คนรุ่นใหม่บ่นงาน-นายจ้าง บนโซเชียลมีเดียมากที่สุด ไม่ขอเงียบเฉยอีกต่อไป

คนรุ่นใหม่บ่นงาน-นายจ้าง บนโซเชียลมีเดียมากที่สุด ไม่ขอเงียบเฉยอีกต่อไป

คนรุ่นใหม่เกือบ 50% บ่นเรื่องงาน-นายจ้าง บนโลกออนไลน์มากที่สุด ไม่ขออยู่เงียบๆ เมื่อเจอความไม่ยุติธรรมในที่ทำงาน

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจใหม่จาก Owl Labs เผย พนักงาน Gen Z ชอบบ่นเรื่องงานหรือนายจ้างบนสื่อโซเชียลออนไลน์มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ 
  • ลักษณะการบ่นเรื่องงานบนสื่อโซเชียลของพวกเขา ได้แก่ การโพสต์ข้อความเล่าปัญหาในออฟฟิศ การแสดงความคิดเห็น หรือเผยบันทึกบทสนทนากับนายจ้าง บน IG, X , TikTok และ Glassdoor
  • ผู้เชี่ยวชาญเผย เหตุที่คนรุ่นใหม่กล้าเปิดเผยปัญหาต่างๆ ในสถานที่ทำงาน เพราะพวกเขาไม่ยอมทนกับความไม่ยุติธรรมที่กำลังเผชิญอยู่

หากเจอความไม่ยุติธรรมในที่ทำงาน ก็คงไม่มีใครอยากทนรับสภาพนั้นไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานรุ่นไหนก็ตาม แต่หลายคนเลือกที่จะเงียบมากกว่ามานั่งบ่น หรือต่อความยาวสาวความยืด เพราะมองว่ามันบั่นทอนกำลังใจในการทำงานไปเปล่าๆ แต่ในมุมของวัยทำงานรุ่น Gen Z พวกเขาเลือกที่จะไม่เงียบ แต่อยากถ่ายทอดให้ทั้งโลกรู้ว่าชีวิตการทำงานของพวกเขาต้องเผชิญกับความไม่ยุติธรรมอะไรบ้าง

ไม่นานมานี้มีผลสำรวจใหม่จาก Owl Labs รายงานว่า พนักงานรุ่น Gen Z เกือบครึ่งหนึ่งยอมรับว่าเคยบ่นเรื่องการทำงาน หรือนายจ้าง(บริษัท)ของตนบนสื่อโซเชียลออนไลน์ โดยพนักงานกลุ่มนี้ชอบวิจารณ์บริษัทของตนทางออนไลน์สูงกว่าพนักงานรุ่นอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า พนักงานทุกรุ่นในสหรัฐฯ 34% มีการโพสต์ข้อความเชิงลบเกี่ยวกับงานของตนบนโซเชียลมีเดีย ขณะที่พนักงาน Gen Z มีสัดส่วนสูงถึง 48% ที่รายงานว่าพวกเขาวิจารณ์นายจ้างของตนเองบนโลกออนไลน์ ซึ่งลักษณะการบ่นเรื่องงานบนสื่อโซเชียลของพวกเขา ได้แก่ การโพสต์ข้อความเล่าปัญหาในออฟฟิศ การแสดงความคิดเห็น หรือเผยบันทึกบทสนทนากับนายจ้าง บนแพลตฟอร์ม Instagram , X , TikTok และ Glassdoor (แบบไม่เปิดเผยตัวตนหรือใช้แอคหลุม)

วัยทำงานรุ่นใหม่กล้าเปิดเผยปัญหาที่ทำงานมากกว่ารุ่นก่อนๆ

ไบรอัน ดริสคอลล์ (Bryan Driscoll) ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคล เปิดเผยผ่านนิตยสาร Newsweek ว่า ปรากฏการณ์หนึ่งที่มักพบเห็นได้มากขึ้นในโลกการทำงานปัจจุบันคือ วัยทำงานคนรุ่นใหม่ต่างกล้าที่จะเปิดเผยปัญหาในสถานที่ทำงานผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ พวกเขาไม่ยอมทนกับความไม่ยุติธรรมในที่ทำงานเหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ 

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนี้ของคนรุ่นใหม่ อาจมองว่าพนักงานหนุ่มสาวเหล่านี้แค่สร้างเรื่องก่อกวน ชอบบ่นไปกับทุกเรื่องในชีวิต เพราะพวกเขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ใช่หรือไม่? ซึ่ง ดริสคอลล์ บอกว่านั่นอาจจะถูกแค่บางส่วน แต่โดยทั่วไปแล้ว การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่รู้จักคุณค่าในตนเองหรือเห็นแก่ตัว แต่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง

หนึ่งในหัวข้อที่พนักงาน Gen Z ต่างร้องเรียนหรือวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดก็คือ “การถูกสั่งให้กลับเข้าทำงานในออฟฟิศ” เนื่องจากช่วงปีนี้มีบริษัทหลายแห่งต่างก็ออกมาประกาศคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศมากขึ้น และยกเลิกการทำงานจากที่บ้านหรือการทำงานแบบผสมผสานที่เคยใช้กันในช่วงก่อนหน้านี้อยู่หลายปี ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานหลายๆ คนไม่พอใจ

ในรายงานฉบับข้างต้นระบุด้วยว่า พนักงานส่วนใหญ่มากถึง 62% บอกว่าในปี 2024 พวกเขาต้องเข้ามาทำงานในสำนักงานทุกวัน เมื่อเทียบกับพนักงาน 27% ที่ยังสามารถทำงานแบบผสมผสานหรือไฮบริดได้ ในขณะที่มีเพียง 11% เท่านั้น ที่ทำงานจากระยะไกลได้ทุกวัน

ดริสคอลล์อธิบายว่า เนื่องจากคนรุ่น Gen Z เติบโตมาในยุคของโซเชียลมีเดีย การโพสต์ความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับนายจ้างผ่านโลกออนไลน์นั้น อาจไม่ได้บ่งชี้ว่าพวกเขาขี้บ่นเสมอไป แต่มันอาจเผยให้เห็นความจริง เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ล้าสมัยและความไม่เท่าเทียมกันที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรนั้นๆ

“คนรุ่นนี้ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องยอมอ่อนข้อเพียงเพราะว่ามันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาโดยตลอด พวกเขามองเห็นคุณค่าของตัวเอง และหากนายจ้างไม่เห็นด้วย พวกเขาก็จะไม่อดทนกับมันอย่างเงียบๆ”

นายจ้างควรค้นหาและเร่งแก้ไขปัญหา แทนที่จะปิดปากไม่ให้พนักงานพูดถึงปัญหานั้น

สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ลังเลว่าไม่อยากจ้างงานคนรุ่น Gen Z โดยอ้างอิงจากสถิติเหล่านี้ ดริสคอลล์เน้นย้ำว่านายจ้างควรคำนึงถึงสาเหตุที่พนักงานระบายความคับข้องใจออกมาผ่านโลกโซเชียล มากกว่าที่จะพยายามปิดปากพวกเขา หากนายจ้างต้องการความภักดีจากพนักงาน ตัวองค์กรเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าดูแลพนักงานดีจริง ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว 

ปรากฏการณ์เหล่านี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจนายจ้างว่า เหล่าพนักงานคนรุ่นใหม่ไม่สามารถใช้ชีวิตทำงานในวัฒนธรรมเป็นพิษแบบเดิมๆ แล้วคาดหวังให้คนรุ่น Gen Z นิ่งเฉยต่อไปได้ นายจ้างที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคใหม่ ในอนาคตจะพบปัญหาด้านการรักษาพนักงาน เกิดความเสื่อมเสียมาถึงชื่อเสียงขององค์กร

อเล็กซ์ บีน (Alex Beene) อาจารย์สอนความรู้ทางการเงินจากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี วิทยาเขตมาร์ติน มองว่า Gen Z ไม่ใช่พนักงานเพียงกลุ่มเดียวที่แสดงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับนายจ้างของตนทางออนไลน์ แต่พนักงานรุ่นอื่นๆ ระมาณ 1 ใน 3 ก็ยอมรับว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวเช่นกัน และพวกเขารายงานว่า การวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

“นี่เป็นผลจากการที่พื้นที่ออนไลน์เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับยุคก่อน คนวัยทำงานมักจะไม่บ่นเรื่องงานบนสื่อออนไลน์มากนัก เพราะมองว่าไม่เป็นมืออาชีพ ขณะที่ตอนนี้แทบทุกคนต่างก็ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นได้เหมือนๆ กับการสนทนากับเพื่อนหลังเลิกงาน” 

อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ บีน เตือนว่าแม้หลายคนมองว่าการบ่นเรื่องงานบนโลกออนไลน์ทำได้อย่างอิสระ แต่อย่าลืมว่าไม่มีใครชอบโดนด่าผ่านโลกพื้นที่ออนไลน์ที่แพร่กระจายข่าวออกไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ “นายจ้าง” พวกเขาย่อมไม่ต้องการจะเห็นธุรกิจของตนถูกโจมตีทางออนไลน์โดยพนักงานในบริษัทเอง ดังนั้นหากเลือกที่จะทำสิ่งนี้ก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาให้ได้เช่นกัน คงไม่มีบริษัทไหนที่จะปล่อยผ่านหากพบคนที่สร้างความเสื่อมเสียให้บริษัท ซึ่งมันมีราคาที่ต้องจ่ายตามมาเสมอ