‘วิกฤติการออม’ ดับฝัน Gen z 6 เคล็ดลับเอาชีวิตรอดในยุค'ค่าครองชีพสูง'

‘วิกฤติการออม’ ดับฝัน Gen z  6 เคล็ดลับเอาชีวิตรอดในยุค'ค่าครองชีพสูง'

6 เคล็ดลับบริหารเงินในยุคค่าครองชีพสูงจากกูรูมุ่งสุ่การออมแบบมีคุณภาพ หลัง ‘วิกฤติการเงิน’ ดับฝัน Gen z ออกไปใช้ชีวิตแต่ละทีแพงจนต้องคิดหนัก

Gen Z หลายคนกำลังเผชิญกับ “วิกฤตการเงิน” แบบไม่รู้ตัว จากค่าครองชีพที่พุ่งสูง เงินเดือนเริ่มต้นที่ต่ำเตี้ย และหนี้ก้อนโตจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา นั่นกำลังกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขวางทางฝันของคนรุ่นใหม่ หลายคนเผชิญปัญหาการจัดการเงิน วางแผนอนาคต ซื้อบ้าน สร้างครอบครัว หรือแม้แต่การเก็บเงินสำหรับเกษียณ

อนาคตที่มืดมนบดบังความฝัน เพราะ Gen Z จำนวนไม่น้อยยังใช้ “เงินจากพ่อแม่" หรือแม้กระทั่ง "ใช้จ่ายเพื่อคลายเครียด" แบบซื้อก่อนผ่อนทีหลัง จนลืมคิดไปว่า อาจส่งผลร้ายต่อวินัยการเงินในระยะยาวก็ได้

แต่ท่ามกลางความท้าทายยังมีความหวัง วันนี้กรุงเทพธุรกิจขอนำเสนอเคล็ดลับการวางแผนงบประมาณที่เหมาะสม แม้ในยุคค่าครองชีพสูงลิ่ว จากมุมมองของที่ปรึกษาทางการเงิน

1. 50-30-20

มาร์ค สตรัทเธอร์ส ผู้ก่อตั้งบริษัทวางแผนการเงิน Sona Wealth แนะนำให้ใช้ “กฎ 50-30-20” แบ่งเงินดังนี้

  • 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น (ค่าเช่า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ)
  • 30% สำหรับสิ่งที่อยากได้ (ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ฯลฯ)
  • 20% สำหรับการออมและลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม กฎ 50-30-20 ก็สามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น 70-20-10 หรือ 80-10-10 ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายและเป้าหมายของคุณ โครงสร้างนี้ช่วยให้เรารู้สึกควบคุมสถานการณ์ทางการเงินของตนเองได้มากกว่าเดิม และยังคงมีวินัยในการใช้เงิน

สตรัทเธอร์สมองว่าแม้ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกคน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

2. ลองจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะได้รู้ว่าเราฟุ่มเฟือยแค่ไหน

ดักลาส โบนพาร์ธ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Bone Fide Wealth แนะนำให้จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียดเป็นเวลา 6-12 เดือน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายและวางแผนจัดสรรเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การรู้ข้อมูลของคุณจะช่วยลดการคาดเดา และช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น (ถ้ามี)” เขากล่าว

เมื่อคุณทราบวิธีจัดสรรปันส่วนการใช้เงินแล้วการใช้ “แอปพลิเคชัน” ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ดีในการจัดการงบประมาณและติดตามเป้าหมาย เช่นแอป Goodbudget, Monarch Money และ You Need A Budget

3. แบ่งค่าใช้จ่าย

ซาราห์ พอลสัน เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน Valkryrie Financial แนะนำให้แบ่งค่าใช้จ่ายเป็น “ค่าใช้จ่ายคงที่” และ “ค่าใช้จ่ายแปรผัน”

  • ค่าใช้จ่ายคงที่ ควรตั้งค่าโอนอัตโนมัติสำหรับยอดเงินคงที่ที่จ่ายทุกเดือนเช่น ค่าเช่า ค่าสมาชิก เงินกู้ รวมถึงเงินออม
  • ค่าใช้จ่ายแปรผัน คือ เงินที่เหลือใช้หลังจากหักค่าใช้จ่ายคงที่ ไว้ใช้จ่ายตามต้องการ เช่น ช้อปปิ้ง ซื้อของเข้าบ้าน

พอลสันยังแนะนำให้พยายามเก็บเงินให้ได้ใกล้เคียงกับ 20% ของรายได้ ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

4.”ตั้งเป้าหมาย” อยากเอาเงินไปใช้อะไร

“การมีเหตุผลที่ชัดเจน” เพื่อระบุเป้าหมายการออม เช่น เพื่อการเกษียณอายุ เอาเงินไปซื้อบ้าน เที่ยวต่างประเทศ หรืออะไรก็ตาม ยิ่งทำให้มีแรงจูงใจและมุ่งมั่น ซึ่งการเริ่มต้นด้วยเป้าหมายเล็ก ๆ ค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้สำเร็จ

“อย่ากดดันตัวเอง เพราะความสมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งสำคัญ จงโฟกัสไปที่การพัฒนาและรักษานิสัยการออมที่ดี”

5."เงินสำรองฉุกเฉิน” สำคัญกว่าที่คิด

เซลิน่า ฟลาเวียส ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Black Girl Finance จากสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน หรือ การเผื่อเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นปีละครั้ง

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เช่น ค่าวันหยุด, วันเกิด, ค่าบำรุงรักษารถยนต์, ประกันภัยบ้าน และภาษี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งต่อปี ไม่ใช่ทุกเดือน โดยการวางแผนล่วงหน้าและกันเงินไว้ทุกเดือนสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี

6.’Fun Money' เคล็ดลับการมีเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุข

ซาราห์ พอลสัน แนะนำให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายเพื่อความสนุกสนาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าดูหนัง ค่าอาหารนอกบ้าน เป็นครั้งคราว

โดยมีเหตุผลที่สำคัญ 2 อย่างคือ

1.การไม่มีเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุข อาจทำให้คุณรู้สึกเครียดและท้อแท้จนอาจเผลอใช้จ่ายเงินเกินตัวในที่สุด และ

2.การมีเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขจะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในการอดออมและบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว

ทั้งนี้จำนวนเงินที่ควรกันไว้ สำหรับ “Fun Money”นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ทางการเงินและไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว แนะนำให้กันเงินไว้ประมาณ 5-10% ของรายได้

อ้างอิง bloomberg