จีนดั๊มราคาแข่งส่งออกไทย แนะรับมือลุยหาตลาดใหม่
เอกชน ชี้ เศรษฐกิจโลกถดถอยฉุดตลาด ”จีน สหรัฐ ยุโรป“ ซบเซากำลังซื้อหด หวังตลาดใหม่ ตะวันออกกลาง-เอเชียใต้ “ซีไอเอ็มบีไทย" คาดเสี่ยงติดลบมากกว่าคาด ห่วงจีนลดนำเข้า แนะเร่งทำเอฟทีเอ “ทีทีบี" เตือนระวังจีนดั้มราคาแย่งตลาดส่งออก “กรุงไทย" ห่วงราคาสินค้าวูบจากราคาน้ำมัน
การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกในการพยุงเศรษฐกิจไทยช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563-2565 กำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และเริ่มเห็นการส่งออกไทยชะลอตัวลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 ปี 2565 โดยการส่งออกเดือน ต.ค.2565 ติดลบ 4.4% และเดือน พ.ย.2565 ติดลบ 6.0%
ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกไปสหรัฐมีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 43,569 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 16.42% ของการส่งออกไทยทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน 31,831 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 12.00% และญี่ปุ่น 22,872 ล้านดอลลาร์ 8.62% คิดเป็นสัดส่วน 8.62%
ขณะที่การนำเข้าของไทยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 65,462 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 23.34% ของการนำเข้ารวม รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 32,021 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 11.42%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2565 ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยสถิติการส่งออกเดือน ธ.ค.2565 ที่ยังไม่ประกาศก็เชื่อว่าจะติดลบต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่ง สรท.ได้ประเมินปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2566 รวม 3 ปัจจัย ดังนี้
1.อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงและทำให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญของโลกดำเนินนโยบายทางการเงินเข้มงวดต่อเนื่อง จึงมีโอกาสสูงที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศนั้นชะลอตัวลงหรือเสี่ยงต่อการหดตัวมากขึ้นแล้วกระทบส่งออกไทย
2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนที่ยังคงไม่คลี่คลายถึงแม้จะผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐของจีนใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดเข้มงวด และกระทบ Supply Chain เพราะจีนเป็นประเทศผู้ผลิตใหญ่ของโลก
3.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อวิกฤติอาหารโลกจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทย เพราะดีมานด์สินค้าอาหารไทยเพิ่มขึ้นเร็ว แต่ส่งผลลบต่อต้นทุนนำเข้าของไทย รวมถึงทำให้มีวิกฤตพลังงานโลกและราคาน้ำมันจะทรงตัวสูงที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
คาดปีนี้ส่งออกขยายตัว1-3%
ทั้งนี้ สรท.คาดว่าการส่งออกไทยปี 2566 ขยายตัว 1-3% โดยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ 49,000 ล้านดอลลาร์ จีน 36,500 ล้านดอลลาร์ และยุโรป 49,000 ดอลลาร์ โดยเป็นการประเมินภายใต้ปัจจัยกดดันการส่งออก คือ
1.ค่าเงินบาทผันผวน จากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเร็วช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จาก 38 บาทต่อดอลลาร์ มาที่ 33-34 บาท ซึ่งทำให้ปัจจัยที่เคยสนับสนุนการส่งออกไทยหมดไป
2.สถานการณ์เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐมีมาตรการควบคุมจึงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว เห็นได้จากไตรมาส 4 ปี 2565 และอาจหดตัวลงในปี 2566 และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ
3.การควบคุมและเฝ้าระวังโควิดในจีนที่ยังใช้มาตรการเข้มงวด ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดและจะมีผลสำคัญต่อการส่งออกไทย
สำหรับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าตลาดหลักลดลง อาทิ สหรัฐและสหภาพยุโรป เพราะเศรษฐกิจชะลอทำให้อุปสงค์ชะลอจากกำลังซื้ออ่อนแอ รวมกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัฐเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบผันผวน
ทั้งนี้สินค้าที่คาดว่าขยายตัว ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งตลาดจีนที่เป็นปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ที่เปิดประเทศวันที่ 8 ม.ค.2566 ส่งผลต่อการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตได้ปกติ โดยสินค้าที่จะขยายตัว อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว ผักและผลไม้
ลุ้นตลาด“เอเชียใต้-มิดเดิลอีสต์”
รวมทั้ง สรท.มองว่าตลาดที่ขยายตัวดี อาทิ เอเชียใต้ อาเซียน และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ อิรัก บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และสินค้าขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยปัจจัยสนับสนุนหลายประเทศให้ความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารจึงสต็อกสินค้ามากขึ้น
ส่วนสิ่งที่ต้องเร่งทำจากนี้ คือ การเปิดตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดที่ชะลอจากเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มตลาดใหม่ที่มีความสำคัญ ได้แก่
1.ตลาดตะวันออกกลางมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าส่งออก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี โอมานและกาตาร์ โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวและอาหาร ซึ่งปี 2566 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประกอบกับวิกฤติอาหารโลก ทำให้ผู้นำเข้าเพิ่มการสำรองอาหารในประเทศมากขึ้น
2.ตลาดเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์
3.ตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สินค้าเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นกลุ่มประเทศที่ส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วและค่าขนส่งต่ำ
ศก.“สหรัฐ-ยุโรป-จีน”ถดถอย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกปี 2565 มีมูลค่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์ เติบโต 6% แต่ปี 2566 จะขยายตัว 2% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรปและจีน ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่เปราะบางจากปัญหาหนี้สูง เช่น ละตินอเมริกาและแอฟริกา นอกจากนี้ผู้บริโภคและนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นระยะสั้น
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออก คือ ความต้องการสินค้าสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หลายประเทศนำเข้าอาหารมากเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนพื้นตัว มีการเจรจาการค้ากับตลาดใหม่ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบชัดเจน กิจกรรมภาคการผลิตประเทศหลักชะลอ เงินเฟ้อยังคงสูงหลายประเทศ ธุรกิจมีแรงกดดันจากภาวะต้นทุนไฟฟ้า ค่าแรง และวัตถุดิบ และวิกฤติการค้าและเศรษฐกิจ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติและมาตรการทางการค้าใหม่
สินค้าที่จะขยายตัวในปี 2566 แต่มีอัตราลดลงจากปี 2565 อาทิ สินค้าอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง น้ำตาล ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องจักรกล ภาพรวมเติบโตราว 2-5%
ห่วงจีนลดการนำเข้า
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปีนี้คาดส่งออกติดลบ 1% จากประมาณการณ์เมื่อสิ้นปี 2565 แต่มีโอกาสติดลบมากกว่าคาดดูจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยในยุโรปและสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกอาจไม่ทรุดมากเพราะนอกจากติดลบจากประเทศคู่ค้าชะลอแล้ว ยังมาจากฐานสินค้าส่งออกบางรายการสูง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ราคาปรับลงปีนี้ตามราคาพลังงาน ดังนั้นมูลค่าส่งออกไตรมาส 1 อาจติดลบต่อเนื่อง สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางชะลอ
“การเปิดเมืองของจีนเร็วขึ้นมีผลบวกต่อการส่งออกระยะสั้น แต่ที่ระวัง คือ ที่ผ่านมาจีนนำเข้าสินค้าจากอาเซียนและไทย และหากเกิดกีดกันการค้ามากขึ้น ส่งออกไปจีนอาจกระทบได้ ดังนั้นประเมินว่าส่งออกมีโอกาสติดลบมากกว่าคาดที่ระดับ 1% แต่ขอดูตัวเลข 1-2 เดือนนี้ หากจีนเปิดเมืองคนกล้าใช้สอยจะดี แต่หากเปิดมาแล้วสะดุดโควิดยังสูง คนเข้าสู่โรงงานไม่ได้การผลิตจีนอาจหยุดชะงักได้”
สำหรับการสนับสนุนการส่งออกให้เติบโตในระยะยาว คือ การหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะการทำข้อตกลงทางการค้า (FTA) มากขึ้น เพราะปัจจุบันไทยมีข้อตกลงน้อยมาก อีกทั้งต้องเร่งต่างชาติเข้ามาลงทุน ไม่เฉพาะผ่านบีโอไอแต่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น ว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่การสนับสนุนต่างชาติลงทุนในไทยจะไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น รวมถึงแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการลงทุน รวมถึงการเพิ่มทักษะแรงงานให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่
ระวังจีนแย่งตลาดส่งออกไทย
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ประเมินส่งออกปี 2566 เติบโต 1.6% ซึ่งมีโอกาสที่ส่งออกจะโตต่ำกว่าคาดได้ โดยเฉพาะไตรมาส 1 ที่คาดส่งออกมีโอกาสติดลบ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องฐานที่สูงปีก่อน ขณะเดียวกันการส่งออกไป 3 ประเทศหลัก อย่าง สหรัฐ ยุโรป และจีน ลดต่อเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้นอกจากมูลค่าส่งออกที่มีโอกาสลดลงและส่งออกต่ำลงหากเทียบปีก่อน สิ่งที่ต้องระวัง คือ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวโดยเฉพาะกำลังการผลิตที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 อาจทำให้จีนเร่งแข่งขันเพื่อส่งออกมากขึ้น ดังนั้นอาจเห็นจีนแข่งกับไทยและประเทศอื่นมากขึ้น โดยการลดราคาหรือดั้มราคาเพื่อแข่งขันการส่งออก และแข่งขันกับประเทศอื่นมากขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพาสติก
“สิ่งที่ต้องระวัง คือ การดั้มราคาแข่งของจีนเพื่อตีตลาดโลก แข่งกับไทยและประเทศต่างๆในช่วงที่เขายังไม่ฟื้น ดังนั้นเราต้องระวังมาก และทำอย่างไรให้เรายังรักษาส่วนแบ่งการตลาดและทำให้การส่งออกสินค้ายังเติบโตได้ในเจ้าตลาด หลายประเทศส่งออกเติบโตเหมือนกันเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ดังนั้นทำอย่างไรให้เรา โตได้ เราต้องหาตลาดใหม่ หาคู่ค้าใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกในอนาคต”
หนุนหาตลาดใหม่เพิ่มรายได้
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะขยายตัว 1.2% แต่ปัจจุบันตัวเลขอาจต่ำกว่าที่คาดไว้ จากส่งออกที่ติดลบหลายเดือนติดต่อกันต่อเนื่องจากซัพพลายดิสรับชัน ดังนั้นต้องดูระยะข้างหน้าส่งออกจะติดลบต่อเนื่องอีกหรือไม่ หรือเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว
ทั้งนี้ปัจจัยที่ฉุดส่งออกโตต่ำปีนี้และเสี่ยงติดลบหลักมาจากราคาสินค้า Commodity priceลดลง ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงหากเทียบปีก่อน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
“การสนับสนุนการเติบโตส่งออกระยะข้างหน้าต้องดูว่าเราเป็นเจ้าตลาดอะไร เช่น สินค้าเกษตรที่ได้เปรียบ แต่ต้องทำเพิ่มคือผลักดันโปรดักต์ใหม่เข้าสู่ตลาดใหม่มากขึ้น ดังนั้นทั้งการหาตลาดใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่หลากหลายจะช่วยการส่งออกเติบโต”