เอสโซ่ประเทศไทย 128 ปี ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่มือ “บางจาก”
“เอสโซ่” เข้ามาทำธุรกิจในไทยนับถึงปี 2565 รวมแล้ว 128 ปี โดยปัจจุบันเป็นธุรกิจในเครือของกลุ่มบริษัทเอ็กซอนโมบิล สัญชาติอเมริกา ที่ทำธุรกิจการกลั่นและค้าน้ำมัน รวมถึงเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2562 เอสโซ่ ได้จัดงานฉลอง 125 ปี ซึ่งเอสโซ่เชื่อมั่นว่าอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจในไทยมาได้ด้วยดีนอกเหนือจากการเสียภาษีแล้ว ยังสร้างโอกาสคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานจากต้นทุนต่ำไปสู่ต้นทุนสูง
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีที่ผานมา ตรอกกัปตันบุช หรือในปัจจุบัน คือ ซอยเจริญกรุง 30 ซึ่งในอดีตพื้นที่ตรอกกัปตันบุช เชื่อมไปถึงถนนเจริญกรุงและถนนสี่พระยา เคยเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
บริษัทแสตนดาร์ด ออยล์ แห่งนิวยอร์ก เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ตรอกกัปตันบุชแห่งนี้เมื่อปี 2437 จำหน่ายน้ำมันก๊าด “ตราไก่” และ “ตรานกอินทรี” ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในยุคนั้นสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงของตะเกียง และต่อมามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับใช้ในเครื่องจักรไอน้ำในโรงสีข้าวมาจำหน่าย โดยเป็นช่วงที่การค้าขาวของไทยขยายตัวมากและส่งผลถึงการลงทุนโรงสีขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการส่งออกข้าวและการลงทุนระบบชลประทานที่มีบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนกับคนไทย
การเติบโตทางธุรกิจบริษัทแสตนดาร์ด ออยล์ แห่งนิวยอร์ก จึงเป็นการขยายตัวไปพร้อมกับบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในไทยยุคนั้น
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมใหม่ๆ ถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในไทย เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวไปพร้อมกับเทคโนโลยียานยนต์และเครื่องจักร โดยปี 2470 “น้ำมันโซล่า” หรือ “น้ำมันดีเซล” ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในไทยครั้งแรก
การรับซื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการเมื่อปี 2490 เป็นจุดความเคลื่อนไหวทางธุรกิจครั้งสำคัญของการยึดไทยเป็นที่มั่นในการลงทุนธุรกิจน้ำมัน
เมื่อธุรกิจของเอสโซ่ปักหลักในไทยมั่นคงแล้วได้ขยายไปลงสู่การลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน โดยปี 2510 ซื้อโรงงานจากบริษัทยางมะตอยไทย จำกัด เพื่อตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา บนพื้นที่เกือบ 200 ไร่ เริ่มต้นกำลังการผลิตวันละ 7,000 บาร์เรลต่อวัน
และต่อมาปี 2519 ได้ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรล ต่อวัน พร้อมทั้งตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ เมื่อปี 2522 โดยได้รับสัมปทาน การสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น
ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ กรรมการ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เคยเล่ากับ “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อปี 2562 ว่า ตลอดระยะเวลาที่เอสโซ่ดำเนินธุรกิจในไทยนั้น ส่วนใหญ่วิกฤติที่เกิดขึ้นจะมาจากสภาวะภายนอก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่เนื่องจากเอสโซ่เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจระยะยาวและมองผลระยะยาว
ดังนั้นวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริษัทไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และไม่ใช่เหตุผลสำคัญว่าจะทำธุรกิจต่อไปหรือไม่ เช่น ช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งราวปี 2537-2540 จะเห็นว่าบริษัทสร้างโรงกลั่น ผลิตพาราไซลีน และเปิดทำการในปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่บริษัทก็มีการจ้างงาน ขยายโครงการ เพราะไม่ได้ผลแค่ 1-2 ปี แต่มองเป็นระยะยาว 10-20 ปี ขึ้นไป
การเปลี่ยนแปลงล่าสุดของบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นเมื่อบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการของบริษัทบางจากฯ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566 มีมติเอกฉันท์อนุมัติการเข้าทำธุรกรรมและเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd.
บางจากฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับ ExxonMobil เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566 และคาดว่าจะซื้อขายและชำระเงินค่าหุ้นแก่ผู้ขายได้ภายในครึ่งหลังของปี 2566 โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนด และเตรียมพร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (tender offer) ของเอสโซ่ หลังจากการทำธุรกรรมกับ ExxonMobil เสร็จสิ้น
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจากฯ และประเทศไทย เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เพิ่มความยั่งยืนและเพิ่มการเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น เชื่อมั่นว่าการทำธุรกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโฉมสู่บริบทใหม่สำหรับบางจากฯ และประเทศไทย
สำหรับการลงทุนครั้งนี้มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องคือโรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ก่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัท โดยจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง สามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น จัดหาน้ำมันดิบได้หลากหลายขึ้น และได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการกลั่นที่เสริมกันของโรงกลั่นทั้งสอง และการให้บริการด้านการตลาดที่ครอบคลุมและนำเสนอบริการให้กับลูกค้าได้ยิ่งขึ้นผ่านสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ