ทำไม Gen Z ถูกไล่ออกจากงาน? นักจิตวิทยาชี้ ไม่ใช่ความผิดของเด็กจบใหม่เสมอไป

ทำไม Gen Z ถูกไล่ออกจากงาน? นักจิตวิทยาชี้ ไม่ใช่ความผิดของเด็กจบใหม่เสมอไป

ทำไม Gen Z ถูกไล่ออกจากงาน? ทั้งที่ทำงานได้ไม่ถึงปี นักจิตวิทยาเผย เด็กไม่ได้ผิดเสมอไป แต่อคติของผู้ใหญ่อาจเป็นต้นเหตุ

KEY

POINTS

  • วัยทำงาน Gen Z เกิดความสงสัยในเส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิม การจะก้าวหน้าด้วยตัวเองในวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมดูเป็นเรื่องยาก เมื่อในที่สุดลูกจ้างก็ไม่ได้รับการตอบแทนที่ดีจากบริษัทเสมอไป
  • ทั้งวิกฤติการเงิน วิกฤติ COVID-19 ทำให้ชาว Gen Z ได้เห็นว่านายจ้างปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไร ทั้งถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน และขาดความมั่นคงในการทำงาน 
  • นักจิตวิทยา ชี้  Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจ แต่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพ ปัญหาในที่ทำงานหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาฝ่ายเดียว 

วัยทำงาน Gen Z เข้าสู่ตลาดแรงงานครั้งในชีวิตก็ดันเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะตลาดแรงงานที่ผันผวนสูง ประกอบกับก่อนหน้านี้มีรายงานผลสำรวจออกมาว่า นายจ้าง 60% ยอมรับว่าไล่พนักงาน Gen Z ออกจากงาน ทั้งที่บริษัทเพิ่งรับเข้ามาทำงานเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งแปลว่าพวกเขาทำงานได้เพียงไม่ถึงปี เรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลายคนถกกันถึงสาเหตุที่ทำให้ Gen Z ถูกไล่ออกซึ่งส่วนใหญ่มักจะโทษที่ตัวเด็ก

แต่ ดร.มาร์ก ทราเวอร์ส (Mark Travers) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ บุคลิกภาพ และความหมายของชีวิต มองว่า การโทษว่าเหตุการณ์นี้เกิดจาก ความขี้เกียจ เรียกร้องสิทธิมากเกินไป หรือการทำตัวไม่เป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงานนั้น อาจไม่จริงเสมอไป เพราะเป็นอคติของคนรุ่นก่อน แต่จริงๆ แล้ว ปัญหานี้มีความซับซ้อนมากกว่านั้นมาก 

ดร.มาร์กอธิบายว่า ทุกคนควรมองในภาพรวมและพิจารณาถึงสภาวะที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ไล่ออกจากงานอย่างรวดเร็ว และต่อไปนี้คือ 3 สาเหตุที่ดร.มาร์ก มองว่าเป็นสาเหตุให้คนรุ่น Gen Z ประสบปัญหาบางอย่างในที่ทำงานจนทำให้รักษางานไว้ไม่ได้

เด็ก Gen Z ขาดแรงจูงใจ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเขาทั้งหมด

คำวิจารณ์ที่พบบ่อยที่สุดข้อหนึ่งเกี่ยวกับ Gen Z คือ การขาดแรงจูงใจ ทุกคนตั้งแต่กลุ่ม Millennials ไปจนถึงกลุ่ม Gen X และ Boomers ต่างก็พูดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่พร้อมที่จะทำงานหนัก หากไม่ทำงานหนักก็จะไม่บรรลุเป้าหมายในชีวิต คนรุ่นก่อนคิดแบบนี้โดยไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงแตกต่างออกไป แต่ใช้อคติส่วนตัวตัดสินพวกเขา

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 จนถึงวิกฤตการณ์ล่าสุดที่เกิดจาก COVID-19 ทำให้ชาว Gen Z ได้เห็นด้วยตัวเองว่านายจ้างมักปฏิบัติต่อพนักงานที่จงรักภักดีอย่างไร มีทั้งถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน และขาดความมั่นคงในการทำงาน นี่เป็นภาพทั่วไปที่เด็กรุ่นใหม่เห็นจากชีวิตของพ่อแม่ของพวกเขา

จากมุมมองนี้ เราจะเห็นได้ว่าทำไมวัยทำงานรุ่นใหม่จึงเกิดความสงสัยในเส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิม การจะก้าวหน้าด้วยตัวเองในวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม อาจเป็นเรื่องยาก เมื่อในที่สุดแล้วพบว่าคุณไม่ได้รับการตอบแทนที่ดีเสมอไป พวกเขาได้เห็นถึงความไม่มั่นคงของตลาดงานในยุคนี้ เห็นบริษัทที่แสวงหาผลประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่สนใจปัญหาโลก

สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่การขาดแรงจูงใจ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการเอาตัวรอด เป็นความไม่เต็มใจที่จะทุ่มเทตัวเองให้กับระบบที่ไม่ได้ให้ความมั่นคงตอบแทน

Gen Z พูดจาภาษาที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ เกิดปัญหาด้านการสื่อสาร

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ Gen Z เจอเรื่องท้าทายในที่ทำงาน นั่นคือ “การสื่อสาร” คนรุ่นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจนเนดเรชันที่เก่งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ขาดทักษะในการเข้ากับผู้อื่น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานแบบดั้งเดิม เนื่องจากคนรุ่นนี้เติบโตมากับโซเชียลมีเดียและการสื่อสารผ่านข้อความ ทำให้พนักงานอายุน้อยหลายคนประสบปัญหาในการสนทนาแบบพบหน้ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนทนาในสถานที่ทำงาน

บทความจาก Harvard Law School ที่เผยแพร่เมื่อปี 2022 อธิบายว่า พนักงานรุ่น Gen Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ คนรุ่นนี้เริ่มอาชีพการงานในยุคที่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์เน้นส่งข้อความสั้นๆ เพื่อสื่อสารกันเป็นเรื่องปกติ แทนที่จะประชุมทีมแบบเจอหน้ากัน ในช่วงโควิดระบาดวัยทำงานต้องใช้วิธีอื่น เช่น FaceTime หรือประชุมออนไลน์แทน ทำให้พวกเขาคุ้นชินกับวิธีสื่อสารแบบนี้ และขาดทักษะในการสื่อสารเชิงลึกในการทำงาน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสถานที่ทำงานคาดหวังให้คนรุ่น Gen Z ปฏิบัติตามวิถีแบบดั้งเดิมขององค์กร โดยไม่เสนอจุดยืนตรงกลางร่วมกัน จึงเกิดเป็นช่องว่างในการสื่อสาร นำไปสู่ความเข้าใจผิด ข้อผิดพลาด หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนว่าคนงานเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในทีม แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเพียงแค่ใช้ช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างออกไป

Gen Z ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า “ชีวิตคืองาน งานคือชีวิต” แต่มองว่าชีวิตมีอย่างอื่นให้เรียนรู้อีกมาก

เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้คนรุ่น Gen Z ต้องต้องออกจากงานอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เริ่มทำงานได้ไม่นานนัก อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ยอมรับวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ซึ่งเน้นที่การทำงานเป็นเวลานาน กลับดึก ต้องพร้อมสแตนบายเรื่องงานตลอดเวลา ทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ และความสำเร็จผูกโยงกับการทำงานหนักและการเสียสละ ..นี่คือแนวคิดการทำงานของคนรุ่นเจนเอ็กซ์และบูมเมอร์

ขณะที่วัฒนธรรมการทำงานเร่งรีบของคนรุ่นมิลเลนเนียล ทำให้ความคิดเรื่องการทำงานกลางคืน ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อให้ตนเองก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น แต่คนรุ่น Gen Z กลับไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ พวกเขาต้องการมากกว่าแค่เงินเดือน พวกเขาต้องการความสมดุล ความหมาย และความรู้สึกสมหวังในชีวิตที่ไม่ผูกติดกับการทำงานเพียงอย่างเดียว

รายงานของ Deloitte ที่เผยแพร่ในปี 2023 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามรุ่น Gen Z มากถึง 50% ให้ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน เป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดเมื่อพิจารณาเลือกงาน พวกเขามักจะไม่ยอมทนต่อสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เป็นพิษ และมักจะลาออกจากตำแหน่งที่ไม่ตรงตามความคาดหวังได้เร็วกว่าคนรุ่นอื่น

จากเหตุผลทั้งสามข้อข้างต้น ดร.มาร์กย้ำว่า Gen Z ไม่ได้ขี้เกียจเสมอไป แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ส่วนตัวและสุขภาพจิตมากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้อาจสร้างความตกใจให้กับเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่และบริษัทที่คาดหวังให้พนักงานทุ่มเทอย่างเต็มที่ แต่คนรุ่น Gen Z เต็มใจที่จะอยู่ทำงานจนดึกหรือถูกเรียกใช้เรื่องงานหลังเลิกงานน้อยลง

สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าปัญหาในที่ทำงานหลายๆ อย่างที่คนรุ่น Gen Z เผชิญนั้น ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเพียงฝ่ายเดียว พวกเขาเติบโตมาในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคำมั่นสัญญาแบบเดิมๆ เกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้นอาจไม่เป็นจริง พวกเขาได้เรียนรู้ว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าการทำงานให้กับบริษัท (ที่ไม่ได้ให้รางวัลตอบแทนเสมอไป) พวกเขาไม่ขอทนระบบการทำงานที่ล้าสมัยและไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่เท่านั้นเอง