ผลสำรวจเผย Gen Z แอบดูทีวีในเวลางาน 1 ชม. ทุกวัน ส่วน Gen X Y ขอแว้บไปเลี้ยงลูก
ผลการสำรวจใหม่ เผย พนักงาน Gen Z ชอบแอบเอาเวลาทำงานไปดูทีวีเกือบ 1 ชั่วโมงในทุกๆ วัน ส่วน Gen X-Y แว้บไปดูแลลูกหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง
ท่ามกลางสถานการณ์โลกการทำงานที่นายจ้างหลายองค์กร ต่างเริ่มออกคำสั่งเรียกพนักงานที่ทำงานทางไกลหรือทำงานที่บ้าน ให้กลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มสัปดาห์ เพราะกังวลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานที่อาจจะลดน้อยลงไป ซึ่งเรื่องนี้ดูทีท่าว่าจะเป็นเรื่องจริง เมื่อมีผลสำรวจพบว่าพนักงานทุกเจนเนอเรชันแอบใช้เวลางานไปกับกิจกรรมส่วนตัว เช่น ดูทีวี เลี้ยงลูก ดูแลสัตว์เลี้ยง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการศึกษาจาก TollFreeForwarding บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศในสหรัฐ ชี้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างมากในรอบ 75 ปี และคาดว่าพนักงานที่ไม่ใส่ใจในงานจะทำให้ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาสูญเสียรายได้ถึง 550,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
Gen Z เอาเวลาทำงานไปดูทีวีแบบเสียเงิน 235 ชั่วโมงต่อปี
ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจว่าวัยทำงานแต่ละเจนเนอเรชันได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ในเวลางานหรือไม่ แล้วทำกิจกรรมอะไรบ้าง ผลสำรวจพบว่า คนรุ่น Gen Z ใช้ช่วงเวลาทำงานมาดูทีวีแบบเสียเงินถึง 235 ชั่วโมงต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเกือบ 1 ชั่วโมงในทุกๆ วัน ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 8,241 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (ราวๆ 273,000 บาทต่อคนต่อปี)
ขณะที่วัยทำงานรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y และคนรุ่นใหญ่อย่าง Gen X ก็พบว่าเอาเวลาทำงานมาดูทีวีในบางครั้งคราวเช่นกัน แต่ใช้เวลาน้อยกว่า Gen Z อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ Gen Y ใช้เวลาทำงานมาดูทีวีราวๆ 110 ชั่วโมงกับอีก 23 นาทีต่อปี ส่วน Gen X ใช้เวลาทำงานมาดูทีวีประมาณ 197 ชั่วโมง 11 นาทีต่อปี
นอกจากนี้ตามรายงานยังระบุว่า วัยทำงานรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen X ยังใช้เวลาทำงานไปกับกิจกรรมอื่นๆ ในเวลาทำงานนอกเหนือจากการดูทีวีด้วย นั่นคือ คนรุ่นมิลเลนเนียลใช้เวลาเฉลี่ย 2 วัน 9 ชั่วโมงต่อปีไปกับการดูแลลูกเล็ก ส่วนคนรุ่น Gen X ใช้เวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด ส่งผลให้สูญเสียเวลาทำงานเฉลี่ย 13 ชั่วโมง 46 นาทีต่อปี
พฤติกรรมนี้เป็นผลสะท้อนของ “วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ”
เจสัน โอไบรอัน (Jason O'Brien) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ TollFreeForwarding กล่าวในรายงานว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ได้เห็นว่า ผู้คนในแต่ละเจเนอเรชันเลือกใช้เวลาทำงานของตนอย่างไร และแต่ละคนใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ มากเพียงใดในช่วงเวลาทำงาน
“เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับพนักงาน ผู้นำธุรกิจควรสร้างและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเติบโตและเพิ่ม Productivity ให้มากขึ้น โดยขอแนะนำให้สร้างวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เปิดรับเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ และมอบอิสระให้กับพนักงานในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” โอไบรอัน ย้ำ
ด้วยผลสำรวจข้างต้นที่ชี้ว่า Gen Z เป็นกลุ่มวัยทำงานที่แอบดูทีวีในเวลางานมากที่สุดนั้น อาจทำให้นายจ้างทั้งหลายเกิดความสงสัยและลังเลที่จะจ้างงานพวกเขา แต่ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล (HR) อย่าง ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) มองว่าไม่ควรตัดสินเรื่องนี้เร็วเกินไป และบอกว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนถึง “วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ” ที่พวกเขาได้รับการสืบทอดมาต่างหาก
“คนรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินไปและได้รับค่าจ้างต่ำ และหลายคนต้องทำงานหลายงานเพียงเพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ แล้วเราจะโทษพวกเขาได้จริงหรือที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างวันทำงาน” ดริสโคลล์กล่าวกับนิตยสาร Newsweek
นายจ้างมักคาดหวังผลงานที่เกินจริง ทั้งที่ตลาดงานเปลี่ยนแปลงเร็วและผันผวนสูง
ดริสคอลล์มองว่าปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ความคาดหวังที่ “เกินจริง” ที่บริษัทมอบให้พนักงาน ด้วยการคาดหวังผลงานที่ต้องดีได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับความไม่แน่นอนมากมาย
คนรุ่น Gen Z กำลังเผชิญกับความท้าทายจากสังคมและภาวะเศรษฐกิจผันผวน พวกเขาจึงพยายามหาทางรับมือกับความต้องการจากนายจ้างที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไปพร้อมกับการทำให้ตนเองยังคงมีประสิทธิผลในแต่ละวันทำงาน เขาเสริมด้วยว่าบริษัทต่างๆ ที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าหาคนรุ่นใหม่ อาจต้องเผชิญกับผลที่ตามมา
“คนรุ่น Gen Z ไม่เต็มใจที่จะเสียสละความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง หากนายจ้างไม่ปรับตัวและให้การสนับสนุนที่มีความหมายมากขึ้นให้แก่ลุกจ้างอายุน้อย บริษัทก็อาจจะสูญเสียบุคลากรที่มีพรสวรรค์ไป อนาคตของการทำงานไม่ได้เกี่ยวกับการเฝ้าติดตามงานทุกขั้นตอน และคอยบีบคั้นประสิทธิภาพการทำงานจนหยดสุดท้าย แต่เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้พนักงานมีความเป็นมนุษย์” ดริสโคลล์ย้ำให้เห็นภาพชัดเจน
แม้ดูเหมือนเป็นการสร้างสมดุลชีวิต แต่การใช้ทรัพยากรที่ทำงานเพื่อความสุขส่วนตัวก็ไม่ควรทำ
ขณะเดียวกัน อเล็กซ์ บีน (Alex Beene) อาจารย์สอนความรู้ทางการเงินจากมหาวิทยาลัย Tennessee at Martin ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า แนวโน้มการทำงานผ่านหน้าจออุปกรณ์ต่างๆ ในกลุ่มคนรุ่น Gen Z สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมาโดยเชื่อมโยงกับอินเทอร์เฟซดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา
บีน อธิบายว่า สำหรับคนรุ่น Gen Z การดูวิดีโอบนสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ เป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันในโรงเรียนมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากนโยบายสมาร์ทโฟนที่ผ่อนปรนหรือการขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ด้วยเหตุนี้ นายจ้างหลายคนจึงเชื่อว่า วัยทำงานรุ่นใหม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ดังนั้นพวกเขาก็ควรทำงานผ่านหน้าจอนั้นได้เช่นเดียวกัน
ในขณะที่คนรุ่น Gen Z จำนวนมากให้ความสำคัญกับการทำงานในชั่วโมงที่กำหนด มักจะไม่ทำงานเกินเวลางาน ในทางกลับกัน นายจ้างเองก็อยากให้ลูกจ้างทำงานเต็มเวลางานเพื่อให้คุ้มค่าจ้างเช่นเดียวกัน สำหรับใครก็ตามที่สนุกสนานไปกับความบันเทิงส่วนตัวโดยที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเพื่อสิ่งเหล่านั้น อาจต้องเผชิญกับบทลงโทษตามมาในภายหลัง