ผู้นำระวังกับดัก CEO Disease ภัยความมั่นเกินเบอร์ อาจทำองค์กรเสียหาย
“CEO Disease” กับดักภัยความมั่น “ผู้นำ” ที่มีความมั่นใจมากเกินไป ปฏิเสธคำวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ อาจส่งผลให้ขาดการตระหนักรู้ในตนเองจนทำองค์กรเสียหาย
KEY
POINTS
- ผู้นำที่เข้าข่าย CEO Disease มักเชื่อว่าตนเองรู้ทุกอย่าง และพวกเขาก็มักจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะพูดแต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้ยิน
- เมื่อมีแต่คนเห็นด้วยและชื่นชมในวิธีทำงาน มันอาจทำให้ผู้นำรู้สึกพึงพอใจ แต่ในความเป็นจริงคือ สิ่งนี้สามารถสร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานได้อย่างเหลือเชื่อ
- วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ติดกับดัก CEO Disease กุญแจสำคัญ คือ “การมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและเปิดรับคำติชม” ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็น “ผู้นำ” ที่เก่งและประสบความสำเร็จแค่ไหน ก็สามารถตกจากบัลลังก์แห่งความสำเร็จได้ หากติดกับดัก “มั่นใจในตนเองมากเกินไป” ใครเตือนในสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดก็มักจะไม่ฟัง เลือกฟังแต่คนที่พร้อมจะอวยไปกับทุกเรื่อง จนมองไม่เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรม อาการหรือพฤติกรรมแบบนี้ถูกนิยามว่า “CEO Disease” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้นำองค์กรทุกคน แต่อยู่ที่ว่าใครจะรู้ตัวเร็วและดึงตัวเองกลับมาได้ทันท่วงที
CEO Disease คือ ผู้นำที่เผลอมั่นใจมากเกินไป ขาดการตระหนักรู้ในตนเอง จนไม่รับฟังคำเตือนที่คิดต่าง
ไบรอัน ไอส์เบรนเนอร์ จาก The CEO Business Coach อ้างถึงข้อมูลบางช่วงบางตอนในหนังสือ Mindset ซึ่งเขียนโดย แครอล ดเว็ก ซึ่งอธิบายภาวะ CEO Disease ไว้ว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีความมั่นใจและแสดงออกถึงการควบคุมดูแลทุกอย่างได้ แต่บางครั้งความมั่นใจนั้นอาจกลายเป็นความเย่อหยิ่ง และปฏิเสธที่จะรับฟังคำติชมเชิงวิพากษ์วิจารณ์
ผู้นำที่มีพฤติกรรมแบบ CEO Disease มักเชื่อว่าตนเองรู้ทุกอย่าง ขณะเดียวกันพวกเขาก็มักจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่จะบอกเฉพาะสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยินเท่านั้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การขาดความรับผิดชอบและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แม้ว่ามันอาจจะทำให้ผู้นำรู้สึกพึงพอใจ เนื่องจากรอบตัวมีแต่คนอวย คอยเห็นด้วยกับทุกอย่างที่คิดและทำ แต่ในความเป็นจริงคือ มันสามารถสร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานได้อย่างเหลือเชื่อ
ยกตัวอย่างผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่เผลอติดกับดัก CEO Disease ก็คือ “ลี ไอเอคอคคา” (Lee Iacocca) เจ้าพ่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ เคยเป็นอดีตซีอีโอของบริษัทยานยนต์ Chrysler ซึ่งในแวดวงนักธุรกิจเขาเป็นที่รู้จักในนามของผู้นำที่กล้าหาญและมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพลิกฟื้นบริษัทยานยนต์แห่งนี้ที่เกือบจะล้มละลายให้กลับมาทำกำไรได้
อย่างไรก็ตาม มีอยู่ช่วงหนึ่งในการบริหารงานของเขาที่เขามั่นใจในความสามารถของตัวเองมากเกินไป เขาเริ่มเชื่อว่าเขาพูดถูกเสมอ และรายล้อมไปด้วยลูกน้องและทีมที่คอยคล้อยตามความคิดเขา และไม่ท้าทายเขา เป็นผลให้เขาไม่อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่คิดต่าง และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ในที่สุดบริษัทไครสเลอร์ก็ประสบปัญหาทางการเงิน และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุด ก็เผลอติดกับดัก CEO Disease ได้ ต้องระวัง!
บทเรียนนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้แต่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็ยังตกเป็นเหยื่อของ CEO Disease ได้ แล้วจะมีวิธีหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ได้อย่างไร? ไอส์เบรนเนอร์ ให้คำตอบว่า กุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ “การมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและเปิดรับคำติชม” ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ตาม
อีกอย่างที่สำคัญคือ คุณต้องเป็นผู้นำที่เอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่จะท้าทายคุณ และทำให้คุณตระหนักรู้ตนเองตามความเป็นจริง วิธีนี้จะช่วยให้คุณยึดมั่นในหลักการ และป้องกันไม่ให้คุณทำผิดพลาดครั้งใหญ่ซึ่งมักจะตามมาด้วยบทเรียนราคาแพงเสมอ
ดังนั้น หากคุณเป็นผู้นำทางธุรกิจ อย่าลืมรักษาความถ่อมตัวเอาไว้กับตัวเสมอ และรับฟังคำติชมอย่างมีวิจารณญาณ หากพบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะ CEO Disease ให้มองหาการช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่อาจต้องพูดแรงๆ ตรงๆ กับคุณ แต่ก็จะสามารถดึงคุณกลับมาสู่เส้นทางเดิมได้ ด้วยกรอบความคิดที่ถูกต้องและอยู่ในมุมมองตามความเป็นจริง
นักจิตวิทยา ชี้ มีผู้คนเพียง 10-15% เท่านั้นที่ตระหนักรู้ในตนเองจริงๆ ส่วนใหญ่มักจะคิดไปเอง
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลจาก ดร.ทาชา ยูริช นักจิตวิทยาองค์กร ที่บอกเล่าถึงการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าตระหนักรู้ในตนเอง แต่จริงๆ แล้วมีเพียง 10-15% เท่านั้นที่ตระหนักรู้ในตนเองจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งเราไต่เต้าการทำงานขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ขององค์กรได้มากเท่าใด เราก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการตระหนักรู้มากขึ้นเท่านั้น นำไปสู่การติดกับดัก CEO Disease
ยิ่งผู้นำที่มีประสบการณ์หรืออายุงานมากๆ จะเผลอคิดว่าตัวเองรู้เยอะไปหมด สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การรู้สึกมั่นใจมากเกินไปเกี่ยวกับระดับความรู้ในตนเอง ดร.ทาชา ย้ำว่า การเป็นผู้นำหรือผู้บริหารธุรกิจนั้น “การตระหนักรู้ในตนเอง” เป็นสิ่งสำคัญ เธอพบว่าบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีนั้น มักจะมีผู้นำที่ตระหนักรู้ในตนเองสูง
ทั้งนี้ หากผู้นำกำลังมองหากลยุทธ์หรือวิธีที่จะช่วยให้ตนเองหลีกเลี่ยงกับดัก CEO Disease และยังสามารถปลูกฝังความรู้สึกตระหนักรู้ในตนเองได้ดีขึ้น ลองนำคำแนะนำของเธอไปปรับใช้ ดังนี้
ผู้นำต้องตรวจสอบตนเองเสมอ ฝึกฝนทักษาะการตระหนักรู้ในตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ CEO Disease
1. เปิดช่องทางให้คนอื่นฟีดแบคความเห็น-ความรู้สึก กลับมายังผู้นำได้หลากหลายช่องทาง
ก่อนอื่น เมื่อเราพูดถึง “การตระหนักรู้ในตนเอง” เรากำลังหมายถึง วิธีที่เราเห็นตัวเองและรับรู้สภาวะทางอารมณ์ของเราในช่วงเวลาใดก็ตาม นอกจากนี้ยังหมายถึง การปรับให้วิธีการมองตัวเราเข้ากับวิธีที่คนอื่นมองเราด้วย ความคิดเห็นจากคนอื่นๆ รอบตัว จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบรรลุการตระหนักรู้ในตนเองได้อย่างดี
ทั้งนี้ การเปิดรับฟีดแบคความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงาน-ผู้ใต้บังคับบัญชา ควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แทนที่จะทำเพียงปีละครั้งอย่างเคร่งเครียด ยกตัวอย่าง บริษัทฮาร์ดแวร์ Screwfix ที่ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างช่องทางการสื่อสารเพื่อฟีดแบคกันและกันแบบไปและกลับ (two-way channels) กล่าวคือ ผู้จัดการจะให้คำติชมแก่พนักงาน และในทางกลับกัน พนักงานก็จะให้คำติชมแก่ผู้จัดการเป็นประจำด้วย
แนวทางปฏิบัติดังกล่าวของบริษัท Screwfix นำไปสู่ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่เกิดจากตัวพนักงานในองค์กรเอง และไอเดียเหล่านั้นถูกนำมาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น นี่เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้นำ หัวหน้างาน และพนักงานในการทำความเข้าใจว่าผู้อื่นมองพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถทำลายอุปสรรคที่เคยปิดกั้นฟีดแบคไม่ให้ส่งถึงผู้นำ แต่ด้วยวิธีนี้ช่วยให้ส่งฟีดแบคไปถึงผู้นำได้โดยตรง
2. ถามตัวเองด้วยคำว่า “อะไร” แทนคำว่า “ทำไม”
บางครั้งการคิดใคร่ครวญมากเกินไป อาจนำไปสู่การขาดการตระหนักรู้ในตนเองได้ เพราะมักจะนำไปสู่การครุ่นคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำจมอยู่กับความคิดที่ไม่มีประโยชน์และอาจทำให้หลงทาง โดยที่ไม่สูญเสียการตระหนักรู้ในตนเอง นักจิตวิทยาองค์กรแนะนำว่าให้เริ่มจาก ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของตนเองอย่างละเอียดอ่อน โดยการถามตัวเองด้วยคำว่า “อะไร” แทนที่จะถามด้วยคำว่า “ทำไม”
เธออธิบายว่า การถามด้วยคำว่า อะไร จะช่วยให้เราจดจ่อกับเป้าประสงค์ มุ่งสนใจไปที่อนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างมุมมองใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามตัวเองว่า “ทำไมฉันถึงรู้สึกแย่มากหลังการประชุม?” ให้เปลี่ยนมาถามตัวเองว่า “อะไรมักจะเกิดขึ้นระหว่างการประชุมที่ทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีแบบนั้น? ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน?” สิ่งนี้จะช่วยให้คุณวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น
3. ฝึกการไตร่ตรองตนเองเป็นประจำ ด้วยการนั่งสมาธิหรือจดบันทึก
การปลูกฝังการตระหนักรู้ในตนเองให้มากขึ้นนั้น สามารถเกิดขึ้นในระดับบุคคล โดยการสร้างแนวทางปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อการไตร่ตรองตนเอง ตัวอย่างเช่น คุณสามารถลองนั่งสมาธิ หรือเพียงแค่นั่งนิ่งๆ แล้วมองตัวเองในกระจกก็ได้ จากนั้นให้ติดตามความสนใจและอารมณ์ของคุณ ณ ขณะนั้น หรือการจดบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้ สิ่งนี้จะช่วยให้ดึงสติให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เมื่อมีสติก็จะทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้เฉียบคมมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจาก เซเลสเต้ วิเซียร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่มีใบอนุญาตซึ่งได้ให้ข้อมูลผ่าน NBC ไว้ว่า “ในขณะที่คุณกำลังเขียนบันทึก ให้ใส่ใจกับวันนั้นๆ ของคุณ ถามตัวเองว่าคุณรู้สึกอย่างไร หากมีความรู้สึกด้านลบเกี่ยวข้องกับวันนั้น ให้คิดถึงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้คุณมีความรู้สึกเชิงบวกเข้ามาทดแทน เช่น ให้คิดถึงสิ่งที่อาจทำให้คุณรู้สึกมีความสุข เป็นต้น” เมื่อชะล้างความคิดเชิงลบออกไปได้ ก็จะทำให้สมองปรอดโปร่งมากขึ้น และสามารถไตร่ตรองตนเองได้ตามความเป็นจริงได้มากขึ้นนั่นเอง