Boomers ชอบใช้อีโมจิ 'ยกนิ้วโป้ง' คุยงานมากถึง 52% ข้ามช่องว่างระหว่างวัย
อีโมจิ 'ยกนิ้วโป้ง' หรือ Thumbs up ก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัย เมื่อคนรุ่น Boomers นิยมใช้ในที่ทำงานมากถึง 52% สื่อถึงการยอมรับ ความมีประสิทธิภาพ และความอบอุ่นเล็กน้อย
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมัยนี้ใครๆ ก็ใช้อีโมจิ (emoji) สื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ใช้พูดคุยงานกันในที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นวัยทำงานคนรุ่นใหม่ที่ชอบใช้กัน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าคนรุ่น Baby Boomer ก็นิยมใช้อีโมจิคุยในที่ทำงานไม่ต่างจาก Gen Z เลย
การศึกษาชิ้นใหม่จาก Mailsuite บริษัทให้บริการเครื่องมือติดตามอีเมลที่ใช้ภายใน Gmail และ Outlook ใน Google Workspace ได้ทำการสำรวจพนักงานออฟฟิศกว่า 2,000 คนจากทุกเจเนอเรชันเกี่ยวกับการใช้อีโมจิในที่ทำงาน และพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แม้ว่าคนแต่ละเจเนอเรชันจะมีความชอบในการสื่อสารด้วยอีโมจิที่แตกต่างกัน แต่สำหรับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป พวกเขานิยมใช้อีโมจิ “ยกนิ้วโป้ง” (👍) หรือ Thumbs up สำหรับการสื่อสารในที่ทำงานมากที่สุด
Boomers กว่า 52% นิยมใช้อีโมจิ Thumbs up ใกล้เคียงกับ Gen Z
โดยวัยทำงานรุ่นบูมเมอร์กว่า 52% ระบุว่า พวกเขาใช้อีโมจิประเภทนี้บ่อยกว่าอีโมจิรูปอื่นๆ โดยใช้สื่อแทนภาษาท่าทางสากลเพื่อแสดงถึงการยอมรับ สื่อถึงงานดีมีประสิทธิภาพ และบางทีก็อาจแสดงความอบอุ่นเล็กน้อย ขณะที่เพื่อนร่วมงานที่อายุน้อยกว่ามักจะใช้อีโมจิหลากหลายกว่า
นอกจากนี้ผลการสำรวจดังกล่าวยังพบอีกว่า สำหรับกลุ่ม Gen Z พวกเขามักใช้อีโมจิเป็นส่วนขยายของการพูดคุยสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยนิยมใช้รูป “ยกนิ้วโป้ง” (👍) มากถึง 63% และยังใช้รูปอื่นๆ ที่หลากหลายและใช้บ่อยแทบทุกการสนทนา แต่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ดูเหมือนจะใช้อีโมจิน้อยกว่า โดยจะเลือกใช้เฉพาะอีโมจิที่คุ้นเคยและเข้าใจกันโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การใช้สัญลักษณ์อีโมจิ “ยกนิ้วโป้ง” ในอีเมลที่เกี่ยวกับงานของทั้งกลุ่มบูมเมอร์ และกลุ่ม Gen Z ก็ใกล้เคียงกัน เหมือนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัยไปแล้ว
อีโมจิร้องไห้ด้วยความสุข และหัวเราะน้ำตาไหล คนรุ่นบูมเมอร์ก็ใช้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิจัยยังได้สำรวจการใช้งานอีโมจิรูปอื่นๆ ด้วย โดยพบว่าอีโมจิที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์นิยมใช้รองลงมา ได้แก่ อีโมจิแบบขี้เล่นอย่าง “หน้าร้องไห้ด้วยความสุขหรือร่าเริง” (😂) รวมไปถึงอีโมจิรูป “หัวเราะตัวเอียงแบบมีน้ำตาไหล” (🤣) แต่ก็มีการใช้น้อยกว่าคนทำงานรุ่นใหม่อย่างเห็นได้ชัด
โดยมีคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เพียง 12.5% เท่านั้นที่ใช้อีโมจิแบบ “หน้าร้องไห้ด้วยความสุข” เมื่อเทียบกับคนรุ่นเจเนอเรชัน X ที่ใช้อีโมจินี้มีสัดส่วน 22% และมีคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) ที่ใช้อีโมจินี้มีอยู่ที่ 20% แต่สำหรับอีโมจิหัวใจ (❤️) นั้น แทบจะไม่พบในกล่องจดหมายของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เลย โดยมีเพียง 9%เท่านั้นที่เลือกใช้อีโมจิหัวใจ
เมื่อถามถึงเหตุผลของการใช้อีโมจิในการคุยงานในที่ทำงานของแต่ละเจเนอเรชันก็พบว่า ทุกรุ่นให้คำตอบค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โดยพนักงานทุกช่วงวัยส่วนใหญ่ 56% ระบุว่าใช้อีโมจิที่หลากหลายแบบเพื่อแสดงความเป็นมิตร แต่ยังมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งหรือประมาณ 1 ใน 4 ที่รายงานว่า อีโมจิอาจทำให้การส่งอีเมลแบบมืออาชีพดูไม่เป็นมืออาชีพ ความกังวลเรื่องนี้จึงอาจเป็นสาเหตุที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์นิยมใช้อีโมจิ “ยกนิ้วโป้ง” มากกว่าแบบอื่นๆ
ชาว Gen Z กล้าใช้อีโมจิคุยกับผู้บริหารระดับสูง มองเป็นการสื่อสารปกติทั่วไป
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนรุ่น Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลมักจะมองว่า อีโมจิถือเป็นส่วนขยายของรูปแบบการสื่อสารในชีวิตประจำวันมากกว่าเป็นการสื่อสารที่แปลกประหลาด โดย Gen Z (52%) และ Gen Y (36%) มองว่าสามารถใช้อีโมจิกับเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ และแม้แต่ลูกค้าได้อย่างอิสระ
แต่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ยังคงมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากกว่า โดยมีเพียง 13% ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ระบุว่าจะใช้อีโมจิในการสื่อสารกับลูกค้าใหม่ (แปลว่าส่วนใหญ่กว่า 80% ยังคิดว่าอีโมจิไม่เหมาะสมที่จะใช้คุยกับลูกค้า)
ไม่เพียงเท่านั้น คนรุ่นใหม่ชาว Gen Z (53%) ยังมีแนวโน้มที่จะใช้อีโมจิในการสนทนากับผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการในที่ทำงานมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยเมื่อเทียบกับรุ่นเบบี้บูมเมอร์ พบว่ามีเพียง 25% ของคนรุ่นนี้เท่านั้นที่จะกล้าใช้อีโมจิในการสนทนากับผู้บริหารระดับสูง