‘ครม.’ตั้ง 3 ประเด็นจัดทำ 'งบประมาณ' ลดขนาดภาครัฐ – เร่งเบิกจ่าย-เพิ่มลงทุน
ครม.ตั้งข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณรายจ่ายหลังเห็นตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำภาครัฐยังสูงกว่า 74% ชี้ต้องเร่งลดขนาดหน่วยงานราชการ เพิ่มการใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มอบสศช.ศึกษาความคุ้มค่าของงบลงทุนฯ และเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย
โครงสร้างงบประมาณของไทยในปัจจุบันมีรายจ่ายประจำที่สูงมากในระดับเกินกว่า 70% ของสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี ซึ่งสะท้อนปัญหาในหลายด้านของกการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทั้งเรื่องการปฏิรูประบบราชการให้มีขนาดที่เหมาะสม และคล่องตัวมากขึ้น การลดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้ภาครัฐมีรายจ่ายประจำที่ลดลง และสามารถเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในการลงทุนให้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
ล่าสุดในการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 3.35 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล จำนวน 5.93 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 102,000 ล้านบาท หรือลดลง 14.68% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 3.70%
โดยโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 106,451.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.43% และคิดเป็นสัดส่วน 74.89% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 75.43%
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 33,759.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 100% และคิดเป็นสัดส่วน 1.01% ของวงเงินงบประมาณรวม
3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 520.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.08% และคิดเป็นสัดส่วน 20.60% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 21.65%
4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 117,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 17,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.25% และคิดเป็นสัดส่วน 3.50% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 3.14%
ในส่วนของรายได้รัฐบาลคาดว่ามีรายได้สุทธิ จำนวน 2,757,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 267,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.72%
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่าในการพิจารณากรอบงบประมาณปี 2567 ที่ประชุม ครม.ได้มีการตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายและได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.ในประเด็นของงบประมาณรายจ่ายประจำที่ยังคงมีสัดส่วนที่สูงอยู่นั้น เห็นควรให้มีการทบทวนโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามความจำเป็น เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยพิจารณากำหนดเป้าหมายการลดอัตรากำลังข้าราชการในแต่ละปีที่ชัดเจน รวมถึงการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ การจ้างงานระยะสั้น และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในอนาคต
2.มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินผลการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการดำเนินมาตรการของภาครัฐในการส่งเสริม สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศในระยะที่ผ่านมาว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้ประเทศอย่างไร
และ 3.ครม.เห็นควรเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณากระบวนการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด