ซีอีโอรุ่นใหม่ แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ เลือกวันหยุดมากกว่าทำงานหนักแบบไม่พัก

ซีอีโอรุ่นใหม่ แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ เลือกวันหยุดมากกว่าทำงานหนักแบบไม่พัก

ซีอีโอรุ่นใหม่เลือกวันหยุดมากกว่างาน บางคนมองว่าการจมอยู่กับงานตลอดเวลาเป็นเรื่องล้าสมัย เมื่อปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงานไม่ใช่เรื่องเล่นๆ รายงานชี้ว่า ซีอีโอมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบิร์นเอาท์มากที่สุด

KEY

POINTS

  • ปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงานไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่เฉพาะพนักงานทั่วไปที่มีปัญหาหมดไฟ (Burnout) แต่ซีอีโอกลับมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบิร์นเอาท์มากที่สุด
  • นักจิตวิทยาชี้ ผู้บริหารก็คือมนุษย์คนหนึ่ง และมนุษย์ก็ต้องการเวลาพักผ่อน แม้จะมีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้
  • วิจัยหลายชิ้นระบุว่า การลาหยุดพักผ่อนช่วยเพิ่มประสิทธิผลในงาน และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังปรับปรุงสุขภาพกายใจ และความเป็นอยู่โดยรวมอีกด้วย

เมื่อปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มวัยทำงานไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะพนักงานทั่วไปเท่านั้นที่มีปัญหาหมดไฟในการทำงาน (Burnout) แต่มีรายงานชี้ว่า วัยทำงานระดับซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูง กลับมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบิร์นเอาท์มากกว่าพนักงานทุกระดับด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ ในการทำงานยุคใหม่ซีอีโอหลายคนจึงหันมาให้ความสำคัญในวันหยุดพักผ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ 

ล่าสุด.. มีรายงานผลสำรวจจาก Qualtrics ซึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ด้านการการบริหารประสบการณ์ลูกค้าและพนักงานในองค์กร ค้นพบข้อมูลว่า ผู้บริหารระดับสูงเผชิญกับความเสี่ยงที่จะหมดไฟในการทำงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับพนักงานทุกระดับ โดยผลการสำรวจเชิงเปรียบเทียบในกลุ่มพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว จำนวนมากกว่า 36,000 คนจาก 32 ประเทศ ใน 28 อุตสาหกรรม (ณ เดือนกรกฎาคม 2023) พบว่า

- ผู้บริหารระดับสูง (Top executives) เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ 39%
- ผู้อำนวยการอาวุโส (Senior directors) เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ 32%
- หัวหน้างานขั้นต้น (Frontline manager) เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ 30%
- พนักงานทั่วไปไม่มีลูกน้อง (Individual contributor) เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ 33%

ซีอีโอรุ่นใหม่ แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ เลือกวันหยุดมากกว่าทำงานหนักแบบไม่พัก

เบนจามิน แกรนเจอร์ (Benjamin Granger) นักจิตวิทยาประจำสถานที่ทำงานของ Qualtrics บอกว่า “ในทางกายภาพแล้ว วัยทำงานที่เป็นผู้บริหารก็คือมนุษย์คนหนึ่ง และมนุษย์ก็ต้องการเวลาพักผ่อน แม้จะมีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้” 

โลกการทำงานในยุคหนึ่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูงในขององค์กรใหญ่ๆ มักจะมีวัฒนธรรมการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ชีวิตผูกติดอยู่กับที่ทำงานตลอดเวลาทุกวัน และแทบจะไม่หยุดทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่พอมาถึงการทำงานในยุคนี้ตั้งแต่หลังการระบาดโควิดเป็นต้นมา กลับพบว่า มีเทรนด์การทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย รวมถึงซีอีโอรุ่นใหม่ก็ได้แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ หันไปให้ความสำคัญใน “วันหยุดพักผ่อน” มากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รวบรวมความเห็นของเหล่าบรรดาซีอีโอจากหลากหลายองค์กรชื่อดังระดับโลกในประเด็นดังกล่าว ซึ่งสะท้อนภาพว่า ผู้บริหารระดับสูงรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองมาก่อนเรื่องงาน และมองว่างานของผู้บริหาร ไม่ใช่งานที่ต้องการการตัดสินใจทุกเรื่องตลอด 24 ชม. ใน 7 วัน 

ซีอีโอรุ่นใหม่ แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ เลือกวันหยุดมากกว่าทำงานหนักแบบไม่พัก

แดเนียล เชท (Daniel Chait) ซีอีโอที่หาวันว่างไปพายเรือพักผ่อน

ในแต่ละปี แดเนียล เชท ผู้บริหารบริษัท Greenhouse Software มักจะกำหนดวันหยุดพักผ่อนให้ตนเอง เพื่อออกไปทำกิจกรรมพายเรือในเขตป่าสงวนแห่งชาติ Boundary Waters Canoe Area ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดล้านเอเคอร์ที่ชายแดนระหว่างมินนิโซตาและแคนาดา 

ในช่วงเวลาวันหยุดนั้น เขาจะตั้งข้อความแจ้งไว้ในช่องทางติดต่อว่า “ไม่อยู่ในสำนักงาน” เพื่อขอให้ผู้ที่ต้องการติดต่อเขาเรื่องงานปกติทั่วไป ให้สอบถามจากคนอื่นๆ แทน เพราะเขามองว่า ไม่ใช่ทุกงานที่ต้องถึงมือซีอีโอจริงๆ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง 

แดเนียล เชท เป็นหนึ่งในกลุ่มซีอีโอคนรุ่นใหม่ ที่พยายามต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ หรือการที่ต้องเข้าออฟฟิศทำงานตลอดเวลาทุกวันแบบไม่หยุดพัก ซึ่งการทำแบบนั้นขัดแย้งกับผลวิจัยหลายชิ้นในยุคนี้ที่แสดงให้เห็นว่า “การลาหยุดช่วยเพิ่มประสิทธิผลและความคิดสร้างสรรค์” อีกทั้งยังปรับปรุงสุขภาพ และความเป็นอยู่โดยรวมอีกด้วย

แซม รีส (Sam Reese) ซีอีโอที่มองว่าการจมอยู่กับงานเป็นเรื่องล้าสมัย

แซม รีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Vistage ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาระดับซีอีโอสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ชุดความเชื่อที่ว่า ซีอีโอ เป็นบุคคลสำคัญมากจนต้องสแตนบายอยู่ที่ทำงานตลอดทั้งวันและทุกวัน เพราะถ้าไม่มีผู้บริหารอยู่ คนอื่นๆ ในบริษัทก็จะทำงานอะไรไม่ได้ ซึ่งนั่นถือเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปหน่อย

เจน นวานโก Jen Nwankwo ซีอีโอที่กำหนดวันหยุดพักทุกไตรมาส

เจน นวานโก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ 1910 Genetics เธอพยายามหาวันหยุดพักให้ได้หนึ่งสัปดาห์ในทุกๆ ไตรมาส เพื่อผ่อนคลายหลังจากการทำงานยาวๆ มาสามเดือน โดยรวมคือเธอจะมีวันหยุด 4 ครั้งต่อ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้บริหารอย่างเธอจึงไม่สามารถหยุดงานได้ตามเป้าทุกครั้ง เพราะชัยชนะหรือความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจกำหนดอนาคตของบริษัทได้ 

ดังนั้น แม้จะวางวันหยุดไว้คร่าวๆ แต่การหยุดพักนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอไป ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่ง หลังจากเธอคลอดลูกชายได้เพียงวันเดียว แต่เธอยังตื่นมาคุยดีลงานสำคัญกับบริษัทเภสัชภัณฑ์รายใหญ่บนเตียงของโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็มาทำงาน (แบบไม่เต็มวัน) หลังจากลาคลอดไปเพียงเดือนครึ่ง

ซีอีโอรุ่นใหม่ แหกกฎเกณฑ์เดิมๆ เลือกวันหยุดมากกว่าทำงานหนักแบบไม่พัก

แคลร์ สปอฟฟอร์ด (Claire Spofford) ซีอีโอที่มีวันหยุดแต่ก็คุยงานได้ถ้าจำเป็น

แน่นอนว่าไม่ใช่ซีอีโอทุกคนที่จะปิดกั้นเรื่องงาน 100% ในช่วงวันหยุดพักผ่อนได้ ดังนั้น จึงมีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับซีอีโอที่อยากมีวันหยุดพักผ่อนแต่ก็ไม่อยากทิ้งงานไปเลย นั่นคือ การเปิดช่องทางสื่อสารออนไลน์ให้ทีมสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นวันหยุดพักผ่อนก็ตาม โดยหนึ่งในผู้นำที่ใช้วิธีนี้ก็คือ แคลร์ สปอฟฟอร์ด (Claire Spofford) ซีอีโอของแบรนด์เสื้อผ้า J.Jill 

เธอบอกว่า ทุกคนในที่ทำงานยังคงติดต่อเธอได้ ในวันที่เธอไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีในเดือนกรกฎาคมเพื่อฉลองวันเกิดของเธอเอง โดยเธอใช้วิธีเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ 3 เครื่องสำหรับออนไลน์ตลอดเวลาในแต่ละวัน หากไม่ทำแบบนี้ก็เธอจะยิ่งกังวลเรื่องงานมากขึ้น เธอจึงต้องทำแบบนี้เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในที่ทำงาน 

จิม แม็กแคน (Jim McCann) ซีอีโอผู้มัดรวมทริปธุรกิจเข้ากับวันหยุดพักผ่อน

แม้วันหยุดพักผ่อนจะเป็นสิ่งที่ซีอีโอหลายคนให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ซีอีโอ จิม แม็กแคน ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท 1-800-Flowers.com Inc. เขาสะท้อนมุมมองอีกมุมหนึ่งว่า หากชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานเชื่อมโยงกันได้แล้ว ก็แทบไม่ต้องลาพักร้อนเลย อย่าเข้าใจผิดว่าเขาไม่อยากมีวันหยุด เขาอยากมี และเขาก็บริหารจัดการมันได้ดีอีกด้วย

กล่าวคือ เขาใช้วิธีการมัดรวม “ทริปธุรกิจ” เข้ากับ “วันหยุดพักผ่อนกับครอบครัว” โดยในฤดูใบไม้ผลิหน้า เขาจะพาหลานๆ ไปเที่ยวที่โอเรกอน ซึ่งเขายังวางแผนที่จะไปเยี่ยมชมสวนผลไม้ของบริษัทอาหารที่เขาเป็นเจ้าของด้วย ก็เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ทำงานและได้พักผ่อนไปพร้อมกัน

เอเวอเร็ตต์ เทย์เลอร์ (Everette Taylor) ซีอีโอผู้ไม่ชอบการทำงานแบบเดิมๆ

ด้าน เอเวอเร็ตต์ เทย์เลอร์ ซีอีโอของแพลตฟอร์มระดมทุน Kickstarter เขาเป็นอีกหนึ่งผู้บริหารที่ไม่ชอบการลาพักร้อนแบบเดิมๆ เช่นกัน โดยการทำงานก่อนหน้านี้ของเขาในช่วง 2 ปี เขาแทบไม่มีวันหยุดเลย มีเพียงวันหยุด (ลาพักร้อน) แค่ 1 ครั้งคือ ทริปวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่ฮาวานาเพื่อฉลองวันเกิดอายุครบ 35 ปีของเขา

เทย์เลอร์เล่าว่า มีช่วงหนึ่งในชีวิตที่เขาต้องทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมง และทำงานแบบนั้นติดกันสองปีโดยแทบไม่มีวันหยุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต อารมณ์ และสุขภาพกายของเขา นั่นทำให้เขาคิดใหม่ทำใหม่ ตอนนี้เขาจัดสรรเวลาว่างให้กับตัวเองมากขึ้นในแต่ละวัน แล้วใช้เวลาว่างนั้นไปดูแลตัวเองและทำกิจกรรมสนุกสนาน (เช่น จัดสรรเวลาว่างไปชมงานศิลปะและดนตรีสดของนิวยอร์กซิตี้) เป็นการหยุดพักผ่อนทีละเล็กทีละน้อยในทุกวัน ดังนั้นการหาวันหยุดเพื่อพักผ่อนยาวๆ จึงดูไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอีกต่อไป

คริสติน เยน (Christine Yen) ซีอีโอผู้มีวันหยุดที่เจอเรื่องแย่ๆ 

ไม่ใช่ซีอีโอทุกคนที่มีวันหยุดแล้วจะได้พักผ่อนเต็มที่ หนึ่งในผู้บริหารที่ดันเจอเหตุไม่คาดฝันในวันลาพักผ่อนก็คือ คริสติน เยน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Honeycomb.io เธอเล่าว่าเธอเคยลาหยุดงานเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว ซึ่งช่วงสัปดาห์นั้นดันเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน คือ ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley Bank) ล้มละลาย ซึ่งในฐานะซีอีโอต้องคอยเกาะติดข่าวสารเรื่องนี้ตลอดเวลา นั่นทำให้วันหยุดของเธอไม่มีความสุข

“ฉันทำอะไรไม่ได้มากนัก ฉันแค่นั่งรออีเมลและการอัปเดตจากทีมการเงินและนักลงทุนของฉันเท่านั้น มันเป็นวันหยุดที่แย่มาก” คริสติน เยน เล่าถึงสถานการณ์วันหยุดพักผ่อนที่ไม่ได้พักผ่อนเลยจริงๆ 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานในตำแหน่งซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูง มีความลำบากเหนื่อยยากกว่าตำแหน่งระดับล่างแน่ๆ และคงไม่มีซีอีโอคนไหนที่จะไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตน เพียงแต่ซีอีโอรุ่นใหม่เริ่มเห็นความสำคัญของวันหยุดและการได้มีวันพักผ่อนบ้าง เพื่อดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตน พวกเขาจึงพยายามหาวิธีปรับสมดุลวันทำงานและวันพักผ่อนที่เหมาะสมกับตัวเองเท่านั้นเอง