ผู้นำมือใหม่หากอยากได้ความเคารพ ต้องรู้จักให้ ไม่นินทา มีความเป็นมืออาชีพ

ผู้นำมือใหม่หากอยากได้ความเคารพ ต้องรู้จักให้ ไม่นินทา มีความเป็นมืออาชีพ

ผู้เชี่ยวชาญ LinkedIn แนะ ‘ผู้นำมือใหม่’ หรือผู้นำอายุน้อย Gen Z ที่อยากได้ความเคารพนับถือจากคนรอบข้าง ต้องรู้จักให้ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นินทา โชว์ความเป็นมืออาชีพ

KEY

POINTS

  • ในสายตาของเพื่อนร่วมงาน ผู้นำอายุน้อยรุ่น Gen Z อาจยังไม่มีวัยวุฒิคุณวุฒิเพียงพอ ไม่ว่าจะดำเนินการอะไร ขอความร่วมมือเรื่องไหน ก็มักจะมีปัญหาเข้ามาบั่นทอน กลายเป็นประสบการณ์อันขมขื่นในที่ทำงาน
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำจาก LinkedIn แนะนำว่า ผู้นำมือใหม่ ควรใช้กรอบการทำงานแบบ Give-Resist-Exude เพื่อก่อให้เกิดความเคารพนับถือกันในองค์กร
  • แนวคิดหลักๆ ของกรอบการทำงานนี้คือ การรู้จักให้ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นินทา แสดงออกถึงความเป็นมือาชีพและโปร่งใส

การเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องง่าย! บุคคลที่สวมหมวกใบนี้ย่อมหนีไม่พ้นแรงกดดันที่พุ่งเข้ามาทุกทิศทาง ทั้งจากผู้บริหารระดับสูงด้วยกันเอง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และจากลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา สกอตต์ มอตซ์ (Scott Mautz) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำจาก LinkedIn Learning และในฐานะอดีตผู้บริหารระดับสูงของ Procter & Gamble บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก อธิบายว่า เนื่องจากผู้นำต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ละเรื่องก็ล้วนซับซ้อนและมีความเสี่ยง 

หากคุณเป็นผู้นำที่ถูกยอมรับและได้รับความนับถือจากคนรอบข้าง ย่อมมีคนช่วยซัพพอร์ตทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าพบว่าคุณเป็นผู้นำที่ไม่ได้รับความเคารพในที่ทำงาน โดยเฉพาะผู้นำรุ่นใหม่อายุน้อย ที่อาจยังไม่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเพียงพอในสายตาของเพื่อนร่วมงาน บางครั้งไม่ว่าจะดำเนินการอะไร ขอความร่วมมือเรื่องไหน ก็มักจะมีปัญหาเข้ามาบั่นทอน กลายเป็นประสบการณ์อันขมขื่นในที่ทำงาน การงานต่างๆ อาจพังทลายลงอย่างรวดเร็วจนรู้สึกอยากลาออกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากคุณอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ หรือกังวลว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปกว่าเดิม การเปลี่ยนงานก็อาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก ควรทราบว่าคุณสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ นำมาซึ่งการได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ และลูกน้อง

ผู้นำมือใหม่หากอยากได้ความเคารพ ต้องรู้จักให้ ไม่นินทา มีความเป็นมืออาชีพ

มอตซ์แนะนำให้ ‘ผู้นำมือใหม่’ เริ่มต้นด้วยการถามตัวเองด้วยคำถามสำคัญเหล่านี้ 
ฉันจะ “ให้” สิ่งใดบ้างเพื่อให้ได้รับความเคารพ?
ฉันจะ “ไม่ทำ” สิ่งใดบ้างเพื่อให้ได้รับความเคารพ?
ฉันจะ “แสดงออก” อะไรได้บ้างเพื่อให้ได้รับความเคารพ?

สิ่งนี้เรียกว่ากรอบการทำงานแบบ “Give-Resist-Exude” เป็นแนวทางการทำงานเพื่อก่อให้เกิดความเคารพนับถือกันในองค์กร มอตซ์บอกว่าเขาสอนเรื่องกรอบการทำงานนี้มาหลายสิบปีแล้ว และมันได้ผล! การที่จะได้รับความเคารพจากผู้อื่น ต้องอาศัยความแข็งแกร่งทางจิตใจและความอดทนควบคู่กัน กรอบการทำงานนี้จะช่วยฝึกฝนให้ผู้นำมือใหม่พัฒนาตัวเองได้ถูกทิศทางมากขึ้น โดยเริ่มฝึกจากหลักสามข้อดังนี้

สร้างนิสัยการให้มากกว่ารับ คนทั้งโลกชื่นชมสิ่งนี้มากที่สุด

1. จงให้เวลาและความรู้ของคุณอย่างไม่เห็นแก่ตัว 

เพื่อช่วยให้ผู้อื่นแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรค และก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพื่อนร่วมงานของคุณรู้สึกประหม่าเกี่ยวกับการนำเสนอโปรเจกต์ใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น เพราะเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง หากคุณบังเอิญพูดในที่สาธารณะเก่งคุณก็ช่วยฝึกฝนพวกเขา

2. พยายามกระตุ้นให้คนในทีมทุ่มเทมากขึ้นอีก 10% เสมอ 

ลองนึกถึงบาริสต้าที่ยิ้มแย้มหรือพนักงานเสิร์ฟที่ทำงานหนัก คุณเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นทุ่มเทในงานอย่างเต็มที่ คุณก็อดไม่ได้ที่จะเคารพพวกเขาแน่นอน ให้ทำแบบเดียวกันนี้ในทีมของคุณ 

3. ชื่นชมและให้เครดิตอย่างเต็มใจกับความสำเร็จของลูกน้อง 

การวิจัยหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการแสดงความขอบคุณต่อสิ่งรอบข้างมีผลเชิงบวกอย่างมากต่อผู้อื่น ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาชื่นชมและเคารพคุณมากขึ้น

4. แบ่งปันมุมมองของคุณและสนับสนุนด้วยข้อมูล 

ควรสละเวลาให้คำแนะนำหรือสอนงานลูกน้อง จำไว้ว่าข้อเสนอแนะที่เจาะจงจะน่าเชื่อถือ จะมีความหมายมากกว่าข้อเสนอแนะที่คลุมเครือ อีกทั้งควรความเคารพต่อผู้อื่นก่อนเสมอ ช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้อื่นจะแสดงความเคารพกลับคืนมาเช่นกัน

ผู้นำมือใหม่หากอยากได้ความเคารพ ต้องรู้จักให้ ไม่นินทา มีความเป็นมืออาชีพ

ต่อต้านความไม่ถูกต้อง และไม่ทำพฤติกรรมที่บั่นทอนการทำงาน

1. อย่ารับเครดิตเอาไว้คนเดียว 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องพลีชีพรับความผิดเอาไว้เองเช่นกัน เมื่องานประสบความสำเร็จให้แชร์ว่าใครทำอะไรเบื้องหลังความสำเร็จนั้น ให้พูดถึงพวกเขา ไม่ใช่พูดถึงตัวเอง ผู้คนจะเคารพคุณมากขึ้นเมื่อคุณให้แสงส่องไปที่คนอื่นบ้าง แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดก็ค่อยๆ หาทางแก้ไขร่วมกัน

2. หลีกเลี่ยงการนินทาเพื่อนร่วมงาน 

แต่ควรพูดถึงในแง่มุมบวกแทน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีโอกาสคุยโม้เกี่ยวกับสิ่งดีๆ ที่เพื่อนร่วมงานทำ ก็ให้คุยโม้ไปเถอะ ไม่เพียงส่งผลดีต่อวัฒนธรรมองค์กรเท่านั้น แต่ยังทำให้คนๆ นั้นได้รู้ว่าคุณพูดถึงเขาในแง่บวกด้วย วิธีนี้จะทำให้คุณได้รับความเคารพเพิ่มขึ้นไปอีก

3. อย่าปล่อยให้ความคิดด้านลบเข้ามาครอบงำ 

การมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน (ก็เพราะโลกนี้มันแย่และแตกแยกกันอยู่เสมอ ไม่แปลกที่ผู้คนมักมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน) โปรดจำไว้ว่าการมองโลกในแง่ดี จะผลักดันความก้าวหน้าและมักจะทำให้คุณโดดเด่นออกมาและทำให้ได้รับการชื่นชม

ผู้นำมือใหม่หากอยากได้ความเคารพ ต้องรู้จักให้ ไม่นินทา มีความเป็นมืออาชีพ

แสดงออกและเผยแพร่ทัศนคติที่ดี โปร่งใส เป็นมืออาชีพ

1. โชว์ความเป็นมืออาชีพและความเชี่ยวชาญ 

แสดงให้เห็นว่าคุณทำการบ้านมาดีแล้วเสมอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณรู้ว่าใครคือผู้ฟังของคุณ พวกเขาต้องรู้อะไร จะได้รับประโยชน์อะไร และคุณวางแผนจะนำเสนอสิ่งเหล่านั้นให้พวกเขาอย่างไร 

2. ความโปร่งใส

ไม่มีอะไรที่จะทำให้น่าเชื่อถือไปมากว่าความโปร่งใส มนุษย์เข้าใจเรื่องนี้ดี เมื่อคุณไม่ซื่อสัตย์ ความไว้วางใจจะหมดไป และความเคารพก็จะหายไปด้วย ดังนั้นจงซื่อสัตย์ เปิดเผยเหตุผลที่คุณตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แชร์ข้อเสนอแนะ และทำงานโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น 

3. ความจริงใจ

ผู้คนต้องการทำงานกับคนที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นจงแสดงออกด้วยความซื่อสัตย์ ซื่อตรง และถ่อมตน ประพฤติตนด้วยความจริงใจและเข้าถึงได้ ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมของคุณ

4. แสดงความรับผิดชอบด้วยความเห็นอกเห็นใจ

เมื่อใครสักคนทำผิดพลาด เรามักจะตำหนิหรือแสดงท่าทีที่รุนแรง แต่ก่อนจะปล่อยให้อารมณ์เหนือเหตุผล ควรเย็นใจๆ เข้าไว้ แล้วรับผิดชอบปัญหาร่วมกัน แก้ไขร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา

5. ความมั่นใจและความร่วมมือ

เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นว่าส่วนรวมจะยิ่งใหญ่ขึ้นได้ด้วยผลงานของหลายๆ ภาคส่วนรวมกัน ไม่ใช่จากผลงานของคนๆ เดียว การแสดงให้เห็นถึงความสมดุลนี้ จะเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดความเคารพนับถือมาสู่ตัวคุณเองโดยที่ไม่ต้องพยายามเลย