ปากไม่ตรงกับใจ เมื่อผู้คนใช้ “อีโมจิ” ซ่อนอารมณ์ที่แท้จริง

ข้างนอกเห็นใจ ข้างในสมน้ำหน้า ผู้คนใช้ ‘อีโมจิ’ ไม่ตรงกับอารมณ์

งานวิจัยเผย ผู้คนใช้ “อีโมจิ” ไม่สอดคล้องกับอารมณ์ที่แท้จริง เป็นผลมาจาก “กฎการแสดงอารมณ์” Display Rules) ที่มนุษย์ต้อง “แสดง” อารมณ์อื่นออกมาทดแทนอารมณ์ด้านลบ เพื่อให้สังคมเกิดความผาสุก

Key Points:

  • มนุษย์ไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงได้เมื่ออยู่ในสังคม เนื่องจาก “กฎการแสดงอารมณ์” ที่เป็นกลไกบังคับให้มนุษย์ต้อง “แสดง” ความรู้สึกอื่น เพื่อความผาสุกในสังคม
  • แม้มนุษย์จะใช้โซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงอารมณ์ที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ และใช้ “อีโมจิ” ซ่อนอารมณ์ที่แท้จริง
  • แต่ผู้คนจะส่งอีโมจิที่ตรงกับอารมณ์ของตนเอง โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ เมื่อสื่อสารกับคนใกล้ชิด

 

หลายคนน่าจะต้องเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถแสดงสีหน้าและอารมณ์ออกมาได้ตามที่ใจคิด ทั้งที่เศร้าอยู่แต่ต้องฝืนยิ้ม ทั้งที่หัวเสียอยู่แต่ก็ต้องปั้นหน้านิ่ง อยากจะร้องไห้แต่ทำไม่ได้ ต้องกลั้นน้ำตาไว้ เพื่อไม่ให้คนอื่น ๆ เห็นถึงความผิดปรกติจนทำให้บรรยากาศในวงสนทนาเปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตาม “กฎการแสดงอารมณ์” (Display Rules) บังคับไม่ให้มนุษย์สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ จำเป็นต้อง “แสดง” อารมณ์อื่นออกมา เพื่อให้สังคมเกิดความผาสุก

ในปัจจุบันที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น จนมีการคิดค้น “อีโมจิ” รูปสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แสดงอารมณ์ของผู้ใช้ในบริบทต่าง ๆ ของชีวิต ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดคำถามว่า เวลาที่เราใช้รูปอีโมจินั้น เรากำลังรู้สึกเช่นนั้นอยู่จริง ๆ หรือเพียงแค่เป็นการรักษาน้ำใจของอีกฝ่าย ตามกฎการแสดงอารมณ์ที่ใช้อยู่ในโลกแห่งความจริง?

โมยู หลิว จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เจ้าของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology กล่าวว่า “ผู้คนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย และเราต่างคุ้นชินกับการปรุงแต่งการแสดงออก โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของรูปแบบการสื่อสาร ซึ่งอาจจะทำให้พวกเราไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง หากพึ่งพากฎการแสดงอารมณ์มากเกินไป” 

  • “กฎการแสดงอารมณ์” กลไกแสดงอารมณ์ตามสถานการณ์

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพื่อให้เข้าอยู่ร่วมกับสังคมได้โดยไม่เกิดความวุ่นวายในสังคม ทำให้คนเราไม่สามารถแสดงความรู้สึกผ่านทางสีหน้าอย่างแท้จริงได้อย่างอัตโนมัติ แต่มีกลไกปรับเปลี่ยนการแสดงออกทางสีหน้าที่เรียกว่า “กฎการแสดงอารมณ์” (Display Rules) เพื่อช่วยให้แสดงออกได้ตามแต่ละสถานการณ์ในชีวิต ซึ่งมีด้วยกัน 7 ลักษณะ

1. แสดงออกตามกับความรู้สึก 

2. แสดงอารมณ์ให้เบากว่าความรู้สึกที่แท้จริง 

3. ทำหน้าตาย ไม่แสดงออกใด ๆ  

4. แสดงอารมณ์อื่นแทน 

5. ซ่อนอารมณ์ที่แท้จริง แสดงออกเป็นอารมณ์อื่นไปเลย หรือ “ใส่หน้ากาก”

6. แสดงอารมณ์ให้มากเกินกว่าความรู้สึกที่แท้จริง

7. ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่แสดงอารมณ์อื่นออกมาแทน

โดยส่วนมากแล้วอารมณ์ที่จะต้องใช้กฎการแสดงอารมณ์นั้นจะเป็น อารมณ์ในด้านลบ ที่แสดงออกไปแล้วอาจจะทำให้ถูกมองไม่ดีจากคนในสังคม ซึ่งการแสดงอารมณ์ที่แท้จริงกับคนใกล้ตัว หรือ คนสนิท จะเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า รวมถึงในสังคมแบบปัจเจกนิยมจะสามารถยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงในเชิงลบได้ดีเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้มีผลการวิจัยระบุว่า ผู้คนใช้อีโมจิทำหน้าที่แทนการแสดงออกทางสีหน้า แต่อีโมจิกลับไม่มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ที่กำลังแสดงออกและประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย หากเราฝืนแสดงอารมณ์ที่ต่างจากความรู้สึกที่แท้จริงมากจนเกินไป จะทำให้เกิดภาวะ “Emotional Exhaustion” เป็นอาการเหนื่อยล้า ทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย

  • อีโมจิซ่อนความรู้สึก

งานวิจัยของหลิวจึงเป็นการตรวจสอบว่าอีโมจิถูกใช้เพื่อแสดงหรือปกปิดอารมณ์อย่างไร ผ่านกลุ่มตัวอย่างงานวิจัยทั้งสิ้น 1,289 คน 

ซึ่งเป็นผู้ใช้คีย์บอร์ดอีโมจิ Simeji แอปพลิเคชันคีบอร์ดที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความถี่ในการใช้อีโมจิและระดับความรุนแรงของการแสดงอารมณ์ เนื่องจากพวกเขาได้รับข้อความในบริบททางสังคมที่หลากหลาย

ผลการงานวิจัย พบว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกแสดงอารมณ์ที่แท้จริงผ่านอีโมจิในเรื่องส่วนตัว กับเพื่อนสนิท และบุคคลใกล้ชิด ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มักจะปกปิดอารมณ์ที่แท้จริงกับบุคคลที่มีสถานะอยู่สูงกว่า 

ปรกติแล้ว ผู้คนมักจะส่งอีโมจิที่ตรงกับอารมณ์ของตนเอง แม้ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธก็ตาม เว้นแต่ว่าอยู่ในสถานะที่ผู้คนรู้สึกว่าจำเป็นต้องปกปิดอารมณ์ที่แท้จริงของตน เช่น ใช้อีโมจิยิ้มเพื่อปกปิดอารมณ์ด้านลบ แต่โดยส่วนมากแล้วอีโมจิเชิงลบ เช่น หน้าโกรธ หน้าเศร้า ถูกใช้เฉพาะเมื่อรู้สึกเชิงลบอย่างรุนแรงเท่านั้น

ดังนั้น การแสดงอารมณ์ด้วยอีโมจิจึงมีความสัมพันธ์กับความอยู่ดีมีสุขเชิงอัตวิสัย (Subjective Well-being) เมื่อเทียบกับการปกปิดอารมณ์

“สังคมออนไลน์กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องพิจารณาว่าทำให้เราไม่สามารถรับรู้อารมณ์ที่แท้จริงของตนเองหรือไม่ ในตอนนี้ผู้คนต่างต้องการพื้นที่สำหรับแสดงอารมณ์ของพวกเขาออกมา และต่างคิดว่าพวกเขาจะสามารถหลุดพ้นจากการใส่หน้ากากในโลกออนไลน์ หรือแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาได้บ้าง” หลิวกล่าวถึงผลสรุปงานวิจัย

อย่างไรก็ตาม หลิวเสนอว่าการศึกษาในอนาคตควรจะขยายขอบเขตการศึกษาให้มากกว่าผู้ใช้แป้นพิมพ์ Simeji เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่หญิงสาวและเจน Z  ซึ่งทำให้เพศกลุ่มตัวอย่างไม่สมดุลกัน รวมถึงต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจากทั่วโลก เพื่อดูว่ามีการใช้อีโมจิแตกต่างกันระหว่างเพศและทั่วโลกหรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีวิจัยระบุว่า อีโมจิ “กดไลก์” (thumbs-up) เป็นตัวแทนของการคุกคามและหยาบคายสำหรับชาวเจน Z โดยเฉพาะโดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในที่ทำงาน รวมถึง อีกทั้งยังมองว่าใช้แล้วแก่อีกด้วย แต่ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ใช้อีโมจิบางตัวในความหมายสองแง่สองง่าม ส่อไปในเรื่องเพศ เช่น มะเขือยาว พีช หน้าปีศาจยิ้ม หยดน้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการใช้อีโมจิของคนแต่ละวัยนั้นมีความแตกต่างกัน 

 

ที่มา: IDS MEDMedical PressNew York Post