ฉีกแนวคิดเดิม Gen Z มอง เข้าออฟฟิศได้ประโยชน์ ทำงานแบบเจอหน้ากันดีกว่า
สวนทางความเชื่อเดิม พนักงานรุ่นใหม่ ชอบเข้าออฟฟิศ ทำงานแบบเจอหน้ากันดีกว่า ยืนยันจากผลสำรวจแนวโน้มตลาดงานในสหรัฐอเมริกาของ Joblist เผย คนกลุ่ม Gen Z มากถึง 57% ชอบทำงานแบบพบหน้ากันที่ออฟฟิศ
KEY
POINTS
- ผลสำรวจเผย Gen Z บางส่วน ประมาณ 57% ชอบทำงานแบบพบหน้ากันที่ออฟฟิศ และมีเพียง 27% เท่านั้นที่ชอบงานแบบระยะไกล (Remote work)
- วัยทำงานคนรุ่นใหม่ยอมรับว่า การทำงานแบบพบหน้ากันมีประโยชน์มากมาย เช่น ได้เชื่อมต่อทางสังคม, ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, ได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่สำคัญต่อความก้าวหน้าทางอาชีพ
- วัยทำงานที่ “ทำงานในออฟฟิศ” คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70-80% ของคนงานทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่จำเป็นอย่างแท้จริง ได้แก่ เจ้าหน้าที่กู้ภัย แพทย์ พยาบาล ครู เกษตรกร นักบำบัด พนักงานบริการอาหารและที่พัก ฯลฯ
ที่ผ่านมามีผลสำรวจและการศึกษาหลายชิ้นต่างก็รายงานตรงกันว่า วัยทำงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ต้องการทำงานยืดหยุ่นมากกว่าการเข้ามาทำงานในออฟฟิศเต็มเวลา และหากบริษัทใช้คำสั่งให้กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเต็มสัปดาห์ ก็มักจะวางแผนหางานใหม่ แต่รู้หรือไม่? นั่นไม่ใช่ความจริงเสมอไป เมื่อมีรายงานบางชิ้นชี้ว่า Gen Z นี่แหละที่ชอบเข้าออฟฟิศไปทำงานมากกว่าเจนอื่นด้วยซ้ำ
ยืนยันจากผลสำรวจแนวโน้มตลาดงานในสหรัฐอเมริกาประจำปี 2023 ของ Joblist รายงานว่า คนกลุ่ม Gen Z ร้อยละ 57 ชอบงานแบบพบหน้ากันที่ออฟฟิศ และมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่ชอบงานแบบระยะไกล (Remote work)
แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่ Gen Z ส่วนใหญ่ต้องการตัวเลือกในการทำงานจากระยะไกล แต่ข้อมูลจากรายงานฉบับข้างต้นพบว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ชอบทำงานในออฟฟิศหรือที่ทำงาน เนื่องจากพวกเขารู้สึกดีเมื่อได้ติดต่องานกับมนุษย์จริงๆ แบบตัวต่อตัว มากกว่าการสื่อสารผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม
คนรุ่นใหม่ยอมรับว่า การทำงานแบบพบหน้ากันมีประโยชน์มากกว่า
พนักงาน Gen Z คนหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ (ไม่เปิดเผยชื่อ) ได้สะท้อนความเห็นว่า “คนในสังคมทำงานทั่วไปมักเข้าใจว่าคนรุ่น Gen Z ต้องการทำงานจากระยะไกลตลอดเวลา ซึ่งสำหรับตนแล้ว นั่นไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เนื่องจากตนเองต้องการพบปะผู้คน สร้างเครือข่าย และมีการเชื่อมต่อทางสังคมในการทำงานในชีวิตจริงมากกว่า”
นอกจากนี้ข้อมูลในภาพรวมของรายงานดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่า คนรุ่น Gen Z ส่วนใหญ่มีเข้าใจได้ว่า การพัฒนาความสัมพันธ์แบบพบหน้ากันนั้นมีประโยชน์มากมาย ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สุดที่เพิ่งเข้ามาในตลาดแรงงาน พวกเขาจึงเข้าใจดีว่า การพัฒนาความสัมพันธ์เหล่านี้มักจะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนักหากคุณเลืกที่จะติดต่อกับคนอื่นผ่านหน้าจอเท่านั้น
Gen Z เป็นกลุ่มคนดิจิทัลกลุ่มแรกที่เติบโตมาพร้อมกับ “เทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่” การพูดคุยสื่อสารมักจะต้องก้มหน้าคุยผ่านหน้าจออุปกรณ์ แทนที่จะเงยหน้าคุยกันแบบตัวต่อตัว จึงไม่แปลกที่คนรุ่นนี้จะถูกมองว่าชอบสื่อสารหรือทำงานผ่านอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้มากกว่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบแบบนั้น คนรุ่น Gen Z จำนวนไม่น้อยที่ชอบทำงานแบบเจอหน้ากัน หรือชอบทำงานในสายงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานนั่งโต๊ะ (White Collar) มากกว่า
วัยทำงานที่ “ทำงานในออฟฟิศ” ในสหรัฐ มีมากถึง 80%
ในสหรัฐอเมริกามีกลุ่มวัยทำงานที่ “ทำงานในออฟฟิศ” คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70-80% ของคนงานทั้งหมดในสหรัฐฯ จากการประมาณการบางส่วน โดยผู้คนในอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็น “คนงานที่จำเป็น” ของอเมริกาอย่างแท้จริง ได้แก่ เจ้าหน้าที่กู้ภัย พนักงานบริการอาหารและที่พัก แพทย์ พยาบาล ครู เกษตรกร นักบำบัด ช่างเทคนิคการแพทย์ ผู้ช่วยดูแลสุขภาพที่บ้าน พนักงานสายการบิน พนักงานขนส่งสาธารณะ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ คนงานบำรุงรักษา และอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจัยอีกข้อหนึ่งคือ ยุคนี้ค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยพุ่งสูงและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง คนรุ่น Gen Z บางคนจึงเลือกไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ไม่สนวุฒิปริญญาตรี และมุ่งไปทำงานในสาขาวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางงานปฏิบัติหรืองานฝีมือทางช่างเทคนิค ช่างเครื่องจักร หรืองานช่างอื่นๆ มากกว่า
อีกทั้งในภาพรวมของตลาดงานกลุ่มงานนั่งโต๊ะ (White Collar) ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าคาดว่าหลายบริษัทจะเริ่มใช้คำสั่ง RTO เรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลามากขึ้น อย่างเช่นกรณีของ Amazon ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เพิ่งจะมีประกาศ (ณ กันยายน 2567) ให้พนักงานเข้าออฟฟิศห้าวันต่อสัปดาห์ โดยจะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 มีการชี้แจงว่า เป็นความจำเป็นในการรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอย่าง จูเลีย ดาร์ (Julia Dhar) หัวหน้าแล็ปปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรมของเมือง Boston ยังคงมองว่า การทำงานทางไกลและแบบผสมผสานจะคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจะมีคนทำงานทางไกลน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่วัยทำงานหลายรุ่นยังคงต้องการรักษาตัวเลือกนั้นไว้ เพราะยังคงมีประโยชน์ต่อการทำงานบางอย่าง
คาดการณ์โลกการทำงานในปี 2030 Gen Z จะเข้าสู่ตลาดงานมากถึง 50 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ จูเลีย ดาร์ ยังคาดการณ์ว่าในอนาคต ฉากทัศน์โลกการทำงานจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะในกรณีของการเปลี่ยนผ่านเจนเนอเรชันของพนักงานในองค์กร คนรุ่นเก่าทยอยเกษียณออกไปคนรุ่นใหม่ Gen Z เข้ามาแทนที่มากขึ้น โดยเธอสรุปภาพรวมออกมา 3 ข้อ ได้แก่
1. ในอีก 5 ปีข้างหน้า แรงงานชาวอเมริกันทั้งเพศชายและหญิงในกลุ่ม “เจเนอเรชัน Z” จะอยู่ในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50 ล้านคน อาจมี Gen Z หลายคนก้าวขึ้นสู่สายงานบริหารแล้ว ตามการคาดการณ์ของ สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ชี้ว่า ในปี 2030 หรืออีกเพียง 5 ปีจากนี้ พนักงานกลุ่ม Gen Z จะครองตำแหน่งงานในสหรัฐฯ ประมาณ 50 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของแรงงานอเมริกันทั้งหมด
2. คนรุ่นดิจิทัลเหล่านี้เติบโตมากับปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และความก้าวหน้าอื่นๆ ในยุคดิจิทัล พวกเขาได้เรียนรู้ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ว่า งานส่วนใหญ่ที่ทำกันตามแบบแผนในออฟฟิศ สามารถทำได้จากเกือบทุกสถานที่ โดยใช้อุปกรณ์จำนวนเท่าใดก็ได้ และในทุกเวลาของวัน
3. ยังมี Gen Z บางส่วนต้องการอิสระในการทำงานจากระยะไกล แต่พวกเขาอีกส่วนหนึ่งต้องการการติดต่อ การเชื่อมต่อ และการทำงานร่วมกันแบบมนุษย์สัมพันธ์ในแบบที่ออฟฟิศมอบให้