Gen Z 83% แม้เงินเดือนสูง แต่หมดไฟในการทำงานเพิ่มขึ้น เหนื่อยล้า อยากลาออก
Gen Z ที่มีงานเงินเดือนสูงในสายอาชีพแพทย์ พยาบาล ทนาย 83% ของพวกเขาหมดไฟในการทำงานเพิ่มขึ้น งานหนัก เหนื่อยล้า อยากลาออก
KEY
POINTS
- วัยทำงาน Gen Z ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รับมือเหตุฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ พวกเขาหมดไฟในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 83 รายงานว่าเหนื่อยล้ากับการทำงาน
- ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 36% กำลังพิจารณาลาออกจากงาน เนื่องจากตำแหน่งงานในสายอาชีพต่างๆ ดังกล่าว ไม่สามารถให้ความยืดหยุ่นหรือสมดุลชีวิตได้
- ผลสำรวจพบว่า พนักงาน Gen Z ในสายงานเหล่านี้ประมาณ 1 ใน 3 ยินดีสละการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อแลกกับวันหยุดพักร้อนพิเศษเพิ่มอีกหนึ่งสัปดาห์
เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลสำรวจใหม่จาก UKG บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ค้นพบว่า วัยทำงาน Gen Z ในสายงาน Frontline (หมายถึงบุคลากรที่ให้บริการที่จำเป็นและมีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รับมือเหตุฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ) พวกเขาหมดไฟในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
โดยร้อยละ 83 ของวัยทำงาน Gen Z ที่ทำงานในสายอาชีพเหล่านี้ ต่างก็รายงานว่ารู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงาน งานหนัก ชั่วโมงทำงานยาวนาน และวัยทำงานกลุ่มนี้ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 36% กำลังพิจารณาลาออกจากงาน เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
Gen Z ในสายงานเงินเดือนสูงอยากได้วันลาเพิ่มมากกว่าขึ้นเงินเดือน
UKG ได้ทำการสำรวจพนักงานสายอาชีพ Frontline เกือบ 13,000 คนทั่วโลกในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากอาชีพเหล่านี้ต้องมาทำงานที่หน้างานจริง (ทำผ่านออนไลน์ไม่ได้) และมีตารางงานที่อัดแน่นไม่มีช่วงพัก จึงทำให้พนักงานรุ่น Gen Z มากกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) บอกผ่านแบบสำรวจว่า พวกเขาต้องการวันหยุดพักร้อนเพิ่มเติมมากกว่าการขึ้นเงินเดือน เนื่องจากพวกเขาอยากได้สมดุลชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้นกว่านี้
จูเลีย ฮอบส์บาว์ม (Julia Hobsbawm) ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานที่ทำงานและผู้เขียนหนังสือ Working Assumption บอกกับนิตยสาร Newsweek ว่า คนรุ่น Gen Z เติบโตและเข้าสู่ตลาดงานในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับพวกเขาในแง่ของทักษะทางสังคม ความมั่นใจ และทัศนคติ
คนทำงานรุ่น Gen Z มักจะให้ความสำคัญกับ ‘ความหมายของชีวิตการงาน’ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากในองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวคือการแสวงหากำไร ไม่ใช่การปรับปรุงโลกและสังคม นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเบิร์นเอาท์มากขึ้น
ทั้งนี้อาการหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในคนทำงานทุกวัย โดยพนักงานร้อยละ 75 ของกลุ่มอาชีพข้างต้นในทุกเจเนอเรชัน ต่างรู้สึกว่าทำงานหนักเกินไปและไม่ได้รับการให้ความสำคัญ แต่เมื่อเจาะจงเฉพาะคนรุ่น Gen Z พบว่าสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญกลับเลวร้ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด
Gen Z เติบโตมาพร้อมกับการระบาดใหญ่ จึงอยากได้ชีวิตการงานที่มีความยืดหยุ่น
ฮอบส์บาว์มอธิบายว่า เหตุที่คนทำงานกลุ่ม Gen Z จำนวนมากรู้สึกท้อแท้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยไม่ได้ดูแลสุขภาพทางอารมณ์ จิตวิญญาณ และจิตใจของพวกเขาเลย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19” เธอกล่าว
พนักงานรุ่นใหม่กลุ่มนี้ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำแหน่งงานในสายอาชีพดังกล่าวไม่สามารถให้ได้ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ตามการสำรวจของ UKG พบว่าพนักงาน Gen Z ในสายงานเหล่านี้ประมาณ 1 ใน 3 ยินดีสละการเลื่อนตำแหน่งเพื่อแลกกับวันหยุดพักร้อนพิเศษอีกหนึ่งสัปดาห์
“คนรุ่น Gen Z ไม่ต้องการทำงานแบบที่คนรุ่น Gen X หรือรุ่นบูมเมอร์ทำ พวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานจริง หรือไม่ได้เริ่มจากการฝึกทักษะที่ควรมีติดตัวมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่พวกเขาอยากทดลองทำงานในรูปแบบที่ต่างออกไป เช่น เกิดปรากฏการณ์ที่เด็กจบใหม่แห่ไปเป็นบาริสต้ากันมาก ทั้งที่บางคนเรียนจบสูง สิ่งไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนงาน แต่เกิดจากวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และพวกเขาอยากได้งานที่มีเวลาพักผ่อน” ฮอบส์บาว์มอธิบาย
ในอีกแง่หนึ่ง คนรุ่น Gen Z กำลังรู้สึกกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากการสำรวจของ American Staffing Association เมื่อต้นปีนี้ พบว่าพนักงานรุ่น Gen Z ร้อยละ 37 กังวลว่าจะตกงานมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้ หลายคนยังต้องรับมือกับหนี้สินส่วนบุคคลจำนวนมาก (ภาระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) และยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
นายจ้างป้องกันลูกจ้างรุ่นใหม่ลาออกได้ โดยช่วยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ดีขึ้น
เดนิส รูสโซ (Denise Rousseau) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า แนวทางแก้ไขภาวะหมดไฟในการทำงานอาจแตกต่างกันไประหว่างพนักงานที่อายุน้อยและอายุมาก เนื่องจากพวกเขาเจอเรื่องเครียดไม่เหมือนกัน และตอบสนองต่อความเครียดแตกต่างกัน คนรุ่น Gen Z พวกเขาคุ้นเคยกับการทำงานในออฟฟิศน้อยลง
ประสบการณ์ที่คนทำงานรุ่นก่อนๆ ได้สัมผัสมาแล้วในชีวิตการทำงานนั้น (อาบน้ำร้อนมาก่อน) แต่สำหรับวัยทำงานรุ่น Gen Z มันถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา ซึ่งหลายคนใช้ชีวิตในช่วงวัยสร้างตัวระหว่างการล็อกดาวน์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
“งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการทำงานนอกเวลาและการทำงานแบบผสมผสาน อาจช่วยลดภาวะหมดไฟในการทำงานได้ สิ่งที่นายจ้างสามารรถทำได้เพื่อช่วยลดปัญหานี้ คือ แนะนำให้ถามพนักงานว่าสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใดที่จะช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้น” รูสโซกล่าวทิ้งท้าย