AI กลายเป็นโค้ชด้านอาชีพให้วัยทำงาน Gen Z แนะนำวิธีปรับตัว-ขอขึ้นเงินเดือน

AI กลายเป็นโค้ชด้านอาชีพให้วัยทำงาน Gen Z แนะนำวิธีปรับตัว-ขอขึ้นเงินเดือน

AI กลายเป็นโค้ชด้านอาชีพให้กับวัยทำงานรุ่นใหม่ พบส่วนใหญ่มักถามเกี่ยวกับวิธีปรับตัวในที่ทำงาน-การขอขึ้นเงินเดือน

KEY

POINTS

  • บริษัทจำนวนมากเริ่มใช้แชตบอต AI มาโค้ชชิ่งหรือให้คำแนะนำด้านอาชีพการงานเบื้องต้นให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะเป็นที่ปรึกษาให้วัยทำงานคนรุ่นใหม่
  • AI Coaching ถูกนำมาใช้เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับความท้าทายในอาชีพการงาน ถามและได้คำตอบแบบเรียลไทม์ เช่น “วิธีที่ดีที่สุดในการเจรจาขอขึ้นเงินเดือน” ไปจนถึง “วิธีค้นหางานใหม่”
  • 50% ของพนักงานที่มีอายุระหว่าง 21- 26 ปี (Gen Z) มองว่าคำแนะนำจาก AI Coaching เป็นคำแนะนำที่ดีกว่าของผู้จัดการที่เป็นคนจริงๆ 

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มาในรูปของ Chatbot เริ่มแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของวัยทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการใช้มันเพื่อสอบถามข้อมูลที่ต้องการ ใช้โต้ตอบเบื้องต้นในระบบซื้อขายออนไลน์ ให้มันช่วยวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว เขียนจดหมายสมัครงานใหม่ และแม้แต่ใช้ค้นหาคู่เดตคนต่อไปของคุณ แต่คุณจะไว้วางใจให้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยแนะนำเรื่องอาชีพการงานหรือไม่? 

มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มใช้แชตบอต AI มาโค้ชชิ่งหรืออบรมการทำงานเบื้องต้นให้แก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท BetterUp, Multiverse, LinkedIn, Valence และ Wisq ซึ่งกลุ่มบริษัทเหล่านี้เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ที่ใช้แชตบอตเข้ามาเป็นโค้ชด้านอาชีพการงาน คาดว่าในอนาคตอีกหลายบริษัทจะทำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อเป็นที่ปรึกษามากขึ้นเรื่อยๆ

การนำ AI มาช่วยให้คำแนะนำด้านอาชีพ เริ่มแพร่กระจายในตลาดแรงงาน

ช่วงปีนี้องค์กรธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทหลายแห่งรัดเข็มขัดแน่น มีทั้งประกาศปลดพนักงาน ทั้งลดงบประมาณ เมื่อพนักงานเหลือน้อยลง ก็เป็นธรรมดาที่องค์กรจะพิจารณานำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกำลังคน หนึ่งในนั้นคือการนำ AI เข้ามาใช้เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำพนักงาน (AI Coaching) เพราะเป็นทางเลือกที่ถูกกว่า และเข้าถึงทุกคนได้มากกว่าที่ปรึกษาที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่มันก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ 

สำหรับ AI Coaching หมายถึง แอปหรือโปรแกรมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เชิงสร้างสรรค์ มันถูกนำมาใช้เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก หรือความท้าทายในอาชีพการงาน ผู้ใช้จะสอบถามสิ่งที่ต้องการทราบกับแชตบอตในแอปนั้นๆ แล้วรับคำตอบแบบเรียลไทม์ เช่น ถามว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการเจรจาขอขึ้นเงินเดือน” ไปจนถึง “วิธีค้นหางานใหม่” และ “วิธีมอบหมายงานหรือให้คำติชมกับเพื่อนร่วมทีม” เป็นต้น

แม้หลายบริษัทจะซื้อ AI Coaching ไปใช้ในองค์กร แต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี บอกกับ Forbes ว่า ธุรกิจนี้ยังคงเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่ม การซื้อขายยังอยู่ในตลาดที่เล็กเกินกว่าที่จะวัดผลได้ แต่ทั้งนายจ้างและพนักงานก็เริ่มยอมรับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนและบริษัทต่างๆ กำลังมองหาความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพมากขึ้น ซึ่งก็เข้าใจได้ 

เนื่องจากสมัยนี้วัยทำงานอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวนสูง พนักงานไม่กล้าเสี่ยงเปลี่ยนงานใหม่ เพราะรู้สึกกังวลกับโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง ในขณะเดียวกันหลายคนก็รู้สึกไม่สบายใจกับการขาดการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ และกังวลว่า AI จะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทำให้ทักษะบางอย่างของมนุษย์ล้าสมัยและอาจตกงานได้

Gen Z เกือบ 50% บอกว่าคำแนะนำจาก AI ดีกว่าคำแนะนำจากคน

มีผลสำรวจจาก Workplace Learning ประจำปี 2024 ของ LinkedIn รายงานว่า บริษัทประมาณ 47% ยอมรับว่าพวกเขาลงทุนซื้อ AI Coaching มาใช้อบรมด้านอาชีพให้พนักงานของตน และการสำรวจโดย Gartner พบว่าพนักงาน 42% รู้สึกสบายใจที่จะสอบถาม AI Coaching เกี่ยวกับการเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพของตน 

ส่วนการสำรวจจาก INTOO ซึ่งเป็นบริษัทด้านอาชีพและการจัดหางานใหม่ พบว่า พนักงานอายุน้อยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 50% ที่มีอายุระหว่าง 21- 26 ปี (Gen Z) มองว่าคำแนะนำจาก AI Coaching รวมถึง ChatGPT ที่พวกเขาได้รับนั้น เป็นคำแนะนำที่ดีกว่าของผู้จัดการที่เป็นคนจริงๆ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่ามีธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน AI Coaching หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท Rising Team ซึ่งตั้งอยู่ในเมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถถระดมทุนได้มากถึง 8 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาพัฒนาแชตบอตที่ชื่อว่า aRTi ซึ่งเป็นหนึ่งใน AI Coaching เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แก่พนักงานบริษัทต่างๆ 

อุจวาล ซิงห์ (Ujjwal Singh) หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของบริษัท Multiverse ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพฝึกอาชีพในลอนดอน เปิดเผยว่า นายจ้างต่างก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ ปัจจุบันลูกค้าของบริษัท 64% หันมาใช้ที่ปรึกษาด้านอาชีพการงานด้วย AI กันอย่างแพร่หลายแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15% จากไตรมาสที่แล้ว เขามองว่าหลายองค์กรผลักดันเรื่องนี้กันอย่างหนักจริงๆ 

การรับคำปรึกษาด้านอาชีพจาก AI ยังมีข้อจำกัด แต่ก็ราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้ AI เพื่อมาให้คำแนะนำด้านอาชีพ ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพราะหลายฝ่ายมองว่าอาจกระทบความเป็นส่วนตัวของพนักงาน เพราะเมื่อใช้งาน AI Coaching พนักงานจะต้องใส่ข้อมูลส่วนบุคคลไปในระบบ อีกทั้งคุณภาพของคำตอบหรือคำแนะนำจากแชตบอตเหล่านั้น ก็อาจมีความผิดพลาดสูงกว่าคำแนะนำจากมนุษย์

แต่ในอีกมุมหนึ่ง มีงานวิจัยเบื้องต้นบางชิ้นระบุว่า ในบางสถานการณ์ การให้คำแนะนำด้านอาชีพโดย AI อาจมีประสิทธิภาพเท่ากับการฝึกสอนโดยมนุษย์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS พบว่ากลุ่มวิจัยที่ใช้การฝึกสอนโดยมนุษย์และกลุ่มที่ใช้การฝึกสอนโดย AI มีประสิทธิภาพเท่ากันในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นายจ้างปฏิเสธไม่ได้คือ AI Coaching นั้นมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการสอนด้วยมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาที่เป็นมนุษย์เฉลี่ยอยู่ที่ 244 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราวๆ 8,250 บาทต่อชั่วโมง) แต่บริการ AI Coaching นั้นมีค่าบริการอยู่ที่ 50-150 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราวๆ 1,700-5,000 บาทต่อชั่วโมง) นอกจากราคาถูกแล้ว ระบบให้คำแนะนำโดย AI ยังได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ส่วนใหญ่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ Slack หรือ Microsoft Teams ที่พนักงานใช้เป็นประจำทุกวันได้โดยตรง

ดังนั้น อาจพูดได้ว่า AI Coaching เข้าเป็นตัวเร่งให้ค่าบริการในธุรกิจที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านอาชีพมีราคาถูกลง และช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถให้การฝึกอบรมแก่พนักงานได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยมักเริ่มใช้ในการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น LinkedIn เปิดตัว AI Coaching ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งนำมาช่วยอบรมพนักงานเบื้องต้น มันสามารถตอบคำถามจากชั้นเรียนเสมือนจริงได้ด้วย

ขณะที่ BetterUp ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการให้คำปรึกษาและจิตวิทยาระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่าล่าสุดที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ตามข้อมูลของ Pitchbook) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อ Practica ซึ่งเป็น AI Coaching อีกตัวหนึ่งเพื่อนำมาขยายบริการด้าน AI ให้กับบริษัทตนเอง (บริษัทยังคงให้บริการที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนจริงๆ ควบคู่ไปด้วย) ทั้งนี้ สำหรับการให้คำปรึกษาด้วย AI นั้น สามารถให้คำแนะนำได้ในหลายหัวข้อ เช่น การขอขึ้นเงินเดือน, การแบ่งปันข้อเสนอแนะที่สำคัญให้กับทีม, การเสนอเหตุผลในการเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ 

ในขณะเดียวกัน บริษัทสตาร์ทอัพผู้ให้บริการที่ปรึกษาอย่าง Valence ที่ตั้งอยู่ในโตรอนโต และบริษัทที่ปรึกษา Coachello ที่ตั้งอยู่ในปารีส ทั้งสองบริษัทนี้ก็ได้เพิ่มบริการแชตบอต AI ในฐานะโค้ชออนไลน์เพื่อให้กับบริการลูกค้าเมื่อปีที่แล้วด้วยเช่นกัน

เปิดความเห็นต่างมุมมอง บางคนบอกที่ปรึกษา AI ใช้งานได้ดี แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย

เกรเทล ไซเกอร์ (Grettel Seiger) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาภาวะผู้นำที่ตั้งอยู่ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มทดลองใช้ Coachello กับพนักงานกลุ่มเล็กๆ เมื่อเดือนที่แล้ว และเธอบอกว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เพื่อนร่วมงานได้รับความช่วยเหลือในช่วงต้นอาชีพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

เธอเสริมว่า พนักงานที่เริ่มใช้โปรแกรมดังกล่าวได้เปิดใจถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่กับที่ปรึกษาที่เป็น AI ซึ่งพวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกตัดสิน อีกทั้งการถามหรือขอคำแนะนำจากแชทบอต AI ยังช่วยให้พนักงานกล้าพูดไปตรงๆ ได้ว่าต้องการความช่วยเหลือประเภทใด ช่วยให้ระบายความคับข้องใจได้มากกว่า 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตามความเห็นของ อุจวาล ซิงห์ จากบริษัท Multiverse มองว่า การโค้ชที่ดีและการให้คำแนะนำที่ดีนั้น ไม่ใช่อะไรที่ทำแบบเร็วๆ ลวกๆ ได้ แต่ต้องอาศัยการพูดคุยและซักถามด้วยคำถามเชิงลึก รวมถึงต้องใช้ทักษะการชี้แนะบุคคลไปในทิศทางหนึ่ง ซึ่ง AI ไม่น่าจะทำได้ดีเท่ามนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อต้องตอบคำถามที่ซับซ้อนและเน้นเรื่องความสัมพันธ์

อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่า เครื่องมือ AI บางตัวสร้างคำตอบขึ้นมาเองโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง หรือบางครั้งก็ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดออกมาอย่างเห็นได้ชัด ตามความเห็นของ มาสซารา อัลมาฟราชี (Massara Almafrachi) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จาก Western New England Law School เธอบอกว่า การขอคำแนะนำด้านอาชีพจากแชตบอต AI ทำให้เธอได้รับคำตอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำถามและยิ่งทำให้สับสนกว่าเดิม

ท้ายที่สุดแล้ว แชตบอต AI จะทรงพลังได้ก็ต่อเมื่อมันถูกป้อนข้อมูลที่มีคุณภาพเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม บริษัทที่ใช้ AI มาให้คำปรึกษากับลูกค้า จึงต้องโน้มน้าวลูกค้าให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขาให้ได้ก่อน AI จึงจะสามารถนำไปประมวลผลเพื่อให้ได้คำแนะนำที่มีคุณภาพ อีกทั้งบริษัทที่ซื้อ AI Coaching มาให้พนักงานใช้งาน อาจเจอปัญหาว่าพนักงานไม่กล้าถามคำถามเกี่ยวกับการลาออกจากงานหรือการรับมือกับเจ้านายที่เป็นพิษ ซึ่งนั่นก็อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร