Gen Z กลัวถูกเลิกจ้างมากที่สุด เหตุหนี้กู้เรียนรัดตัว ของแพง ไม่พร้อมตกงาน

Gen Z กลัวถูกเลิกจ้างมากที่สุด เหตุหนี้กู้เรียนรัดตัว ของแพง ไม่พร้อมตกงาน

Gen Z กลัวถูกเลิกจ้างมากที่สุดภายในสิ้นปีนี้ เหตุภาระหนี้สินรัดตัว (กู้ยืมการศึกษา) ไม่พร้อมตกงาน ขณะที่หลายบริษัทยอม ‘ปลดคนออก’ มากกว่า ‘งดโบนัส’ ทั้งระบบ

KEY

POINTS

  • 37% ของพนักงาน Gen Z หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี กังวลว่าจะถูกเลิกจ้างภายในปีนี้ และยังไม่พร้อมจะตกงานเพราะมีภาระหนี้กู้ยืมรัดตัว
  • หนี้สินส่วนบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตลดลง และอาจทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงโอกาสที่จะมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต 
  • แรงงานกลุ่ม Gen Z กำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายในตลาดงาน โตมาในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง ชีวิตการงานไม่มีอะไรแน่นอน การจะได้อยู่ต่อหรือโดนเลย์ออฟออกจากบริษัทเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน

ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อวัยทำงานชาว Gen Z ตามไปด้วย พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่กังวลว่าจะตกงานหรือสูญเสียงานมากที่สุด ตามรายงานใหม่ของสมาคมจัดหางานอเมริกัน (American Staffing Association)

ไม่นานมานี้ ทีมวิจัยจากหน่วยงานดังกล่าวได้สำรวจพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 2,000 คน พบว่า ในภาพรวม 28% ของวัยทำงานชาวอเมริกัน ยอมรับว่ากังวลว่าจะถูกเลิกจ้างภายในสิ้นปี 2024 นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกดูในระดับช่วงวัยของพนักงานเจนเนอเรชันต่างๆ พบว่าตัวเลขดังกล่าวสูงกว่ามากในกลุ่มพนักงาน Gen Z โดย 37% ของพนักงานที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี กังวลว่าจะถูกเลิกจ้างภายในปีนี้

ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y และ Gen X มีอัตราความวิตกกังวลใกล้เคียงกันที่ 35% ส่วนพนักงานรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีเพียง 11% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงาน อีกทั้งรายงานช้นดังกล่าวยังพบด้วยว่า 40% ของพนักงานโดยรวมทุกช่วงวัย บอกว่าหนี้สินในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพของพวกเขา

หนี้สินส่วนบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต

ริชาร์ด วาห์ลควิสต์ (Richard Wahlquist) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ American Staffing Association กล่าวในแถลงการณ์ว่า หนี้สินมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชีวิตและเส้นทางอาชีพของคนงานในอเมริกา ระดับหนี้สินส่วนบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นำไปสู่คะแนนเครดิตที่เสียหาย คุณภาพชีวิตที่ลดลง และอาจทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต สำหรับทั้งตัวแรงงานเองและครอบครัวของพวกเขาด้วย

ด้าน เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 9i Capital Group ให้ความเห็นผ่าน นิตยสาร Newsweek ว่า วัยทำงาน Gen Z เป็นประชากรที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แล้วดันต้องมาเผชิญกับยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว โรคระบาด และตลาดแรงงานที่ไม่มีเสถียรภาพในช่วงเริ่มต้นวัยทำงานพอดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับคนรุ่นใหม่

ทอมป์สัน อธิบายฉากทัศน์โลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปอีกครั้ง ว่า วัยทำงาน Gen Z เป็นแรงงานรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับความยืดหยุ่นในการทำงาน การทำงานจากระยะไกล และต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากนายจ้างจำนวนมากทั่วสหรัฐได้นำมาตรฐานการทำงานใหม่มาใช้ (ออกคำสั่ง RTO) ทำให้พนักงานต้องกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ยากลำบาก พนักงานบางคนอาจถูกไล่ออก หากพวกเขาไม่ยอมกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 

ขณะที่ก่อนหน้านี้บริษัทบางแห่งจ้างพนักงานมากเกินไปในช่วงที่มีการระบาด และการเลิกจ้างระลอกใหม่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากนายจ้างกำลังดำเนินการเรื่องปรับโครงสร้างองค์กร

อาจไม่ใช่ Gen Z ทุกคนที่กลัวตกงาน เพราะมีจำนวนไม่น้อยเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ

อย่างไรก็ตาม ทอมป์สัน กล่าวว่า ความกลัวตกงานของคนรุ่น Z ตามรายงานข้างต้น อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของพวกเขาทั้งหมด เพราะหากมองในอีกแง่หนึ่งก็พบว่ายุคนี้มีบริษัทและสตาร์ทอัพใหม่ๆ จำนวนมากถูกสร้างขึ้นโดยคนรุ่น Gen Z เช่นกัน ดังนั้นไม่อาจเหมารวมได้ว่าคนรุ่นใหม่ทั้งหมดกลัวโดนเลิกจ้าง บางส่วนอาจไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำด้วยซ้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยทำงานรุ่น Gen Z ต้องการกำหนดความหมายของ “ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน” แบบใหม่ พวกเขากังวลกับวัฒนธรรมการทำงานที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยประสบมา กล่าวคือ คนรุ่นก่อนๆ มักจะทำงานมาหลายปีโดยไม่ได้รับความเคารพอย่างที่ควรจะได้รับ พวกเขาทำงานหาเงินเพียงเพื่อใช้ชีวิตในระดับพื้นฐานเท่านั้น

แต่พนักงานรุ่นใหม่ต้องการงานที่มีความหมายและสร้างความแตกต่าง พวกเขามองหางานที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและค่านิยมของพวกเขา ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายในตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนสูง

Gen Z เติบโตมาในยุคที่ตลาดงานไม่มีเสถียรภาพ สวัสดิการน้อย เส้นทางการเติบโตไม่ชัดเจน

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) อย่าง ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) มองประเด็นนี้ว่า แรงงานกลุ่ม Gen Z กำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายในตลาดงาน เนื่องจากพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานระหว่างหรือหลังการระบาดใหญ่ พวกเขาอยู่ในยุคอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และเป็นรุ่นที่ชีวิตการงานไม่มีอะไรแน่นอน การจะได้อยู่ต่อหรือโดนเลย์ออฟออกจากบริษัทเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน

“สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีความกังวลอย่างแน่นอน ไม่เหมือนกับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่ได้รับประโยชน์จากตลาดงานที่มีเสถียรภาพอย่างมาก และมีการคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวดตลอดอาชีพการงานของพวกเขา แต่กับหนุ่มสาว Gen Z พวกเขาอยู่ในยุคที่ตลาดงานมีเสถียรภาพน้อยกว่า ได้สวัสดิการน้อยกว่า และมักไม่มีเส้นทางที่ชัดเจนในการเติบโตก้าวหน้า” ดริสโคลล์ เล่าให้เห็นภาพชัดเจน

ผู้เชี่ยวชาญบอกอีกว่า คนรุ่น Gen Z ต้องเผชิญกับระบบงานที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าบุคลากร อยู่ในยุคที่เห็นว่าการเลิกจ้างและการปรับโครงสร้างองค์กรเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งอยู่ในยุคที่เห็นว่าผู้นำองค์กรหลายแห่งยอมเลิกจ้างพนักงานมากกว่าจะสละโบนัส

พวกเขาถูกคาดหวังว่าจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ (เพราะนายจ้างมองว่าทำผ่านออนไลน์ได้ทุกที่อยู่แล้ว) ในขณะเดียวกันก็ถูกสั่งสอนบอกต่อๆ กันมาว่าพวกเขาโชคดีมากแล้วที่ยังมีงานทำอยู่ ประกอบกับภาระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันพวกเขาอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาจึงรู้สึกว่าตนเองกำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายที่ไม่มั่นคง จากการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับภาระหนี้สินของ Experian พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว Gen Z ในสหรัฐมีหนี้สินทางการอยู่ประมาณ 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ