Gen Y นักการทูตในที่ทำงาน ตัวกลางรับจบทุกปัญหา ทั้งสอนงานน้องทั้งรับงานพี่
Gen Y นักการทูตในที่ทำงาน ตัวกลางรับจบปัญหาทุกอย่าง แถมเป็นกาวใจช่วยเชื่อมโยงพนักงานทุกเจนเนอเรชัน ทั้งสอนงานน้อง Gen Z ทั้งคอยอธิบายสิ่งใหม่ๆ ให้พี่ Gen X เข้าใจ
KEY
POINTS
- การทำงานหลังการระบาดใหญ่เป็นต้นมา พบว่ามีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแทบทุกองค์กร นั่นคือความขัดแย้งระหว่างรุ่น เหตุเพราะพนักงานต่างวัยสื่อสารไม่เข้าใจกัน
- ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความคิดเห็นของคนสองรุ่นที่ต่างกันมาก จำเป็นต้องมีคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งหนีไม่พ้น “Gen Y” ที่รับจบแก้ปัญหาทุกอย่าง
- คนรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y เป็นนักการทูตที่ยอดเยี่ยมในที่ทำงาน พวกเขาคุ้นเคยกับการทำงานทั้งระบบเก่าและระบบใหม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกการทำงานในปัจจุบันมักเกิดความขัดแย้งระหว่างรุ่นเกิดขึ้น และพบว่าระหว่างข้อพิพาทต่างๆ ส่วนใหญ่ มักจะอยู่มีคนหนึ่งที่คอยนักไกล่เกลี่ยหรือเป็นตัวเชื่อมช่องว่างระหว่างฝ่ายต่างๆ นั่นก็คือ กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y นั่นเอง
บุคลากรในบริษัทไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยใดก็ตาม ล้วนเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับองค์กร เมื่อบุคลากรเหล่านี้มารวมตัวกัน ย่อมนำมาซึ่งความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมุมมองที่หลากหลายจากประสบการณ์ของคนทั้ง 4 เจนเนอเรชัน โดยแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตและการทำงานที่แตกต่างกันอย่างมาก จึงทำให้วิธีทำงานของพวกเขาแต่ละรุ่นแตกต่างกันไปด้วย
- คนรุ่น Gen Z กลุ่มแรงงานอายุน้อยที่สุด (ค.ศ.1997-2012) มีอายุอยู่ในช่วง 27 ปีลงมา
- คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen Y (ค.ศ.1981-1996) มีอายุอยู่ในช่วงเกือบ 30 ปี ไปถึง 40 ปีต้นๆ
- คนรุ่น Gen X (ค.ศ.1965-1980) มีอายุอยู่ในช่วง 40 กลางๆ ไปถึง 50 ปีปลายๆ
- คนรุ่น Baby Boomers (ค.ศ.1946-1964) มีอายุอยู่ในช่วง 60 ปีขึ้นไป (อ้างอิง: beresfordresearch)
วัยทำงาน Gen Y เป็นนักการทูตในที่ทำงาน ปรับตัวเก่ง เข้าใจการทำงานทั้งโลกเก่าและโลกใหม่
สำหรับพนักงานรุ่น Gen Z พวกเขามีวิธีทำงานที่แตกต่างจากรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด มักจะมีคำถามกับวัฒนธรรมองค์กรและข้อห้ามบางอย่างในท่ีทำงานที่มีมายาวนาน รวมถึงการกล้าเปิดใจพูดคุยในหัวข้อสุขภาพจิตในการทำงาน ความโปร่งใสเรื่องเงินเดือน และการขาดสมดุลระหว่างงานกับชีวิต มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และใช้คำพูดหรือวิธีสื่อสารที่คนรุ่นอื่นอาจไม่เข้าใจ
โดยเฉพาะโลกการทำงานหลังการระบาดใหญ่ หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแทบทุกองค์กรก็คือ 'ปัญหาการสื่อสาร' ของพนักงานที่มีวัยแตกต่างกัน ผู้สังเกตการณ์ในสถานที่ทำงานเชื่อว่า ความคิดเห็นของคนสองรุ่นที่ต่างกันมาก (Boomers, Gen X และ Gen Z) จำเป็นต้องมีคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งคนที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดหนีไม่พ้น “คนรุ่นมิลเลนเนียล” ที่ต้องรับจบไปโดยปริยาย
เอวา ชาน (Eva Chan) ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านอาชีพการงานของ Resume Genius ในฐานะผู้สังเกตการณ์ อธิบายว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นนักการทูตที่ยอดเยี่ยมในที่ทำงาน พวกเขาคุ้นเคยกับการทำงานทั้งระบบเก่าและระบบใหม่ เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นมิลเลนเนียลปรับตัวได้เก่ง และเป็นตัวกลางที่คอยสร้างสมดุลระหว่างค่านิยมในการทำงานแบบดั้งเดิม กับค่านิยมและวิธีการทำงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
คนทุกรุ่นยอมรับในตัว Gen Y ในการเป็นตัวกลาง เพราะเป็นระดับหัวหน้างาน และเข้าอกเข้าใจทุกฝ่าย
คนรุ่นมิลเลนเนียล เป็นกลุ่มแรงงานที่เคยทำงานในองค์กรทั้งช่วงก่อนและหลังการระบาดใหญ่ และมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับคนรุ่น Gen Z แต่ขณะเดียวกันพวกเขายังเคยทำงานกับคนรุ่น Gen X และคนรุ่น Boomer มาด้วย จึงคุ้นเคยกับรูปแบบและปรัชญาการทำงานในยุค 10-20 ปีก่อน อีกทั้งพวกเขาส่วนใหญ่ก็ขึ้นเป็นระดับหัวหน้างานแล้ว จากการสำรวจของ EY บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กลยุทธ์ ภาษี และการจัดการองค์กร พบว่า พนักงานรุ่น Gen Z ประมาณ 40% มีผู้จัดการที่เป็นรุ่นมิลเลนเนียล
“ประชากร Gen Y คือกลุ่มวัยทำงานมีความพร้อมในการอธิบายงานหรือฝึกสอนน้องคนรุ่น Z ว่า คนวัยทำงานรุ่นบูมเมอร์และเจนเอ็กซ์คาดหวังอะไรจากพวกเขา และในทำนองเดียวกัน Gen Y ก็สามารถอธิบายให้ผู้บริหารและพนักงานที่มีอาวุโสกว่า เข้าใจในสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการและคาดหวังได้ด้วย” สเตฟานี โคลแมน (Stefanie Coleman) หุ้นส่วนที่ปรึกษาบุคลากรของ EY แสดงความเห็น
โคลแมนตระหนักว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลสามารถเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยของพนักงานหลายๆ รุ่น ในที่ทำงานได้ ในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่มีคุณวุฒิวัยวุฒิในระดับหนึ่งแล้ว เธอพบว่าพนักงานรุ่น Gen Z มักเข้ามาหาเธอเพื่อพูดคุยเรื่องการกำหนดขอบเขตงาน ขอบเขตเวลาส่วนตัว และการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของตำแหน่งงานนั้นๆ ได้ นอกจากนี้พวกเขายังเปิดใจพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตอีกด้วย
คนรุ่นก่อนๆ และคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติในการทำงานต่างกัน
จากการสำรวจของ BetterWorks พบว่าพนักงาน Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลประมาณ 40% กล่าวว่าพวกเขารู้สึกสบายใจมากในการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน และรู้สึกได้รับการสนับสนุน กำลังใจ เมื่อพวกเขาขอความช่วยเหลือ ขณะที่คนรุ่น Gen X และเบบี้บูมเมอร์เพียง 20% เท่านั้นที่รู้สึกสบายใจในการพูดคุยเรื่องดังกล่าว
“คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ทุ่มเท อยู่ทำงานจนดึก ในขณะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลชีวิตกับการทำงานและสุขภาพจิต เมื่อ Gen Y ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์กร พวกเขาสามารถผลักดันจริยธรรมแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิผลของงานมากกว่าระยะเวลาที่ทำ ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงได้โดยไม่ต้องเสียสละสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ” เอวา ชาน บอกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลและคนรุ่น Gen Z ก็มีทัศนคติเรื่องงานที่คล้ายๆ กัน กล่าวคือ พวกเขาต้องการงานที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม บริษัทที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนและมีตำแหน่งงานที่ส่งเสริมการเติบโตในอาชีพการงานก็จะดึงดูดพวกเขาไปร่วมงานด้วยได้ อีกทั้งพวกเขาไม่กลัวที่จะเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพื่อค้นหาโอกาสที่ดีกว่าและอาชีพที่เติมเต็มชีวิตมากขึ้น ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจากวัยทำงานคนรุ่นก่อนๆ
Gen Z เชื่อมสัมพันธ์กับรุ่น Gen X ไม่เป็น Gen Y จึงต้องเข้ามาเป็นตัวกลาง
จากประสบการณ์ของโคลแมน พนักงานรุ่น Gen Z แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจกับเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่า โดยบางครั้งพวกเขารู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างห่างเหินจากความสัมพันธ์กับเพื่อนรุ่นพี่ในที่ทำงาน และไม่รู้ว่าจะต้องสร้างความเชื่อมโยงกับพวกเขาให้มากขึ้นได้อย่างไร
ในประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หัวหน้างานรุ่น Gen Y สามารถช่วยเป็นกาวใจระหว่างวัยได้ โดยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างพนักงานรุ่นเยาว์กับพนักงานรุ่นอาวุโส (หรือผู้บริหารระดับสูง) ในองค์กร ให้สามารถเข้าใจกันและกันได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการมองเห็นตัวตนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน และมองเห็นโอกาสพัฒนาให้รุ่นน้องเติบโตในหน้าที่การงานได้
ท้ายที่สุดแล้ว คนรุ่นมิลเลนเนียลสามารถเป็นตัวกลางช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจนเนอเรชันได้ดีที่สุด เพราะมีความเข้าอกเข้าใจทั้งสไตล์การทำงานคนรุ่นก่อนและเข้าใจวิธีทำงานของคนรุ่นใหม่ และจะดีที่สุด ถ้าหากหาจุดร่วมของทุกเจนเนอเรชันให้เจอ และเน้นใช้จุดร่วมนั้นมาเชื่อมโยงกันในที่ทำงาน ก็จะยิ่งส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานทั้งองค์กรให้เติบโต