากบริษัทช่วยสนับสนุน เช่น การจับคู่ที่ปรึกษา การสร้างกลุ่มสนับสนุนจิตใจ หรือการจัดสรรเวลาให้พนักงานมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น ก็จะช่วยลดความโดดเดี่ยวได้

2. ฉลองความสำเร็จร่วมกัน: การจัดปาร์ตี้หรือ Happy Hour อาจช่วยให้พนักงานผ่อนคลายชั่วคราว แต่การเฉลิมฉลองความสำเร็จของทีมเป็นสิ่งที่สร้างความผูกพันในระยะยาว ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริษัท Awethu ในแอฟริกาใต้ ซึ่งใช้วิธี "ตีระฆัง" ทุกครั้งที่มีพนักงานใหม่เข้าร่วมองค์กร และให้ทุกคนหยุดงานชั่วขณะเพื่อร่วมแสดงความยินดี พิธีกรรมเล็กๆ เช่นนี้ช่วยเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและลดปัญหาหมดไฟได้ 

เปิดวิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ พนักงานเริ่มทำได้ด้วยตนเอง

สำหรับมุมของพนักงานเอง หากองค์กรของคุณยังไม่ได้มีแนวทางในการรับมือหรือช่วยแก้ปัญหาภาวะหมดไฟในที่ทำงาน เราก็ต้องเริ่มดูแลตนเองก่อน อย่าปล่อยให้อาการลุกลาม ดร.ไมเคิล พี ไลเตอร์ (Michael P. Leiter) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Acadia ในแคนาดาและผู้เขียนร่วมหนังสือเรื่อง The Burnout Challenge ให้คำแนะนำว่า

ลองบอกหัวหน้าของคุณว่าอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นที่สุดเกี่ยวกับบทบาทการทำงานของคุณ และถามว่าคุณจะสามารถขอลองทำงานโปรเจกต์เหล่านั้นได้หรือไม่ กลยุทธ์นี้เรียกว่า "การปรับแต่งงาน" และการศึกษาขนาดเล็กบางชิ้นชี้ว่า มันสามารถสร้างความรู้สึกเสริมพลังและทำให้งานของคุณรู้สึกมีความหมายมากขึ้น

ขณะที่ ดร.ซินเธีย เอ็ม. สโตนนิงตัน (Cynthia M. Stonnington) รองผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ของ Office of Joy and Well-Being ที่ Mayo Clinic ในรัฐแอริโซนา เสริมว่า พนักงานอาจใช้วิธีพูดคุยเกี่ยวกับลำดับความสำคัญรายวันหรือรายสัปดาห์กับผู้จัดการอย่างสม่ำเสมอ และเน้นถามไถ่หัวหน้าว่ามีข้อเสนอแนะในงานอย่างไรบ้าง บทสนทนาเหล่านี้จะช่วยป้องกันภาวะหมดไฟได้ เพราะช่วยให้คุณเข้าใจเนื้องาน ทำงานถูกจุด และสามารถปรับปรุงงานให้ดีขึ้น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและพึงพอใจในตนเอง

ไม่เพียงเท่านั้น รอน ซี. โกเอทเซล (Ron Z. Goetzel) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาสุขภาพและผลิตภาพที่ จอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก กล่าวว่า การพูดออกมาเมื่อคุณรู้สึกว่างานล้นมือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันภาวะหมดไฟ สิ่งนี้จะให้โอกาสผู้จัดการของคุณในการประเมินว่า งานบางอย่างสามารถนำออกจากรายการสิ่งที่คุณต้องทำ เมื่อผ่อนงานเบาลงก็ช่วยให้ลดความเครียด และป้องกันอาการหมดไฟได้ในที่สุด

 

อ้างอิง: Harvard Business Review, The New York Timesnami poll