Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ มีความกระตือรือร้นสูง แต่ Burnout มากกว่าคนรุ่นอื่น

Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ มีความกระตือรือร้นสูง แต่ Burnout มากกว่าคนรุ่นอื่น

Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ เป็นรุ่นที่ชอบแข่งขัน มีความกระตือรือร้นสูง แต่พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นอื่น เช่น ความพึงพอใจในตนเองต่ำและเบิร์นเอาท์

KEY

POINTS

  • รายงานจาก State of the Heart 2024 ชี้ว่า Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ เป็นรุ่นที่ชอบแข่งขัน มีความกระตือรือร้นสูง แต่พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นอื่น
  • สาเหตุและปัจจัยมาจากการเกิดมาพร้อมโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลต่อสมอง แถมยังเติบโตมาในยุคโรคระบาด ปัญหาสภาพแวดล้อม และภัยคุกคามอื่นๆ ยิ่งทำให้วิตกกังวลและซึมเศร้า
  • ทีมวิจัยหวังว่าข้อมูลเชิงลึกจากรายงานชุดนี้ จะทำให้ผู้คนเข้าใจและทำงานร่วมกับ 

Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ เป็นรุ่นที่ชอบแข่งขัน มีความกระตือรือร้นสูง แต่พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นอื่น เช่น ความพึงพอใจในตนเองต่ำและเบิร์นเอาท์

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงนี้ Gen Z ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกการทำงาน ด้วยว่าคนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่ระบบแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอีกไม่นานจำนวนประชากรชาว Gen Z ก็จะแซงหน้าชาว Gen Y แล้วกลายเป็นคนรุ่นที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และจะแซงหน้าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ในด้านแรงงานภายในปี 2567

มีประเด็นหนึ่งในโลกการทำงานที่มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ คนรุ่นก่อนๆ (บางคน) มองว่าคนรุ่น Gen Z นั้นเกียจคร้าน ชอบทวงสิทธิ์ และไม่ค่อยเตรียมพร้อมในการทำงาน โดยผลสำรวจล่าสุดจาก ResumeBuilder ชี้ว่า 74% ของหัวหน้างานและผู้นำองค์กรหลายแห่งรายงานว่า Gen Z ทำงานร่วมด้วยยากกว่ารุ่นอื่นๆ เรียกร้องสิทธิ์ ขาดความพยายาม แรงจูงใจ และขาดประสิทธิภาพการทำงาน

แต่จริงๆ แล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นนั้นถูกต้องตามกฎหมายไหม? หรือนี่เป็นเพียงอคติของคนรุ่นคลาสสิกที่อาจกำลังเข้าใจผิด? หรือมีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและค่านิยมของคน Gen Z ที่ทำให้พวกเขาทำงานด้วยได้ยากขึ้นหรือไม่?

เรื่องนี้มีคำตอบจากรายงานชิ้นใหม่ของ State of the Heart ประจำปี 2024 (เผยแพร่รายงาน ณ เมษายน 2024) ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลด้านความฉลาดทางอารมณ์และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทีมวิจัยค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Gen Z ซึ่งได้ทำลายความเชื่อแบบเหมารวม (Stereotype) หลายประการเกี่ยวกับ Gen Z แม้นักวิจัยจะพบว่า ปีนี้คนทั้งโลกกำลังประสบกับภาวะถดถอยทางอารมณ์ มีความเป็นอยู่ต่ำ และมีอาการเบิร์นเอาท์สูง แต่กลุ่มคนที่ประสบภาวะนี้อย่างรุนแรงมากเป็นพิเศษก็คือ Gen Z โดยมี 3 ประเด็นหลักๆ ที่นักวิจัยค้นพบ ได้แก่ 

1. Gen Z เป็นรุ่นที่มีภาวะเบิร์นเอาท์เพิ่มขึ้นมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างวัยยิ่งถ่างกว้างขึ้นมากกว่าที่เคย คนหนุ่มสาวมีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำกว่าคนรุ่นอื่นมาก และมีอัตราการหมดไฟสูงกว่าคนรุ่นเก่ามากเช่นกัน และเมื่อวิเคราะห์ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 8 ทักษะของชาว Gen Z ก็พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์ของพวกเขาลดลงทุกทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

2. Gen Z ถูกเหมารวมว่าขี้เกียจ (ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น)

“ขี้เกียจ ไม่มีประสิทธิผลในที่ทำงาน” ใช่ บางคนอาจเป็นแบบนี้จริง แต่จะเหมารวมว่า Gen Z ทุกคนเป็นแบบนี้ไม่ได้ (จริงๆ แล้วคนประเภทนี้มีอยู่ทุกรุ่น) จากข้อมูลของ State of the Heart ได้หักล้างความเชื่อผิดๆ นี้ไปเลย โดยนักวิจัยค้นพบว่า Gen Z เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง พวกเขาขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานด้วยจิตวิญญาณแห่งการแข่งขัน มีความกระตือรือร้นที่จะพิสูจน์ตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ (53.7%) มีปัญหาสุขภาพจิต โดยมีคะแนนความพึงพอใจในตนเองต่ำ นี่ส่งสัญญาณว่า พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะเลิกมีส่วนร่วมในงาน หมดไฟในการทำงาน และรักษาประสิทธิภาพในงานไว้ได้ไม่นาน

3. Gen Z เป็นคนตรงไปตรงมา เน้นการปฏิบัติแบบทำทันที แต่ขาดความฝัน

Gen Z มีความรู้สึกที่ชัดเจนต่อความมุ่งมั่นในตนเองและเจตจำนงของตนเอง นี่เป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีความระมัดระวังมากกว่าคนรุ่นเก่า และยอมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า ซึ่งมันดูขัดกับสัญชาตญาณ และด้วยความรู้สึกสุดโต่งของทั้งสองขั้วนี้ ทำให้เกิดเป็นความวิตกกังวล นอกจากนี้ Gen Z มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติจริงในระยะสั้นมากกว่า พวกเขาชอบลงมือทำทันที แต่ไม่ค่อยมีความเพ้อฝันหรือรู้สึกว่ามีจุดมุ่งหมาย (เหมือนอย่างที่คนรุ่นอื่นๆ มักจะมีกันในช่วงวัยนี้) 

จากข้อค้นพบทั้งหมดข้างต้น หลายคนคงอยากรู้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Gen Z กลายเป็นคนที่มีแนวคิด สภาพจิตใจ และบุคลิกภาพแบบนี้ คงต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า คนแต่ละรุ่นเกิดมาพบเจอกับเหตุการณ์ของโลก บริบททางสังคม และเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนด หล่อหลอม ชีวิตส่วนตัวและวิถีการทำงานของผู้คนทุกรุ่น Gen Z ก็เช่นกัน พวกเขาเกิด เติบโต และเข้าสู่ตลาดแรงงานท่ามกลางสถานการณ์โลกที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ 

เทคโนโลยี-โซเชียลมีเดีย ตัวการทำ Gen Z เผชิญปัญหาสุขภาพจิต ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจนไม่ต้องพึ่งใคร

โดยปัจจัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาก็คือ การที่พวกเขาเกิดมาในยุค “สมาร์ทโฟน” ทำให้ Gen Z มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอย่างแน่นแฟ้น โดย Gen Z เป็นเจเนอเรชันแรกที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมแอปฯ โซเชียลมีเดีย ในขณะที่สมองของวัยรุ่นของพวกเขายังพัฒนาอยู่ นี่ไม่ใช่เรื่องที่โชคดีนัก! 

มีงานวิจัยจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ให้ผลลัพธ์ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า สมาร์ทโฟนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติสุขภาพจิตในประชากรชาว Gen Z ยืนยันจาก “โจนาธาน ฮายด์” นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน นักเขียน และศาสตราจารย์ที่ New York Stern School of Business เขาเป็นหนึ่งในนักวิจัยชั้นนำที่ศึกษาพบว่า โซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อการพัฒนาสังคมและสุขภาพจิตของวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Gen Z เสี่ยงโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากกว่าคนรุ่นอื่น อาจรวมถึงการมีความพึงพอใจในตนเองต่ำด้วย โดยระดับความวิตกกังวลจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อพวกเขาเชื่อมต่อกันมากเกินไปผ่านโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี จึงทำให้พวกเขาหาข้อมูลความรู้รอบตัวต่างๆ ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ไม่ต้องคอยถามจากคนที่อาวุโสกว่า “โรเบอร์ตา แคทซ์” อดีตนักวิชาการวิจัยอาวุโสที่ Stanford's Center for Advanced Study in the Behavioral Sciences (CASBS) กล่าวว่า Gen Z มีความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองอย่างมาก พวกเขาไม่มองว่าผู้อาวุโสเป็นผู้เชี่ยวชาญ และพวกเขาไม่เชื่อเรื่องลำดับชั้นหรือความอาวุโส

ด้วยความที่เติบโตมาในโลกที่มีเครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ใช้ฟรีและแบ่งปันกันได้แค่เพียงคลิกเดียว พวกเขาจึงค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นผลให้พวกเขาตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ตั้งแต่เพื่อนฝูง พ่อแม่ หรือผู้คนในที่ทำงาน พวกเขาไม่กลัวที่จะท้าทายว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นเช่นนี้ นี่เป็นผลตามธรรมชาติของการที่ Gen Z ไม่ต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้อาวุโสมากเท่ากับคนรุ่นก่อนๆ 

Gen Z เติบโตมาในยุคที่ท้าทายจากภัยคุกคาม จึงตอบสนองด้วยแนวคิดและวิถีชีวิตที่ต่างออกไป

อีกทั้งชาวเจนซีนั้นยังเติบโตมาในยุคแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 การล็อคดาวน์ และวิกฤติสภาพภูมิอากาศ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขา ดร.บริตต์ เรย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ศึกษาถึงความวิตกกังวลที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศ (Climate of Emotions) กล่าวว่า ภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และความท้าทายอื่นๆ มีส่วนทำให้ Gen Z มีอัตราความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในระดับสูงอย่างแน่นอน มันทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังต่อภัยคุกคามมากขึ้น และผลักดันไปสู่การปฏิบัติทันทีมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ในบริบทของสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญและความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ นี่เป็นปฏิกิริยาที่เข้าใจได้ เป็นผลตามธรรมชาติที่พวกเขาตอบสนองต่อภัยที่กำลังเผชิญอยู่ 

รวมถึงในแง่ของรูปแบบการทำงาน ย้อนกลับไปช่วงที่เกิดโรคระบาด ทุกคนปรับตัวสู่การทำงานระยะไกล หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่เมื่อโรคระบาดหายไป การที่บริษัทเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ กลายเป็นสิ่งที่ชาวเจนซีไม่เข้าใจ เพราะพวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ทำงานได้จากทุกที่อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น Gen Z ส่วนใหญ่ถึง 73% จึงต้องการทางเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นอย่างถาวร ตามการวิจัยจาก World Economic Forum พวกเขาต้องการมีอิสระในการเลือกสถานที่และเวลาที่จะทำงาน

ท้ายที่สุดทีมวิจัยเผยว่า หลังจากได้อ่านข้อมูลจากรายงานชุดนี้แล้ว พวกเขาคาดหวังให้คนทุกรุ่นเข้าใจกันและกันมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อ และทำงานร่วมกับประชากรชาว Gen Z ได้ดีกว่าที่เคย