ลางานบ่อย? ผลสำรวจเผย Gen Z ในอังกฤษขาดงาน 54 วันต่อปีเพราะปัญหาสุขภาพจิต
หมดไฟ ใจพัง ลางานบ่อย พนักงานรุ่นใหม่ในสหราชอาณาจักร ขาดงานเฉลี่ย 54 วันต่อปี (สัปดาห์ละหนึ่งวัน) เนื่องจากเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้า
KEY
POINTS
- ผลสำรวจเผย พนักงานรุ่น Gen Z ในสหราชอาณาจักร ต้องสูญเสียวันทำงานที่มีประสิทธิผลโดยเฉลี่ย 54 วันต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักคือ ปัญหาสุขภาพจิต
- แม้บางครั้งแม้ไม่ลางาน เข้าออฟฟิศตามปกติ แต่ก็พบว่าพวกเขาไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- พนักงานหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพื่อนร่วมงานรุ่นก่อนๆ ถึง 224%
เวลาที่รุ่นน้องในที่ทำงานแจ้งขอ “ลางาน” กับหัวหน้าบ่อยๆ ในแต่ละเดือน คนเป็นหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานคงเกิดคำถามในใจว่า เด็กสมัยนี้จะลาอะไรบ่อยๆ ขนาดนั้น ขี้เกียจหรือเปล่า? แต่หากเรียกมาสอบถามเพิ่มเติมอาจพบว่า พนักงานคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องลาไปพบจิตแพทย์ตามนัดทุกเดือน
เชื่อว่าเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายองค์กร ซึ่งมันทั้งน่าแปลกใจและน่าตกใจไปพร้อมกัน เมื่อสาเหตุที่ทำให้พวกเขา “ลาป่วย” หรือ “ขาดงาน” บ่อยๆ เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟหรือเบิร์นเอาท์ เป็นโรคแพนิก หรือแม้แต่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ก็มีให้เห็นกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางสุขภาพจิตดังกล่าวพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ล่าสุดไม่นานมานี้ มีรายงานผลสำรวจจาก Vitality บริษัทประกันสุขภาพและชีวิตในสหราชอาณาจักร พบว่า พนักงานรุ่น Gen Z ในสหราชอาณาจักร ต้องสูญเสียวันทำงานที่มีประสิทธิผลโดยเฉลี่ย 54 วันต่อปี หรือประมาณสัปดาห์ละ 1 วัน บางครั้งแม้ไม่ลางาน (เนื่องจากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน) แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามรายงานชี้ว่าสาเหตุหลักคือ การต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต
“ภาวะหมดไฟ” ปัญหาสุขภาพจิตที่วัยทำงานยุคนี้ต่างต้องเผชิญ
Vitality รายงานเพิ่มเติมว่า การทำงานที่ไม่เกิดประสิทธิผลหรือขาดงาน ทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรสูญเสียมากกว่า 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราวๆ 6.11 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้หากดูรายงานวิจัยในอดีตของ Gallup ในสหรัฐฯ ก็พบข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า พนักงานที่ไม่พอใจในงานและขาดการมีส่วนร่วมในงาน ทำให้องค์กรทั่วโลกสูญเสียเงินประมาณ 8.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราวๆ 300 ล้านล้านบาท)
จากการวิเคราะห์ของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,000 คนของงานวิจัยข้างต้น พบว่า พนักงานหนุ่มสาวชาว Gen Z มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพื่อนร่วมงานรุ่นก่อนๆ ถึง 224% และพนักงานที่มีรายได้น้อยกว่า 38,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 1,300,000 บาทต่อปี) มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าถูกนายจ้างละเลยเรื่องปัญหาสุขภาพมากกว่าพนักงานที่มีรายได้สูง โดยมีเพียง 1 ใน 4 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ระบุว่า ตนได้ใช้สิทธิประโยชน์จากทรัพยากรด้านสุขภาพของบริษัท
เนวิลล์ คูโปวิทซ์ (Neville Koopowitz) ซีอีโอของ Vitality อธิบายผ่านนิตยสารฟอร์จูนว่า หากนายจ้างหรือผู้นำองค์กรสามารถบริหารจัดการด้านสุขภาพในการทำงานอย่างเหมาะสม ธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับประโยชน์อย่างมาก
พนักงานรุ่น Gen Z ลาออก เพื่อไปรักษาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น
ในสหรัฐอเมริกา พบว่าพนักงานกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานเพื่อไปพบแพทย์เพื่อสุขภาพจิตมากกว่า และพนักงานรุ่นใหม่ยังลาป่วยมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ อีกด้วย
ลูซี่ เคมป์ (Lucy Kemp) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ผ่าน Metro UK ไว้ว่า คนรุ่นใหม่มักจะใส่ใจกับความต้องการด้านสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความเครียดมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ด้วยเช่นกัน เพราะโลกการทำงานเปลี่ยนเร็ว บวกกับการต้องปรับตัวในวัฒนธรรมองค์กรเก่าแก่ที่พวกเขาไม่เข้าใจ จนก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นในที่ทำงาน
“คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะลางานมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้เรียนรู้จากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก และค้นพบว่าคนทำงานควรรู้จักให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต แม้ว่าจะต้องหยุดทำงานบางครั้งก็ตาม ซึ่งคนรุ่นเก่าไม่ค่อยกล้าลางานหรือไม่สามารถทำได้” ลูซี่ อธิบาย
เมื่อประเด็นปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานยังคงพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ท้ายที่สุดแล้ว การจะแก้ปัญหานี้ได้คงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากทุกฝ่าย ทั้งผู้นำองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงพนักงานในองค์กรเอง ให้หันมาหาทางออกร่วมกัน ปรับปรุงนโยบายการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กร ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ให้มากขึ้น