สายงาน ‘ผู้จัดการโปรเจกต์’ ตลาดต้องการสูง แต่ก็เสี่ยง Burnout สูงเช่นกัน
‘ผู้จัดการโปรเจกต์’ เป็นสายงานที่นายจ้างต้องการสูงถึง 25 ล้านคนภายในปี 2030 แต่กลับมีผลสำรวจจาก LinkedIn พบว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่พนักงานเผชิญภาวะ Burnout พุ่งสูงมากเช่นกัน
KEY
POINTS
- สถาบันการจัดการโครงการ (Project management Institute) รายงานว่า ในอนาคตนายจ้างจะต้องการจ้างพนักงานในตำแหน่ง ผู้จัดการโปรเจกต์ อย่างน้อย 25 ล้านคนภายในปี 2030
- แม้สายงานผู้จัดการโปรเจกต์จะเป็นที่ต้องการสูง แต่ก็พบว่าเป็นสายงานที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟสูงเช่นกัน เพราะมักต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง มีกำหนดเวลาที่เข้มงวด และต้องเป็นคนกลางในการแก้ปัญหาในโปรเจกต์
- LinkedIn สำรวจพบว่า พนักงานในสหรัฐอเมริกา 4 ใน 10 คนรู้สึกหมดไฟในการทำงาน อัตราดังกล่าวสูงขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับตำแหน่งงาน “ผู้จัดการโปรเจกต์” ซึ่งเป็นเบิร์นเอาท์พุ่งสูงถึง 50%
ไม่ว่าจะทำงานอาชีพอะไร สายงานไหน บางครั้งวัยทำงานอาจต้องเผชิญกับช่วงงานหนักหน่วงกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าเจองานหนักบ่อยๆ จนไม่ได้พักก็เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ได้ จากการสำรวจล่าสุดของ LinkedIn พบว่ามี 10 สายงานที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟมากที่สุด ซึ่งอันดับ 1 คือสายอาชีพผู้จัดการโปรเจกต์ หรือ Program and project management
สำนักข่าว CNBC Make it รายงานว่า สายงานผู้จัดการโปรเจกต์ที่มีอัตราพนักงานเป็นเบิร์นเอาท์สูงที่สุดนั้น พบว่าเป็นหนึ่งในสายงานสุดฮอตมาแรงที่บริษัทต่างๆ ต่างสนใจเปิดรับสมัครตำแหน่งงานนี้มากที่สุดในตลาดงาน
ทำไมสายงาน ผู้จัดการโปรเจกต์ จึงเป็นที่ต้องการสูงในตลาดงาน
ลิเดีย โลแกน (Lydia Logan) รองประธานฝ่ายการศึกษาโลกและการพัฒนากำลังคนของ IBM อธิบายว่า เหตุผลที่สายงานนี้กำลังเป็นที่ต้องการสูง ก็เนื่องจากว่าธุรกิจต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรม กำลังปรับตัวให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยังต้องออกแบบวิธีทำงานให้สอดคล้องกับโลกการทำงานยุคใหม่ ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลกระทบการระบาดใหญ่โควิด เพื่อต่อสู้กับความท้าทายนี้ นายจ้างจึงต้องการผู้จัดการโครงการเข้ามาทำงานในองค์กรจำนวนมาก
ขณะเดียวกันข้อมูลจาก ‘สถาบันการจัดการโครงการ (Project management Institute)’ ก็รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอนาคตคาดว่า นายจ้างจะต้องการจ้างพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการโปรเจกต์ อย่างน้อย 25 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีวัยทำงานประมาณ 2 ล้านคน เข้าสู่สายงานสาขานี้ทุกปีเพื่อให้ทันกับความต้องการขององค์กรและบริษัทต่างๆ
ยิ่งเป็นงานที่ตลาดต้องการสูง ก็ยิ่งเสี่ยงภาวะหมดไฟ ?
แม้ว่าสายอายชีพนี้จะมีความต้องการสูงในตลาดงาน พูดง่ายๆ ว่ายังไงก็ไม่มีวันตกงานแน่ๆ แต่ในอีกทางหนึ่งกลับเป็นสายงานที่คนทำงานเจอภาวะหมดไฟสูงมากเช่นกัน
โดยล่าสุด LinkedIn ได้สำรวจภาวะเบิร์นเอาท์จากกลุ่มตัวอย่างพนักงานระดับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 16,000 คนในสหรัฐอเมริกา (ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2024) พวกเขาค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า พนักงานในสหรัฐฯ 4 ใน 10 คนรู้สึกติดขัดในการทำงาน และหมดไฟในการทำงาน
อัตราดังกล่าวสูงขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับตำแหน่งงาน “ผู้จัดการโปรเจกต์” โดยพนักงานกลุ่มตัวอย่างในสาขานี้สัดส่วนสูงถึง 50% ต่างรายงานว่าตนเองรู้สึกหมดไฟในการทำงาน ในขณะที่ 1 ใน 3 ของพนักงานในสายงาน “ที่ปรึกษา อสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาธุรกิจ” รายงานว่าพวกเขารู้สึกเครียดและกำลังหมดแรงในการทำงานเช่นกัน
10 ประเภทสายงานที่มีอัตราความหมดไฟสูงสุด
ตามรายงานของ LinkedIn ได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดอันดับให้เห็นถึง 10 ประเภทสายงานที่มีอัตราความหมดไฟสูงสุด ดังนี้
อันดับ 1 ผู้จัดการโปรเจกต์ (Program and project management) 50%
อันดับ 2 ผู้บริการด้านการดูแลสุขภาพ (Health-care services) 49%
อันดับ 3 ผู้บริการชุมชนและสังคม (Community and social services) 48%
อันดับ 4 เจ้าหน้าที่รับประกันคุณภาพ (Quality assurance) 47%
อันดับ 5 เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา (Education) 45%
อันดับ 6 ผู้จัดการโปรดักต์ (Product Management) 37%
อันดับ 7 สื่อมวลชน นักการสื่อสาร (Media and Communication) 37%
อันดับ 8 ผู้ให้บริการที่ปรึกษา (Consulting) 33%
อันดับ 9 ผู้จัดการด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) 33%
อันดับ 10 นักพัฒนาธุรกิจ (Business Development) 33%
ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน มีเดดไลน์ที่เข้มงวด ยิ่งกระตุ้นให้เบิร์นเอาท์มากขึ้น
แคนดี้ วีนส์ (Kandi Wiens) ผู้อำนวยการสาขาการศึกษาทางการแพทย์หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ได้เกิดจากการทำงานเป็นเวลานานหรือการทำงานหนักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการต้องทำงานแบบ Multi-tasking หรือทำหลายๆ อย่างพร้อมกันภายใต้แรงกดดันสูง ทำให้พนักงานในสายงานเหล่านั้นมีความเครียดสูงกว่าใครเพื่อน
“สาเหตุที่วัยทำงานในสายงานผู้จัดการโปรเจกต์เผชิญภาวะเบิร์นเอาท์มากที่สุดนั้น เป็นเพราะว่าพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผน จัดระเบียบ และจัดการให้โครงการเสร็จสมบูรณ์ โดยต้องแน่ใจว่าโครงการจะเสร็จตรงเวลา และไม่เกินงบประมาณ โครงการดังกล่าวอาจมีตั้งแต่การก่อสร้างอาคารใหม่ไปจนถึงการดำเนินแคมเปญการตลาด งานเหล่านี้มักต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง มีกำหนดเวลาที่เข้มงวด และต้องทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างพนักงานและลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้” วีนส์ อธิบาย
เธอบอกอีกว่า การที่สายงานผู้จัดการโครงการ เป็นตำแหน่งงานที่มีความต้องการมากที่สุด ซึ่งบริษัทต่างๆ กำลังสรรหาบุคลากรอยู่นั้น เรื่องนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เธอเคยทำงานกับผู้จัดการโครงการหลายคน และความกังวลใจที่มักได้ยินบ่อยที่สุดจากพวกเขา ก็คือ พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำงานอย่างเพียงพอ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในบทบาทหน้าที่ของตน นั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
อาชีพสายงานดูแลสุขภาพ บริการชุมชน การศึกษา ก็เสี่ยงหมดไฟไม่แพ้กัน
นอกจากอาชีพนี้แล้ว ยังมีอาชีพอื่นๆ อีกที่มีอัตราการหมดไฟในการทำงานสูงเช่นกัน ได้แก่ สายงานการดูแลสุขภาพ การศึกษา ชุมชนและบริการสังคม ฯลฯ อาชีพเหล่านี้มักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูง และพนักงานก็ไม่สามารถควบคุมการทำงานของตนเองได้เต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่างเข้ามาส่งผลกระทบ
“สายงานต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ความรู้สึกมาก เมื่อคุณทำงานที่ต้องดูแลผู้อื่น คุณจะต้องจัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและละเอียดอ่อนมากมาย ซึ่งบางสถานการณ์หากผิดพลาดไปก็อาจส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายของผู้ป่วยได้ อาชีพเหล่านี้จึงมีความเครียดสูง ซึ่งอาจทำให้เบิร์นเอาท์ได้อย่างรวดเร็ว” เธอกล่าว
ข้อแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยงภาวะหมดไฟ ลองทำตามนี้!
อย่างไรก็ตาม แคนดี้ วีนส์ ให้คำแนะนำกับวัยทำงานในสายงานต่างๆ ว่า ควรทำการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานสายงานนั้นๆ ก่อนที่จะยอมรับข้อเสนองาน ต้องเช็กว่าบทบาทตำแหน่งงานนั้นๆ สอดคล้องกับบุคลิกภาพและอารมณ์ของคุณหรือไม่ โดยอาจจะลองเข้าไปสอบถามจากพนักงานปัจจุบันหรืออดีตพนักงานของบริษัทดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในการทำงานโดยตรง
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ชอบเข้าสังคมอาจไม่เหมาะกับตำแหน่งงานที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อย ตรงกันข้าม หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม อาจไม่เหมาะกับงานที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมากบ่อยๆ เป็นต้น หากเป็นไปได้ในช่วงการสมัครงานหรือสัมภาษณ์งาน ควรสอบถามเกี่ยวกับการดูแลพนักงานของบริษัท/องค์กร นั้นๆ ว่าพวกเขามีนโยบายในการสนับสนุนดูแลความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงานหรือไม่ เช่น การกำหนดตารางเวลาที่ยืดหยุ่นได้ หรือสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพจิต เป็นต้น