Quiet burnout หมดไฟแอบแฝง รุนแรงกว่าหมดไฟทั่วไป อาการแบบไหนเข้าข่าย?

Quiet burnout หมดไฟแอบแฝง รุนแรงกว่าหมดไฟทั่วไป อาการแบบไหนเข้าข่าย?

Quiet burnout ภาวะหมดไฟชนิดแอบแฝง วัยทำงานไม่รู้ตัว ต้องรีบเช็ก! อาการแบบไหนเข้าข่ายและสามารถป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

KEY

POINTS

  • Quiet burnout หรือ ภาวะหมดไฟแบบเงียบ แตกต่างจากอาการหมดไฟทั่วไป ตรงที่เกิดขึ้นทางจิตใจเป็นหลัก อาการจะดำเนินไปช้ากว่า ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัว เป็นภาวะที่จะแอบแฝงอยู่ลึกๆ ในใจ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
  • ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมองข้ามอาการที่เกิดขึ้น และเก็บกดเอาไว้จนสายเกินไป มักแสดงออกว่าตนเองมีความสุข ทั้งที่ข้างในจะรู้สึกเหนื่อยล้าทางจิตใจอย่างมาก
  • เกิดจากความตึงเครียดที่ไม่ได้รับการบรรเทา มักเกิดกับผู้ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มใจ แต่กลับละเลยความต้องการของตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะถูกเอาเปรียบจนรู้สึกเหนื่อยล้าทางจิตใจ

เชื่อว่าวัยทำงานหลายคนคงรู้จัก “ภาวะหมดไฟ” (Burnout) กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เคยได้ยินว่ายังมีอาการคล้ายๆ กันอีกอย่างที่เรียกว่า “Quiet burnout” หรืออาการหมดไฟแบบเงียบ หรืออาการหมดไฟชนิดแอบแฝง ซึ่งนักจิตวิยาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อาการนี้อันตรายมากกว่าภาวะเบิร์นเอาท์แบบทั่วไปเสียอีก และพบว่าภาวะดังกล่าวกำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตามรายงานการจำแนกโรคระหว่างประเทศของ “องค์การอนามัยโลก” ระบุว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจาก “ความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทบทวนอีกที! ภาวะหมดไฟ Burnout แบบทั่วไป อาการเป็นแบบไหน?

ขณะที่ คริสตินา โจคิม (Christina Jochim) รองประธานสมาคมนักจิตอายุรเวชแห่งเยอรมนี อธิบายเพิ่มเติมว่า ภาวะหมดไฟแบบทั่วไป ไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิตใจโดยตรง แต่เป็นกลุ่มอาการที่มักมีความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงร้ายแรงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้

นอกจากนี้ ในผู้ที่ประสบกับภาวะหมดไฟ มักจะพ่วงมาด้วยการขาดการออกกำลังกาย การไม่ดูแลเรื่องอาหารการกิน นั่นจึงส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินและเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตาม อีกทั้งภาวะหมดไฟยังสามารถทำให้เกิดปัญหาทางสังคมและอาชีพ เช่น สูญเสียงาน สูญเสียเพื่อนฝูง ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและคนรอบข้าง ฯลฯ 

หมดไฟแบบทั่วไป VS หมดไฟแบบเงียบ ต่างกันอย่างไร? 

ในทางการแพทย์อธิบายไว้ว่า ภาวะหมดไฟแบบทั่วไป และ ภาวะหมดไฟแบบเงียบ จะมีอาการบางอย่างที่เหมือนกัน และมีอาการบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน สำหรับอาการที่เหมือนกัน ได้แก่ ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย หงุดหงิด กังวล ใจร้อน และเกิดความขัดแย้งได้ง่าย มักจะแสดงออกโดยอาการทางร่างกายเป็นหลัก 

ส่วนอาการที่มีความแตกต่างกันคือ ภาวะหมดไฟแบบเงียบๆ หรือแบบแอบแฝงนั้น จะมีลักษณะสำคัญตรงที่มักเกิดขึ้นทางจิตใจเป็นหลัก และอาการจะดำเนินไปช้ากว่า ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังหมดไฟ เป็นภาวะที่จะแอบแฝงอยู่โดยลึกๆ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมองข้ามอาการที่เกิดขึ้นและเก็บกดเอาไว้จนสายเกินไป ผู้ป่วยจะพยายามใช้ชีวิตตามปกติ จึงทำให้ผู้คนรอบข้าง รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ยาก 

Quiet burnout หมดไฟแอบแฝง รุนแรงกว่าหมดไฟทั่วไป อาการแบบไหนเข้าข่าย?

บริจิตต์ โบเซนคอฟ (Brigitte Bösenkopf) นักจิตวิทยา อธิบายเพิ่มเติมว่า “ผู้ป่วยมักจะระงับอาการไว้ โดยไม่ยอมรับว่ามีบางอย่างผิดปกติ พวกเขาพยายามจะฉายภาพลักษณ์ออกไปว่า ตนเองเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

คริสตินา โจคิม เห็นด้วยกับคำพูดข้างต้นและบอกจุดสังเกตเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ประสบกับภาวะหมดไฟแบบเงียบๆ จำนวนมาก มักแสดงออกหรือแสดงสีหน้าว่าตนเองมีความสุข ทั้งที่ข้างในจะรู้สึกเหนื่อยล้าทางจิตใจอย่างมากก็ตาม การแสร้งทำเป็นมีความสุขทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีความสุข ถือเป็นกลไกการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของผู้ที่เกิดอาการหมดไฟแบบเงียบ 

Quiet burnout เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเข้าข่ายบ้าง?

สำหรับสาเหตุหลักของ “ภาวะหมดไฟแอบแฝง” หรือหมดไฟแบบเงียบ มักจะเกิดจากความตึงเครียดที่ไม่ได้รับการบรรเทา หรือความขัดแย้งและปัญหาบางอย่างของผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชีวิตส่วนตัว หรือปัญหาจากที่ทำงานก็ตาม

นักจิตวิทยาโบเซนคอฟ บอกว่า ผู้ที่มีค่านิยมส่วนตัวที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของผู้คนรอบข้าง (ในที่ทำงาน) มักจะเกิดอาการนี้ได้ง่าย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห้นภาพชัดเจนคือ อาการเบิร์นเอาท์แบบทั่วไป มักเกิดกับผู้ที่ทำงานหนักเกินขีดจำกัดและเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือน ขณะที่อาการเบิร์นเอาท์แบบเงียบ มักเกิดกับผู้ที่ทำงานหนักซึ่งเป็นผลมาจากการที่ “ไปช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มใจ และละเลยความต้องการของตัวเอง” เมื่อเกิดกรณีแบบนี้บ่อยๆ เข้า เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยล้าและรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ

ทั้งนี้ มีสัญญาณเตือนที่คนรอบข้างสามารถสังเกตได้ว่า เพื่อนของเราหรือคนในครอบครัวของเรามีอาการ Quiet burnout หรือไม่? ให้สังเกตจากอาการผิดปกติทางร่างกายที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ นั่นคือ มักจะมีความไวต่อการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้ยินเสียงดังที่ต่อเนื่อง หรือเจอแสงสว่างจ้า หรือแม้แต่การสัมผัสตัว-ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ป่วยจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น รวมถึงมักมีอาการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งมาจากการนอนหลับไม่สนิท เป็นต้น

ทั้งนี้ “การนอนหลับ” มีความสำคัญต่อการพักผ่อนและฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายของคนเราทุกคน ในผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิดและวิตกกังวลในวันรุ่งขึ้นได้ นำมาซึ่งความผิดปกติทางพฤติกรรมด้วย ได้แก่ 

- ขี้บ่น วีนเหวี่ยง พูดถากถางและเสียดสีเรื่องต่างๆ รอบตัวอย่างผิดปกติ
- อารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ 
- มักจะละทิ้งความต้องการของตัวเองอยู่เสมอ
- รู้สึกเหนื่อยล้ามาก ทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้นทั้งที่เคยทำได้ง่ายๆ
- มีภาวะความจำเสื่อม 
- ถอนตัวจากกิจกรรมทางสังคม สื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงเพราะเหนื่อยและขาดพลังงาน 
- หัวเราะน้อยลงในที่ทำงาน

Quiet burnout หมดไฟแอบแฝง รุนแรงกว่าหมดไฟทั่วไป อาการแบบไหนเข้าข่าย?

วิธีป้องกันภาวะ Quiet burnout รวมถึงการแก้ไขเบื้องต้นที่ต้องรู้!

นักจิตวิทยาคนเดิมให้คำแนะนำว่า สิ่งสำคัญคือวัยทำงานต้องรู้จักสังเกตภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ ต้องให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนของภาวะหมดไฟ เช่น การนอนหลับไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท ความเหนื่อยล้าที่มากขึ้น การทำงานผิดพลาดบ่อยครั้ง ฯลฯ หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ต้องรีบแก้ไขอย่างพยายามเก็บกดมันเอาไว้ เพราะจะยิ่งจะทำให้อาการแย่ลงได้

ผู้ที่สงสัยว่าตนเองกำลังประสบกับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ทั้งแบบทั่วไปและแบบแอบแฝง ควรเปิดเผยปัญหาที่เกิดขึ้นให้คนรอบข้างรับรู้อย่างตรงไปตรงมา เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท คนในครอบครัว เพราะการสื่อสารที่ชัดเจนและการขอความช่วยเหลือเป็นขั้นตอนแรกในการฟื้นตัวและรักษาอาการเหล่านี้ให้หายได้

นอกจากนี้ วัยทำงานที่เผชิญภาวะหมดไปควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ เนื่องจากนักบำบัดความเครียด ผู้ฝึกสอน และเวิร์กช็อปต่างๆ สามารถให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และแก้ไขให้อาการเหล่านี้บรรเทาลงได้ตามหลักวิชาการทางการแพทย์

ทั้งนี้ หากใครพบว่าตนเองมีภาวะหมดไฟในระยะเริ่มแรก แนะนำให้ใช้เทคนิคการลดความเครียด ด้วยการพูดคุยและการปรับทัศนคติกับผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถช่วยได้มาก แต่ถ้ายิ่งรอช้าอาการก็จะยิ่งแย่ลง และอาจมีอาการเจ็บป่วยทางกายตามมาได้ ดังนั้น หากมีอาการแล้วต้องขอความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยเรื้อรังในระยะยาว และอาจแก้ไขได้ยาก