เปิด 6 เคล็ดลับการทำงานที่ผู้เชี่ยวชาญอยากบอก Gen Z เพื่อความสำเร็จก้าวแรก
‘ทำความเข้าใจก่อนแสดงความเห็น’ 1 ใน 6 เคล็ดลับการทำงาน ที่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าสามารถช่วย Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ คว้าความสำเร็จได้ในก้าวแรกของชีวิตการทำงาน
KEY
POINTS
- เกิดกระแสคำค้นหาสุดฮิต “คำแนะนำเรื่องงานสำหรับอาชีพแรก” บน Google ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 278% สะท้อนถึงภาวะกดดันของวัยทำงานรุ่น Gen Z จบใหม่ เมื่อพวกเขาเพิ่งจะได้งานแรกในชีวิต
- ผู้เชี่ยวชาญด้านความยืดหยุ่นและความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน เผย ไม่ควรตัดสินวัยทำงานอายุน้อยแบบฉาบฉวยเกินไป พวกเขาเป็นรุ่นที่มีศักยภาพแต่ต้องชี้แนะให้ถูกวิธี
- คู่มือ 6 ข้อสำหรับการทำงานอาชีพแรกได้แก่ ทำความเข้าใจก่อนที่จะเสนอความคิดเห็น, เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม, ติดตามผลงานของตนเอง, อย่ามัวแต่อ้างความเป็นน้องใหม่, อย่าพยายามเป็นเพื่อนร่วมงานสุดชิล, ไม่จำเป็นต้องทำงานเกินตัว
รู้หรือไม่? วัยทำงานรุ่น Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่จำนวนมาก งานที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันคืองานแรกในชีวิต เด็กจบใหม่หลายคนรู้สึกประหม่า กดดัน ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะต้องปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานอย่างไร จนเกิดกระแสคำค้นหาสุดฮิตอย่าง “คำแนะนำเรื่องงานสำหรับอาชีพแรก” บน Google พุ่งสูงขึ้นถึง 278%
ประกอบกับมีผลสำรวจพบว่า ผู้สมัครงานใหม่สัดส่วนมากถึง 72% บอกว่า การหางานทำให้ได้นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขา นอกจากนี้จากการวิจัยล่าสุดจาก Intelligent.com ยังพบว่า นายจ้าง 1 ใน 6 แห่งลังเลที่จะจ้างบัณฑิตจบใหม่ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสารและความเป็นมืออาชีพ และบริษัทต่างๆ 60% ได้ไล่พนักงาน Gen Z จบใหม่ที่เพิ่งได้รับการว่าจ้างในต้นปีนี้ออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขา ขาดแรงจูงใจ ขาดทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมการทำงานระดับมืออาชีพ
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าต่อไปในอนาคต พวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานหลักในตลาดงาน คาดว่าจะครองสัดส่วนประมาณ 27% ของกำลังแรงงานภายในปี 2025 ดังนั้นนายจ้างที่ปฏิเสธจ้างงาน Gen Z อาจเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก
จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.ไบรอัน โรบินสัน (Bryan Robinson) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา นักเขียน และนักจิตบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านความยืดหยุ่นและความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ผ่านบทความของ Forbes ว่า ไม่ควรเหมารวมหรือตัดสินวัยทำงานอายุน้อยแบบฉาบฉวยเกินไป พวกเขาเป็นรุ่นที่มีศักยภาพ เพียงแต่ต้องการการชี้แนะที่เหมาะสม บนพื้นฐานการเปิดกว้างและความเข้าใจ
ดร.ไบรอัน ได้หารือกับ เอเวอรี มอร์แกน (Avery Morgan) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพการทำงาน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของ EduBirdie ในประเด็นดังกล่าว แล้วสรุปเป็นคำแนะนำ 6 ข้อสำหรับเป็นคู่มือการทำงานอาชีพแรก ให้แก่วัยทำงานรุ่น Gen Z ได้ลองนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านช่วงเริ่มต้นของอาชีพการงานได้อย่างมั่นใจ
เรียนรู้กระบวนการทำงาน ทำความเข้าใจก่อนที่จะเสนอความคิดเห็น
วิธีปรับตัวให้เข้ากับงานในตำแหน่งงานที่คุณทำอยู่ ควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ อย่ารู้สึกกลัวที่จะต้องมีส่วนร่วมในการคุยงานในทีม หรือเข้าร่วมการประชุมสำคัญของบริษัท พยายามเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด อีกทั้งควรนัดวันพบปะกับหัวหน้างานแบบตัวต่อตัวเพื่อขอคำแนะนำ และมองหาเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยในการปรับตัว
นอกจากนี้ควรถามคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในงาน เช่น อะไรท้าทายที่สุดเกี่ยวกับการทำงานในทีมนี้หรือในตำแหน่งนี้, หัวหน้าคาดหวังผลงานอะไรจากฉันในไตรมาสแรก, ฉันไม่ควรละเลยสิ่งใดในกระบวนการทำงานชิ้นนี้ ฯลฯ แม้ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวจะดูแปลกหูแปลกตาไปหมด แต่ให้เน้นที่การทำความเข้าใจก่อนที่จะเสนอความคิดเห็น
เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม สังเกตและเลียนแบบเพื่อสร้างความสัมพันธ์
สังเกตพฤติกรรมของทีมและปรับตัวตาม เพราะที่ทำงานแต่ละแห่งมักจะมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนกัน เช่น เวลาประชุมออนไลน์พวกเขาเปิดหรือปิดกล้อง, พวกเขาใช้อีโมจิในการคุยงานไหมหรือเน้นการสนทนาที่เป็นทางการ, หากมีการสอบถามเรื่องงาน หัวหน้าตอบกลับทันทีหรือใช้เวลาปรึกษาทีมก่อน, พวกเขาส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นของทุกคนไหม, มีความสามัคคีในทีมหรือไม่ ฯลฯ
จากนั้นให้เราพยายามเชื่อมต่อกับผู้คนด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืนทำและไม่เสแสร้ง เพียงแค่ค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมย่อยของทีมก่อนแล้วขยายไปสู่วัฒนธรรมองค์กรหลัก
ติดตามผลงานของคุณตั้งแต่วันแรก
ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน หากได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไรแล้วทำสำเร็จ ให้บันทึกโปรเจกต์หรือผลงานที่ประสบความสำเร็จต่างๆ เอาไว้ รวมถึงบันทึกข้อเสนอแนะเชิงบวกที่คุณได้รับจากหัวหน้าหรือเพื่อร่วมงาน เช่น งานนี้ได้รับคำชมว่าเรามีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น หรือ งานนี้เราได้มีส่วนสนับสนุนต่อเป้าหมายของทีม การบันทึกสิ่งเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบผลงาน และเป็นการเก็บหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณค่าของคุณเมื่อหารือเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่ง แต่ต้องมีความเป็นกลางด้วยไม่ใช่อวยตัวเอง (ทำได้โดยขอคำติชมจากหัวหน้างานเป็นประจำ)
อย่าตกหลุมพรางของความเป็น “น้องใหม่”
การเป็นน้องใหม่ในทีมทำให้คุณได้รับการให้อภัยง่ายๆ หากทำงานผิดพลาดบ้างหรือทำงานเสร็จไม่ทันบ้าง เพราะทุกคนถือว่าคุณมาใหม่ยังไม่คุ้นเคยกับเนื้องาน แต่อย่าหลงเสพติดความสบายใจตรงนั้นมากเกินไป เพราะมันจะทำให้คุณไม่เติบโต
สิ่งที่ควรทำคือต้องถามคำถามเมื่อสงสัยในงานหรือไม่แน่ใจบางอย่าง เพื่อเรียนรู้งานให้เร็วและป้องกันความผิดพลาดบ่อยๆ (ถ้าพลาดบ่อยเกินไปก็เหมือนเราไม่ตั้งใจเรียนรู้งาน) การถามคำถามเรื่องงานในฐานะน้องใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะเดียวกันคุณต้องแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือลองเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ทีม สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมที่จะทำงานอยู่ที่นี่และตั้งใจจริง
อย่าฝืนทำตัวเป็น ‘เพื่อนร่วมงานสุดเท่’ เพื่อให้ทุกคนชอบ
แน่นอนว่าเราทุกคนอยากเป็นที่ชื่นชอบในที่ทำงาน แต่การพยายามทำตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ชิลและสนุกสนานมากเกินไป อาจส่งผลเสียได้ หากคุณมุ่งมั่นเกินไปที่จะเป็นเพื่อนซี้ของทุกคน คุณอาจถูกมองว่าติดเล่นเกินไปและไม่จริงจังกับงาน ดังนั้น จงมุ่งมั่นที่เป็นคนน่าเชื่อถือและมีความหนักแน่นมั่นคงในหน้าที่การงาน เมื่อคุณได้รับความเคารพ มิตรภาพจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และคุณจะไม่รู้สึกว่าพยายามมากเกินไปที่จะเข้ากับคนอื่น
ไม่จำเป็นต้องทำงานเกินตัว เพื่อให้ทีมเห็นว่าตั้งใจจริง
ในฐานะน้องใหม่ในทีม การที่เราอยากสร้างความไว้วางใจและแสดงความมุ่งมั่นให้ทีมเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การทำงานหนักเกินไปตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่ใช่ทางออก การทำงานครั้งแรกใหม่ก็สร้างความเครียดให้มากพออยู่แล้ว ดังนั้น ให้ทำเท่าที่ทำไหว หลีกเลี่ยงการทำงานเยอะๆ จนต้องอยู่ดึก หรือรับงานที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ย้ำอีกครั้ง! อย่าลังเลที่จะปฏิเสธหรือยอมรับเมื่อคุณรู้สึกกดดันกับการทำวงานมากเกินไป
หัวหน้างาน รุ่นพี่ บริษัท ต้องประเมินและสอนงานอย่างจริงใจ
นอกจากนี้ ในทางฝั่งของหัวหน้างาน รุ่นพี่ในทีม หรือทางบริษัทเอง หากพบว่าพวกคุณได้ต้อนรับวัยทำงานเด็กจบใหม่เข้ามาร่วมทีม สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ การทดสอบความถนัดสามารถปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของคนรุ่น Gen Z โดยมีคำแนะนำจาก กาย ธอร์นตัน (Guy Thornton) ผู้ก่อตั้ง Practice Aptitude Tests แพลตฟอร์มทดลอบทัศนคติก่อนเข้าทำงาน ว่า การทดสอบความถนัดเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของ Gen Z ในที่ทำงาน สิ่งนี้มีประโยชน์ในกระบวนการจ้างงานเพื่อระบุทักษะและโอกาสการเติบโตให้แก่พวกเขา และช่วยลดความขัดแย้งในภายหลังได้
โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือเริ่มจากการวิเคราะห์ความสามารถทางปัญญาเพื่อระบุทักษะที่เป็นจุดแข็ง เช่น ความคิดสร้างสรรค์, ทักษะการแก้ปัญหา ช่วยให้หัวหน้างานเข้าใจและใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์โดยธรรมชาติของคนรุ่น Gen Z ได้ และเข้าใจศักยภาพของผู้สมัครได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้มอบหมายงานที่เกี่ยวข้องซึ่งสอดคล้องกับความสามารถของพวกเขาได้
นอกจากนี้ ควรประเมินบุคลิกภาพและความชอบในการทำงานของพวกเขาด้วย เช่น ชอบทำงานด้านสื่อสาร ชอบเข้าสังคม หรือชอบทำงานในพื้นที่ส่วนตัว ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานอายุน้อยบางคนอาจประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นและเป็นอิสระ มากกว่าการทำงานในกรอบงานแบบดั้งเดิม เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างสร้างสรรค์ ลดความเข้าใจผิด และเป็นการสร้างมีช่องทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพร่วมกันกับพนักงานรุ่น Gen Z