ตัดจบ 'ภาวะหมดไฟ' ด้วยแนวคิดสโตอิก อะไรควบคุมไม่ได้ต้องปล่อยวางให้เป็น

ตัดจบ 'ภาวะหมดไฟ' ด้วยแนวคิดสโตอิก อะไรควบคุมไม่ได้ต้องปล่อยวางให้เป็น

หลังปีใหม่ งภาวะหมดไฟ' อาจมาเยือน เปิดวิธีลดเครียด-หลีกเลี่ยงเบิร์นเอาท์ ด้วยหลักปรัชญา 'สโตอิก' อะไรควบคุมไม่ได้ก็ต้องรู้จักปล่อยวางให้เป็น

KEY

POINTS

  • หลังปีใหม่วัยทำงานกลับมาสู้งานกันต่อในปี 2568 แต่บางคนกลับหดหู่และมีอาการหมดไฟในการทำงานตั้งแต่ต้นปี แต่ก่อนจะปล่อยให้อาการลุกลาม ลองปรับปรุงจิตใจตามหลักปรัชญา Stoic ช่วยดูแลจิตใจได้มากกว่าที่คิด
  • ปรัชญาสโตอิกสอนให้บุคคลมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่พวกเขาสามารถ “ควบคุมได้” และปล่อยวางสิ่งที่พวกเขา “ควบคุมไม่ได้” และเน้นการฝึกฝนความยืดหยุ่น การฝึกสติ และการค้นหาความหมายของชีวิต
  • การฝึกปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม จะช่วยลดความเครียดหรือวิตกกังวล และหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงานได้

ผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่มาไม่นาน และวัยทำงานก็ต้องกลับมาสู้งานกันต่อในปี 2568 แต่บางคนกลับหดหู่เศร้าซึม ประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยในทางการแพทย์เรียกว่า “New Year Blues” อันเกิดจากภาวะ Post-Vacation Depression หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว และอาจเชื่อมโยงไปถึงภาวะหมดไฟในการทำงานตั้งแต่ต้นปี 

กรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลว่าแม้ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้อาการเด่นๆ ที่พบบ่อยได้แก่ เหงาเศร้าซึม ความเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจ เบื่อหน่าย ความวิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว หมดพลัง โดยทั่วไปอาการมักคงอยู่ 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตแนะนำให้ประชาชนตรวจวัดสุขภาพใจได้ที่ วัดใจ.com

แต่ก่อนจะปล่อยให้อาการลุกลามจนหมดไฟทำงาน ลองมาเช็กวิธีใหลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และภาวะหมดไฟด้วยการใช้หลักปฏิบัติตามปรัชญา “สโตอิก” (Stoic, Stoicism) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิตใจวัยทำงานมากกว่าที่คิด

หลักปรัชญาสโตอิกคืออะไร เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตใจอย่างไร?

ข้อมูลจาก Calm and SimpleLife ระบุไว้ว่า ปรัชญาสโตอิกเป็นปรัชญาโบราณที่สอนให้บุคคลมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่พวกเขาสามารถ “ควบคุมได้” และปล่อยวางสิ่งที่พวกเขา “ควบคุมไม่ได้” ปรัชญานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฝึกฝนความยืดหยุ่น การฝึกสติ และการค้นหาความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิต หากปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้เชื่อว่าบุคคลจะสามารถใช้ชีวิตที่มีความสุขและอิ่มเอมใจมากขึ้นได้

ผู้ที่ยึดถือแนวคิดสโตอิกมองว่าอารมณ์เชิงลบต่างๆ เช่น ความโกรธ ความอิจฉา และความวิตกกังวล เป็นผลมาจากความเชื่อและการตัดสินที่ผิดๆ เกี่ยวกับโลกและสถานะตัวตนของเรา เพื่อเอาชนะอารมณ์เชิงลบเหล่านี้ คนเราจึงควรฝึกฝนตนเองให้มองเรื่องต่างๆ ตามเหตุผล สร้างวินัยในตนเอง และแยกตัวจากสิ่งเร้าภายนอก อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ (ยอมรับระบบระเบียบของธรรมชาติ และใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับมัน)

สำหรับวิธีที่จะนำหลักปรัชญาสโตอิกมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อปรับปรุงสุขภาพจิตของคุณนั้น ก่อนอื่นมาดูหลักการสโตอิกที่สำคัญและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 4 ประการ ดังนี้ 

1. มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้

“คุณมีอำนาจเหนือจิตใจของคุณ ไม่ใช่เหตุการณ์ภายนอก จงตระหนักถึงสิ่งนี้ แล้วคุณจะพบกับความเข้มแข็งทางใจ” มาร์คัส ออเรลิอัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสมาธิ (Meditations) กล่าวเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญประการหนึ่งของแนวคิดสโตอิกคือ การมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ ซึ่งหมายถึงการระบุแง่มุมต่างๆ ในชีวิตของคุณที่คุณควบคุมได้ และละทิ้งแง่มุมที่ไม่สามารถควบคุมได้ การทำเช่นนี้จะช่วยลดระดับความเครียดและปรับปรุงสุขภาพจิตของคุณได้

วิธีนำหลักการนี้ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้เริ่มต้นด้วยการลองจดรายการสิ่งต่างๆ ที่คุณควบคุมได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจรวมถึงความคิด การกระทำ และปฏิกิริยาของคุณต่อเหตุการณ์ภายนอก เมื่อคุณระบุสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ให้ฝึกปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ เมื่อคุณพบว่าตัวเองเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้เตือนตัวเองว่า “สิ่งนั้นอยู่นอกเหนือขอบเขตการควบคุมของคุณ” และให้มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณควบคุมได้แทน

2. การปลูกฝังความยืดหยุ่น

เหรียญยังมีสองด้าน เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็มีสองมุม(หรือหลายมุม)เช่นกัน “สิ่งกีดขวางต่อการทำสิ่งนี้ จะส่งเสริมการทำสิ่งใหม่ สิ่งที่ขวางทางอยู่ตรงหน้า ก็จะนำไปสู่หนทางใหม่” ดังนั้นจงฝึกฝนความยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิต

หลักการสำคัญอีกอย่างตามแนวคิดสโตอิกก็เช่นกัน นั่นคือ “การปลูกฝังความยืดหยุ่น” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากความทุกข์ยากและเรียนรู้และเติบโตจากความท้าทาย การพัฒนาความยืดหยุ่นจะช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงานได้ สำหรับวิธีนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เริ่มจากการฝึกวินัยในตนเอง ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้กับตัวเอง แล้วฝึกวินัยในตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น 

ใช้ความทุกข์ยากเป็นโอกาสในการเติบโต โดยไตร่ตรองถึงสิ่งที่คุณสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น และวิธีนำบทเรียนเหล่านั้นไปใช้ในอนาคต สุดท้าย ให้สร้างระบบสนับสนุนโดยการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนที่สามารถให้การสนับสนุนทางอารมณ์และกำลังใจได้

3. การฝึกสติ

ปัจจุบันคือสิ่งเดียวที่เรามี (อย่ายึดติดกับอดีตและอนาคต) และเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจ แนวคิดสโตอิกเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การฝึกสติ” หมายถึงการฝึกฝนการมีสติอยู่กับปัจจุบัน และมีส่วนร่วมกับมันอย่างเต็มที่โดยไม่ตัดสินหรือเสียสมาธิ การฝึกสติจะช่วยลดระดับความเครียด ปรับปรุงสุขภาพจิต และหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟได้

วิธีฝึกคือ เริ่มด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ สองสามครั้ง ในยามที่คุณรู้สึกเครียดหรือรับมือไม่ไหว จดจ่อกับความรู้สึกของลมหายใจที่เข้าและออกจากร่างกายของคุณ แบ่งเวลาพักเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง สุดท้าย ให้ไตร่ตรองถึงความคิด อารมณ์ และปฏิกิริยาของคุณต่อเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงรูปแบบความคิดหรือพฤติกรรมเชิงลบที่อาจทำให้เกิดความเครียดหรือหมดไฟมากขึ้น

4. การค้นหาความหมายและจุดมุ่งหมาย

คุณค่าที่แท้จริงของคนคนหนึ่ง วัดจากสิ่งที่เขาแสวงหาในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นกำหนดหรือขีดเส้นให้ แนวคิดปรัชญาสโตอิกเน้นเรื่องการค้นหาความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิต เมื่อคุณมีความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายและทิศทางในชีวิต คุณจะมีแนวโน้มที่จะรู้สึกอิ่มเอมและพึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟให้น้อยลง

หากต้องการค้นหาความหมายและจุดมุ่งหมาย ให้เริ่มต้นด้วยการ “ระบุคุณค่าของตัวเอง” โดยไตร่ตรองถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ เช่น ความสัมพันธ์ การเติบโตส่วนบุคคล หรือการมีส่วนสนับสนุนต่อสังคมในลักษณะที่มีความหมาย จัดระเบียบความคิด การกระทำ และการตัดสินใจในแต่ละวันให้สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านั้น และกำหนดเป้าหมายที่มีความหมายสำหรับตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณมีจุดมุ่งหมายและทิศทางที่ชัดเจน

โดยสรุปคือหลักปฏิบัติตามแนวคิดสโตอิกทั้ง 4 ข้อข้างต้น หากทำได้จนคุ้นชินในชีวิตประจำวัน ก็จะสามารถปรับปรุงสุขภาพจิตและช่วยให้วัยทำงานหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟได้ และส่งเสริมให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น และปรับปรุงความเป็นอยู่โดยรวมให้ดีขึ้นได้ หากคุณกำลังดิ้นรนกับภาวะหมดไฟหรือปัญหาสุขภาพจิต ลองพิจารณาศึกษาปรัชญาสโตอิกเพิ่มเติม หรือพิจารณาหลักการอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ เพื่อเป้าหมายในการค้นพบกับความสงบสุขและความยืดหยุ่นในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นกว่าที่เคย