นายจ้างไม่ปลื้มพนักงาน Gen Z เหตุไม่พร้อมทำงาน สื่อสารแย่ ไม่เป็นมืออาชีพ
นายจ้างไล่พนักงาน Gen Z ออก หลังทำงานได้ไม่กี่เดือน มองคนรุ่นใหม่ไม่พร้อมทำงาน ขาดแรงจูงใจ ทักษะสื่อสารแย่ พูดจาไม่เหมาะสม ไม่เป็นมืออาชีพ
KEY
POINTS
- ผลสำรวจเผย นายจ้างจำนวนหนึ่งตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่ม Gen Z ออกจากงาน ทั้งที่เพิ่งจ้างมาทำงานได้ไม่กี่เดือน
- นายจ้างมองว่า Gen Z ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่มีระเบียบ ขาดทักษะสื่อสาร มาทำงานและมาประชุมสายบ่อยครั้ง การแต่งกายและการใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับสถานที่ทำงาน ฯลฯ
- อีกมุมหนึ่ง การเลิกจ้าง Gen Z อาจเป็นเรื่องผิดพลาด องค์กรไหนที่ดูแลเวิร์กโฟลว์ระหว่างพนักงานทุกรุ่นไม่ได้ ก็จะไม่สามารถรับมือความท้าทายทางธุรกิจในปี 2025 ได้
หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในโลกการทำงานสมัยนี้คือ วัยทำงานชาว Gen Z มักถูกโดนเหยียดอายุในที่ทำงาน นายจ้างบางบริษัทสะท้อนว่า การทำงานกับพนักงานรุ่นนี้ช่างยากเย็น และในที่สุดพวกเขาก็เลิกจ้างพนักงาน Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ หลังพวกเขาทำงานได้ไม่กี่เดือน
จากการสำรวจล่าสุดของ Intelligent แพลตฟอร์มช่วยเหลือด้านการทำงานอย่างมืออาชีพให้คนรุ่นใหม่ เปิดเผยความเห็น 6 ใน 10 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่ม Gen Z ออกจากงาน ทั้งที่เพิ่งจ้างมาใหม่เมื่อต้นปีนี้
นอกจากนี้ 1 ใน 6 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาลังเลที่จะจ้างงานเด็กจบใหม่ ขณะที่เจ้านาย 1 ใน 7 ยอมรับว่าพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงไม่จ้างงานเด็กรุ่น Gen Z ที่จบใหม่ในปีหน้า (ผลสำรวจข้างต้นทำการสำรวจผู้บริหารบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 1,000 คน)
นายจ้างไม่ปลื้ม Gen Z เพราะ “ไม่พร้อมทำงาน และไม่เป็นมืออาชีพ”
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงเหตุผลที่นายจ้างไม่พอใจพนักงานรุ่น Gen Z เป็นเพราะพวกเขามองว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบันขาดแรงจูงใจหรือความคิดริเริ่ม โดย 50% ของผู้บริหารองค์กรชี้ว่า สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานรุ่นใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ยังมองว่าคนรุ่น Gen Z ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่มีระเบียบ และมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี การมาทำงานและประชุมสายบ่อยครั้ง ไม่สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับที่ทำงาน และการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับสถานที่ทำงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบการการทำงานจนนายจ้างตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่มนี้ออกจากงาน
อีกทั้ง 50% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) กลุ่มตัวอย่าง ก็สะท้อนความเห็นว่า เด็กจบใหม่รุ่น Gen Z ไม่พร้อมสำหรับโลกของการทำงาน และอีกจำนวนหนึ่ง (20%) บอกว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ไม่สามารถรับมือกับปริมาณงานได้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีมหาวิทยาลัยบางแห่งมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งแก้ไขด้วยการสอนให้นักศึกษาเตรียมพร้อมสู่การเป็นพนักงาน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Michigan State ได้เปิดคอร์สอนนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบทสนทนาในการสร้างเครือข่ายด้านอาชีพการงาน รวมไปถึงวิธีการมองหาสัญญาณภาวะเบื่อหน่ายหมดไฟ และสัญญาณของการมองหาหางานใหม่ เป็นต้น
หาก Gen Z อยากมีโอกาสได้งานมากขึ้น ต้องปรับทัศนคติใหม่
นาย ฮุย เหงียน (Huy Nguyen) ที่ปรึกษาหลักด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของ Intelligent มีคำแนะนำให้วัยทำงานชาว Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ว่า ลองสังเกตและเรียนรู้วิธีการพูดคุย หรือการมีส่วนร่วมในการทำงานของพนักงานรุ่นพี่ ในที่ทำงาน เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทที่พวกเขาอยากร่วมงานด้วย แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม อีกทั้งควรให้ความสำคัญในการฝึกทักษะด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
“จงริเริ่มถามคำถามที่สร้างสรรค์ ขอคำติชม และนำไปใช้ในที่ทำงาน เพื่อแสดงให้หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเห็นถึงแรงจูงใจที่อยากจะเติบโตในอาชีพการงานของคุณ อีกทั้งควรฝึกการมีทัศนคติเชิงบวก การปฏิบัติตามกำหนดเวลา และอาสาทำงานในโครงการต่างๆ แม้จะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรงของคุณก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยให้คุณโดดเด่นและแข็งแกร่งในโลกการทำงาน” เหงียน กล่าวเสริม
ผู้นำองค์กรบางคนยืนกรานว่าทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน จะช่วยส่งเสริมอาชีพของคนงานรุ่นใหม่ได้มากกว่าการจบปริญญาตรี
ตามความเห็นของ แอนดี้ แจสซี (Andy Jassy) ซีอีโอคนล่าสุดของ Amazon เขามองว่า ความสำเร็จของหนุ่มสาวในช่วงวัย 20 ปีจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคุณ เนื่องจากผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์กรส่วนใหญ่ มักชอบทำงานกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวกมากกว่า ขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของบริษัท Meta สะท้อนมุมมองว่า พรสวรรค์ในการทำงานและบุคลิกภาพที่เหมาะสม ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า
การไล่พนักงาน Gen Z ออก อาจเป็นเรื่องผิดพลาด!
แม้นายจ้างบางส่วนอยากเลิกจ้างวัยทำงานชาว Gen Z แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำอย่างนั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด โดย จอย เทย์เลอร์ (Joy Taylor) กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Alliant อธิบายเรื่องนี้ผ่าน Newsweek ว่า นายจ้างยุคนี้จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่น Gen Z หากไล่พวกเขาออก “นั่นจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่” การดูแลเวิร์กโฟลว์ระหว่างพนักงานทุกรุ่นในองค์กรให้ราบรื่นนั้น มีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายทางธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ตั้งแต่การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง ไปจนถึงการปรับแนวทางวัฒนธรรมองค์กร
“ไม่ว่านายจ้างจะชอบหรือไม่ก็ตาม คนรุ่น Gen Z กำลังนำมุมมองแบบ Blue Ocean มาสู่วัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ และการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงนี้ แทนที่จะยอมรับและปรับตัว ถือเป็นการทำร้ายบริษัทอย่างมาก ส่งผลให้ผู้นำกลุ่ม Gen X หรือ Baby Boomers จำนวนมากไม่สามารถจัดตั้งองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมีความยืดหยุ่นในระยะยาวได้ อีกทั้งยังพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของคนรุ่นใหม่” เทย์เลอร์กล่าว
เทย์เลอร์ บอกอีกว่า วัยทำงานรุ่น Gen Z มีพรสวรรค์บางอย่างที่นายจ้างสามารถเรียนรู้ได้ เช่น ความรู้ด้านดิจิทัล จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความกล้าคิดกล้าพูด
อย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์ มีข้อแนะนำถึงบริษัทต่างๆ ว่า การเรียนรู้ที่จะชื่นชมพรสวรรค์และความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของคนทุกเจเนอเรชัน จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ได้ จะเป็นผู้ชนะของสนามธุรกิจในที่สุด