ตาวิเศษเห็นนะ! ทำความรู้จัก “อีโมจิ” รณรงค์ต่อต้านการ “บูลลี่”
ทำความรู้จัก อีโมจิ “I Am A Witness” 👁🗨 อีโมจิแคมเปญต่อต้านการกลั่นแกล้ง เพื่อให้เด็ก ๆ กล้าแสดงออก และไม่ทนต่อการกลั่นแกล้งอีกต่อไป
ในบรรดา “อีโมจิ” ทั้งหมด 3,633 สัญลักษณ์ ที่อยู่บนระบบยูนิโค้ดมาตรฐาน รู้หรือไม่ว่ามีอีโมจิอยู่หนึ่งตัวที่เป็นรูป ดวงตาผสมกับกล่องคำพูด (eye-in-speech-bubble) 👁🗨 มีชื่อว่า “I Am A Witness” นั้น เป็นสัญลักษณ์ของแคมเปญต่อต้านการกลั่นแกล้ง หรือ การบูลลี่ โดยอีโมจิตัวนี้แฝงอยู่ในหมวดสัญลักษณ์ของแป้นอีโมจิมาตั้งแต่ iOS 9.1 ที่ปล่อยมาตั้งแต่ปี 2558
อีโมจิ I Am A Witness แฝงอยู่ในหมวดสัญลักษณ์บนแป้นอีโมจิ
ตอนแรกทุกคนต่างงุนงงว่าอีโมจิ “I Am A Witness” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรกันแน่ จนกระทั่ง เอริค วีแลนด์ ดีเจและนักออกแบบ ได้ทวีตข้อความระบุว่า อีโมจิตัวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้รณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้ง
ทว่า…อีโมจิตัวนี้ ไม่ได้เป็นไอเดียมาจาก Apple Inc.
ที่มาของอีโมจิ
Ad Council องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐ ได้ออกแคมเปญต่อต้านการกลั่นแกล้งในชื่อว่า I Am A Witness โดยผู้ออกแบบโลโก้ของแคมเปญ และได้พัฒนามาเป็นอีโมจิตัวดังกล่าว คือ แองจี เอลโค และ แพทริค โนวล์ตัน จาก Goodby Silverstein & Partners บริษัทเอเยนซีโฆษณาในซานฟรานซิสโก
แคมเปญนี้ Ad Council ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแคมเปญ The Bully Project Mural ในปี 2557 ที่ให้ผู้คนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับการกลั่นแกล้งผ่านงานศิลปะและเรื่องราว จัดทำโดย Adobe บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของโลก, The Bully Project แคมเปญต่อต้านการบูลลี่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Bully (2554) และ Behance แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Adobe
แต่ I Am A Witness จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง
ฮานนา วิตต์มาร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Goodby กล่าวว่า "ฉันและแองจีหาวิธีที่เราจะส่งเสริมให้เด็ก ๆ เลิกเพิกเฉยและลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เมื่อเจอเหตุการณ์การบูลลี่”
จากการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐ ในปี 2556 (หนึ่งปีก่อนเริ่มแคมเปญ) พบว่า 15% ของนักเรียนในสหรัฐถูกรังแกทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการกลั่นแกล้งทางโซเชียลมีเดียสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกวัน ทุกเวลา ทำให้เหยื่อไม่สามารถหนีไปไหนได้
ขณะที่การศึกษาของ Pew Research Center พบว่า 90% ของวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ที่เคยพบเห็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ แต่พวกเขาไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่พวกเขาสามารถช่วยยับยั้งพฤติกรรมดังกล่าวได้
คณะผู้จัดทำแคมเปญได้พูดคุยกับเด็ก ๆ จำนวนมาก เพื่อหาหนทางที่จะทำให้แคมเปญได้ประสิทธิภาพ พบว่า เด็ก ๆ เหล่านี้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากกลัวว่าตนเองจะถูกกลั่นแกล้งไปด้วย แต่พวกเขากล่าวว่า มีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือเหยื่อ หากมีคนอื่นร่วมแสดงออกด้วย
เอลโค และ โนวล์ตัน จึงได้ออกแบบสัญลักษณ์สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ใช้เพื่อแสดงถึงการต่อต้านการกลั่นแกล้งและพร้อมที่จะปกป้องเหยื่อ โดยเริ่มต้นไอเดียจากประโยค I Am A Witness ด้วยการเล่นเสียงระหว่างคำว่า ฉัน (I) และ ตา (eye) ที่ออกเสียงคล้ายกัน (ไอ และ อาย) และยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสายตาที่จ้องมองเหตุการณ์อยู่
“เราออกแบบรูปดวงตามาเป็นพัน ๆ รูป แต่เราก็คิดกันว่าถ้ามีแค่ดวงตาอย่างเดียวมันธรรมดาเกินไป และไม่สื่อความหมาย ในที่สุดเราจึงตัดสินใจใส่รูปดวงตาไว้ในเครื่องหมายคำพูด” เอลโคกล่าวถึงขั้นตอนในการออกแบบโลโก้
การวิจัยของ UCLA Daniel Fessler พบว่า ภาพดวงตาสามารถมีต่อผลพฤติกรรมของมนุษย์ได้ โดยเพิ่มพฤติกรรมทางสังคมและลดพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้
“นี่เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังมาก ต้องการบอกว่า ฉันมองเห็นนะ ฉันจะพูดออกไป ฉันต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้” วิตต์มาร์กกล่าวถึงอีโมจิดังกล่าว
Apple ชื่นชมจนนำไปใส่ในแป้นพิมพ์
“Apple Inc.” ผู้นำเทคโนโลยีของโลกเองก็ชื่นชอบไอเดียของแคมเปญ I Am A Witness ด้วยเช่นกัน จึงได้นำสัญลักษณ์นี้ไปทำเป็นอีโมจิ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ”Zero Width Joiner” (ZWJ) ที่เป็นการรวมอีโมจิ 2 ตัวเข้าด้วยกันแล้วสร้างเป็นอีโมจิตัวใหม่ สำหรับอีโมจิ I Am A Witness เกิดจากการรวมกันของอีโมจิ ดวงตา (eye) และ กล่องข้อความด้านซ้าย (left speech bubble)
นอกจาก Apple จะให้การสนับสนุนแคมเปญนี้อย่างเต็มที่แล้ว บริษัทเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Adobe, Facebook, Snapchat, Tumblr, Twitter, Whisper, Kik และ Google ก็ได้นำโลโก้ของแคมเปญไปใส่ในอีโมจิของตน และช่วยเผยแพร่สัญลักษณ์นี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ตามจุดประสงค์ของโครงการ
แม้ว่าในปัจจุบันแคมเปญนี้จะเริ่มเลือนหายไปจากความสนใจของผู้คนไปตามกาลเวลา แต่อีโมจิตัวนี้ยังคงอยู่ในสมาร์ทโฟนของทุกคน หากพบเห็นการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ อย่างน้อยที่สุดพวกเราสามารถใช้อีโมจิตัวนี้ เพื่อตอบโต้กลุ่มคนที่บูลลี่ และแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ข้างเหยื่อ ตามวัตถุประสงค์ของอีโมจินี้
สามารถค้นหาอีโมจิตัวนี้ได้ด้วยการพิมพ์คำว่า witness
อีโมจิขับเคลื่อนสังคม
ไม่ได้มีแต่อีโมจิ I Am A Witness เท่านั้น ที่ถูกใช้ในการรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม แต่ยังมีอีโมจิอีกหลายตัวที่ทำหน้าที่ต่อต้านความรุนแรงและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็น…
การเปลี่ยนอีโมจิปืน เป็นปืนฉีดน้ำสีสันสดใสแทน ในปี 2559 ซึ่งมาจากกลุ่มผู้สนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน New Yorkers Against Gun Violence ได้ใช้ #DisarmtheiPhone ในการเรียกร้องให้ Apple และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ นำรูปอีโมจิปืนออกจากระบบยูนิโค้ด
ลีอาห์ กายน์ บาร์เร็ตต์ ตัวแทนของกลุ่ม กล่าวว่า เธอตระหนักดีว่าการเปลี่ยนอีโมจิไม่สามารถหยุดความรุนแรงของปืนในสหรัฐได้ แต่ในฐานะที่ Apple เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี หากยอมเปลี่ยนอีโมจิรูปปืน จะถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อนักการเมืองและทำให้บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ทำตามและตระหนักถึงเรื่องนี้ได้
เนื่องจากในโลกใบนี้เต็มไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายสีผิว และหลากหลายเพศวิถี ทำให้ในปี 2558 Apple ได้อัปเดตอีโมจิที่เป็นรูปมนุษย์ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สามารถเปลี่ยนสีผิวได้ 5 ระดับ รวมถึงมีอีโมจิมนุษย์ทำท่าใหม่ ๆ และเปิดตัวอีโมจิความสัมพันธ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยในปี 2563 ได้มีการเพิ่มสัญลักษณ์และธงของกลุ่มคนข้ามเพศ หรือ ทรานส์เจนเดอร์
จนถึงปัจจุบัน อีโมจิยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสามารถแสดงอารมณ์ที่ได้อรรถรส และเผยอัตลักษณ์ที่แท้จริงของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
ที่มา: CBS News, Emojipedia, Mashable, NPR, The Guardian, USA Today, Wired