เปิดแนวคิด ‘กระจก 6 ด้าน’ ผู้นำที่ดี จะไม่มองข้ามฟีดแบ็กจากคนรอบข้าง
รู้จักแนวคิด "กระจก 6 ด้าน" หลักการพัฒนาตนเอง โดยให้คนรอบข้างช่วยเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของเรา ส่งผลดีต่อผลงาน และ Productivity มากกว่าที่คิด ฝึกฝนได้ทั้งระดับผู้นำและผู้ตาม
KEY
POINTS
- หากอยากพัฒนาตนเองให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องรู้จักทบทวนตัวเอง และขอฟีดแบ็กจากคนอื่นๆ รอบข้าง
- เหมือนการนำกระจก 6 บาน มาช่วยสะท้อนให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เพื่อขจัดอคติส่วนตัว ก่อให้เกิดการร่วมงานกันเป็นทีม และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
- กระจกบานที่ 6 สำคัญที่สุดในโลกการทำงานยุคดิจิทัล เป็นบานที่ให้ลูกค้าฟีดแบ็กการทำงานขององค์กร หากองค์กรทำได้ดี ก็จะมีความได้เปรียบและเติบโตอย่างยั่งยืน
ไม่มีใครอยากให้งานออกมาแย่ แต่บางครั้งการทำงานโดยมองจากมุมมองของตัวเองคนเดียว อาจไม่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นได้ หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ “ผู้นำ” และวัยทำงานทุกระดับ สามารถพัฒนาตนเองให้ทำงานได้ดีขึ้นไปได้อีกขั้นก็คือ "การให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ตัวเองและขอฟีดแบ็กจากคนรอบข้าง" ในทุกมิติ
เปรียบเหมือนการนำกระจก 6 บานมาสะท้อนตัวเราให้รอบทั้ง 6 ทิศ เพื่อหาจุดบกพร่องแล้วแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะบางครั้งหากใช้แค่สายตาตัวเองมอง เราอาจไม่เห็นจุดบกพร่องได้ครบถ้วนทั้งหมด
อนิรุทธิ์ ตุลสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปริญญาโทจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่าน Coach For Goal เกี่ยวกับแนวคิดนี้ไว้ว่า ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำองค์กร ผู้จัดการ หรือระดับปฏิบัติการก็ตาม หากมองแต่ผลงานตัวเองแล้วพอใจกับตัวเองอยู่คนเดียว อาจพูดไม่ได้ว่างานนั้นเป็นงานที่ดีจริงๆ
เนื่องจากบางครั้งคนเรามักจะมีอคติเข้าข้างตัวเองแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น หากอยากให้ออกมาดีจริงๆ มีประสิทธิภาพจริงๆ เราต้องรู้จักขอฟีดแบ็กหรือข้อเสนอแนะจากคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่รอบข้างด้วย เหมือนการนำกระจก 6 ด้าน มาช่วยสะท้อนให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เพื่อขจัดอคติส่วนตัว ก่อให้เกิดการร่วมงานกันเป็นทีม และเกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งถือเป็นการพัฒนาตัวเองได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ กระจก 6 ด้านหรือกระจก 6 บานที่เราควรให้ทั้งตนเอง และคนอื่นช่วยส่องสะท้อนตัวเราหรือผลงานของเรา (ขอฟีดแบ็ก) แบ่งเป็น 6 กลุ่มคน ดังนี้
กระจกบานที่ 1 : ภาพสะท้อนจากมุมมองของเราเอง
กระจกบานนี้เป็นกระจกที่อยู่ตรงหน้าตัวเรา ซึ่งคิดว่าทุกคนก็มองดูตัวเองเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า มุมที่เรามองหรือมุมที่เราเห็นอาจไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง และมักเห็นภาพสะท้อนที่บิดเบือนอยู่เสมอ
ดังนั้น ครั้งหน้าเวลาเรามองดูการทำงานของตัวเอง อ.อนิรุทธิ์ แนะนำให้มองเพื่อทบทวนตัวเองเสมอ (Self-Review) โดยมองให้ตรงตามความจริง ซึ่งจะทำให้มองเห็นคุณภาพงาน (Quality of work) ของตัวเองว่ามีความสามารถแค่ไหน และเห็นคุณภาพชีวิต (Quality of life) ของเราว่างานที่ทำอยู่นั้น ตอบโจทย์จุดมุ่งหมายในชีวิตมากเพียงใด
กระจกบานที่ 2 : มุมมองสะท้อนจากผู้บังคับบัญชา
การขอฟีดแบ็กจากหัวหน้างานจะทำให้เราเห็นว่า งานที่ทำนั้นส่งผลต่อเป้าหมายของทีมแค่ไหน และมีจุดใดที่เราต้องพัฒนาปรับปรุงเพิ่ม (เพื่อเป็น Career Development) นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามองเห็นอนาคตของตวเองได้ด้วยว่าจะอยู่รอดในองค์กรได้หรือไม่
กระจกบานที่ 3 : ภาพสะท้อนจากลูกน้อง
สำหรับคนที่เป็นผู้นำองค์กร หรือหัวหน้างาน การขอฟีดแบ็กการทำงานของคุณผ่านมุมมอง “ลูกน้อง” เราจะได้เห็นภาพของภาวะผู้นำของตัวเรา (Leadership) ได้ชัดเจนขึ้นว่าเราเป็นเพียง ผู้จัดการที่ลูกน้องเดินตามเพราะกลัวซวยหรือกลัวโดนตำหนิหากแตกแถว หรือเราเป็นผู้นำที่แท้จริง ที่ผู้คนยอมเดินตามด้วยความเต็มใจ
กระจกบานที่ 4 : ภาพสะท้อนจากเพื่อนร่วมงาน
การขอฟีดแบ็กจากเพื่อนร่วมงาน จะทำให้เรามองเห็นถึงความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคุณ (Relationship) กับผู้อื่นว่าเมื่อต้องทำงานภายใต้แรงกดดันแล้ว คุณยังรักษาประสิทธิภาพของงานไว้ได้หรือไม่ หรือผลงานถูกทำลายลงไปหมดจากความประมาทเลินเล่อในการทำงาน
กระจกบานที่ 5 : มุมมองสะท้อนจากเพื่อนต่างแผนก
ลองให้เพื่อนในแผนกอื่นที่เราต้องมีการประสานงานด้วย มาพูดฟีดแบ็กการทำงานของเราให้เราฟัง สิ่งนี้จะทำให้เราเห็นภาพของความมีวุฒิภาวะ (Maturity) และวิสัยทัศน์ (Vision) ของตัวเอง เพราะในการประสานงานแบบ cross-function นั้น คนที่ทำได้ดี จะมองการณ์ไกล เห็นว่าเป้าหมายร่วมของทุกแผนกคืออะไร และต้องร่วมมือกันอย่างไร จึงจะประสานการทำงานทุกฝ่ายได้ อีกทั้งทำให้มองเห็นว่าเรายอมลดอีโก้ (Ego) เพื่อส่วนรวมได้ไหม กระจกบานนี้จึงช่วยสะท้อนวุฒิภาวะได้ด้วย
กระจกบานที่ 6 : ภาพสะท้อนจากลูกค้า
การขอให้ลูกค้าฟีดแบ็กการทำงานของเรา ทีมของเรา องค์กรของเรา จะทำให้มองเห็นภาพของคุณค่า (Values) ที่เราได้ส่งมอบออกไป ทำให้รู้ได้ว่าลูกค้ามีความพึงพอใจ (Customer Satisfaction) ต่อองค์กรของเรามากแค่ไหน ซึ่งกระจกบานนี้สำคัญมากๆ สำหรับโลกในยุคดิจิทัล
เพราะการแพ้-ชนะในการแข่งขันทางธุรกิจของยุคนี้ อยู่ที่ว่าองค์กรตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีเพียงได้ หากทำได้ดี บริษัทก็จะมีความได้เปรียบในแง่ของการเติบโตอย่างยั่งยืนได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น Amazon หรือ Netflix ที่ใส่ใจลูกค้ามากเป็นอันดับแรก และขอฟีดแบ็กจากลูกค้าอยู่เสมอ
โดยสรุปแล้ว อ.อนิรุทธิ์ บอกว่าประโยชน์ของการใช้หลัก “กระจก 6 ด้าน” มาสะท้อนการทำงานของเราในหลายๆ ด้าน ก็เพื่อให้เราได้เห็นข้อดีข้อเสียครบทุกมุม และได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองมากที่สุด ซึ่งย่อมดีกว่าการส่องกระจกแค่บานเดียวแน่นอน
อย่างที่บอกไปว่า หากมองการทำงานตัวเองจากมุมของตัวเองคนเดียว ก็เสี่ยงจะได้ภาพสะท้อนที่ไม่ตรงความจริง ซึ่งไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะผลักให้เราคิดว่าตัวเองดีแล้วเก่งแล้ว จนไม่รู้จะไปพัฒนาตรงไหนอีก ดังนั้น ถ้าอยากพัฒนาตัวเองจริงๆ ต้องขอกระจก 6 ด้านจากคนรอบข้างมาส่องกันดีกว่า อย่ารอให้กระจกวิ่งมาหาเราเอง อาจช้าเกินไปจนปรับตัวได้ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคนี้