“เจน Z” ไม่ปลื้ม อีโมจิ “กดไลก์” หยาบคาย - ถูกคุกคาม แถมเชยสะบัด
“เจน Z” ยกให้อีโมจิ “กดไลก์” (thumbs-up) “หยาบคาย” และ “ไม่เป็นมิตร” เนื่องจากพวกเขารู้สึกถูกโจมตี โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในที่ทำงาน รวมถึง อีโมจิยกนิ้วโป้งนี้ยังเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่มองว่าใช้แล้วแก่อีกด้วย
ทำเอาคนรุ่นอื่นงงไปตาม ๆ กัน เมื่อผู้ใช้สื่อโซเชียลรายหนึ่งได้ตั้งกระทู้ใน Reddit เว็บบอร์ดชื่อดังของสหรัฐ ระบุว่า เขารู้สึกไม่โตพอที่จะสบายใจ เมื่อได้รับการตอบกลับด้วยอีโมจิ 👍 “กดไลก์” หรือ Thumbs up ซึ่งชาวเจน Z รายอื่นก็เข้ามาเห็นด้วย พร้อมเสริมด้วยว่าอีโมจิอื่น ๆ อย่างเช่น หัวใจสีแดง (Red Heart) ก็ทำให้รู้สึกไม่สบายใจด้วยเช่นกัน
“สำหรับกลุ่มคนอายุน้อยหรือเจน Z พวกเขามองว่าอีโมจิกดไลก์ คือการแสดงออกว่าผู้ส่งกำลังโกรธหรือไม่พอใจอยู่แต่เลือกที่จะไม่พูดออกมา (Passive-Aggressive)” ผู้ตอบกระทู้อายุ 24 ปี รายหนึ่งกล่าว
“มันคงหยาบคายมาก ถ้าอยู่ ๆ มีคนยกนิ้วโป้งให้คุณในชีวิตจริง ฉันเลยทำตัวแปลก ๆ เวลาคนในที่ทำงานฉันทำแบบนั้น”
ขณะที่กลุ่มคนเจน X, Y ที่มีอายุมากกว่านั้นจะดูสับสนกับปฏิกิริยาของคนเจน Z ที่มีต่ออีโมจิกดไลก์ เพราะจุดประสงค์ของการใช้อีโมจิดังกล่าวในห้องแชทที่เกี่ยวกับงาน เพียงแค่ต้องการบอกว่า “ฉันอนุมัติ” หรือ “เข้าใจและรับทราบแล้ว”
ปัญหาเกิดเพราะเจน Z ใช้อีโมจิกดไลก์ในแนวประชดประชัน?
แบร์รี เคนเนดี วัย 24 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว New York Post ว่า ใช้อีโมจิกดไลก์กับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เช่น พ่อแม่ หรือ เพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่าเท่านั้น “ผมมักใช้ในเชิงแดกดันมากกว่า แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อหรือไม่”
ความแตกต่างของวัฒนธรรมการสื่อสารในแต่ละเจนเนอเรชัน ?
“เจน Z ทุกคนในออฟฟิศของผมไม่มีใครใช้อีโมจินี้ มีแต่คนเจน X ที่มักจะใช้” ผู้ใช้งาน Reddit รายหนึ่งตอบกระทู้ ขณะที่อีกคนกล่าวว่า
“ฉันคงต้องปรับตัวอีกระยะกว่าที่จะเอาความเข้าใจที่ว่า เขาใช้อีโมจินี้เพราะโกรธฉันอยู่ออกไปจากหัวได้”
ขณะที่บางส่วนตีความหมายอีโมจิกดไลก์ ว่า งานของพวกเขานั้นไม่มีความสำคัญหรือมีค่าพอให้พิจารณา (dismissive)
ผู้ใช้ Reddit รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วการยกนิ้วโป้งหมายความถึงการจบบทสนทนา ประมาณว่า “ฉันอ่านข้อความของคุณแล้วและไม่มีอะไรเพิ่มเติม ซึ่งฉันหวังว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่มแชทนี้ไม่มีอะไรจะพูดเพิ่มเติมเช่นกัน”
แต่สำหรับคนเจน Z แล้ว พวกเขาต้องการให้สื่อสารออกมาเป็นคำพูดมากกว่า คิม ลอว์ นักสังคมสงเคราะห์วัย 25 ปี กล่าวว่า “เราเป็นมนุษย์และมีคำพูดต่าง ๆ ให้เลือกใช้ น่าจะดีกว่าถ้าใช้เวลาในการพิมพ์ข้อความตอบกลับด้วยความรอบคอบ คุณไม่ควรตอบกลับด้วยอีโมจิสั้น ๆ แก้ไขแล้วพิมพ์ความรู้สึกที่แท้จริงออกมาเถอะ”
อีโมจิสามารถตีความได้หลากหลายความหมาย
ผู้ใช้ Reddit หลายคนเห็นด้วยกับการยกเลิกอีโมจิในที่ทำงาน เนื่องจากมองว่าไม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน และสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร
เอลเลียน สวานน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทและวิถีการใช้ชีวิต แนะนำให้หลีกเลี่ยงใช้อีโมจิในการทำงานเพื่อป้องกันการตีความผิด
“อีโมจิสามารถถูกตีความไปได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ เพราะความเข้าใจของคนแต่ละรุ่นนั้นไม่เหมือนกัน คนเจน Z อยากให้รับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้เข้าใจความหมายของอีโมจิในลักษณะนั้น”
สำหรับบางคนแล้วอาจจะไม่พอใจที่ได้รับ อีโมจิกดไลก์ แต่ อีโมจิที่พวกเขารู้สึกไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการทำงานมากที่สุดคือ อีโมจิรูปหัวใจ ❤️
“สำหรับฉันแล้ว อีโมจิหัวใจสงวนไว้สำหรับเพื่อนและครอบครัวเท่านั้น เพราะมีความหมายของความรักที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในขณะที่การกดไลก์เป็นเพียงการแสดงให้รู้ว่าผู้ส่งเห็นด้วย” คนหนึ่งให้ความเห็น
ส่วนอีกความเห็นหนึ่งกล่าวเสริมว่า “การใช้อีโมจิรูปหัวใจในการทำงาน มันดูแปลก ๆ ฉันก็ใช้อีโมจินี้นะ แต่ใช้เวลามีอะไรน่ารัก ๆ หรือแสดงการขอบคุณ”
อีโมจิกดไลก์ขึ้นแท่นอีโมจิใช้แล้วแก่ที่สุด
Perspectus Global บริษัทวิจัยและข้อมูลเชิงลึกระหว่างประเทศ ทำการสำรวจความเห็นคนเจน Z ในสหราชอาณาจักร ที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปี กว่า 2,000 คน พบว่า ส่วนใหญ่ในแต่ละสัปดาห์พวกเขาจะใช้อีโมจิราว 76 ตัว โดย 78% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ใช้อีโมจิโดยไม่รู้ว่ามันมีความหมายว่าอะไร หรือ สามารถตีความหมายอื่นได้ด้วย ขณะที่ราว 22% ใช้อีโมจิหลายตัวในทุกข้อความที่พวกเขาส่งเพื่อ "ทำให้ข้อความมีความหมายชัดเจนขึ้น"
10 อันดับของ อีโมจิที่คนเจน Z มองว่าผู้ใช้งานอีโมจิเหล่านั้นดูแก่และไม่เท่ที่สุด มีดังนี้
- กดไลก์ (Thumbs up) 👍
- หัวใจสีแดง (Red heart) ❤️ ️️
- โอเค (Ok hand) 👌
- เครื่องหมายติ๊กถูก (Check mark) ✔️
- น้องอุนจิ (Poo) 💩
- ร้องไห้หนักมาก (Loudly Crying Face) 😭
- ลิงปิดตา (Monkey eye cover) 🙈
- ปรบมือแปะ ๆ (Clapping hands) 👏
- รอยจูบพิมพ์ใจ (Kiss mark) 💋
- หน้าแสยะยิ้ม (Grimacing Face) 😬
อีวี พอร์เตอร์ ตัวแทนจาก Perspectus Global กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ด้วยค่าเฉลี่ยของชาวอังกฤษที่ส่งอิโมจิ 76 ตัวต่อสัปดาห์ ในหลายแพลตฟอร์ม เป็นที่ชัดเจนว่า สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารประจำวันของเรา ทั้งในระดับส่วนตัวและทางการ งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการประเมินอีโมจิที่คุณใช้ เพราะการใช้อีโมจิบางตัว เช่น กดไลก์ จะทำให้คุณกลายเป็นคนโบราณคร่ำครึ”
การวิจัยยังระบุด้วยว่าการใช้อีโมจิเป็นเครื่องมือ “สำคัญมาก” สำหรับการสื่อสาร โดย 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า อีโมจิสามารถสื่อสารแทนคำพูดได้เป็นพันคำ แต่การสื่อสารจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารนั้นมีความเข้าใจที่ตรงกัน
ที่มา: CNET, New York Post, Yahoo