“ลดหนี้”จีน-อินเดีย:งานด่วนแบงก์ชาติศรีลังกา

“ลดหนี้”จีน-อินเดีย:งานด่วนแบงก์ชาติศรีลังกา

“ลดหนี้”จีน-อินเดีย:งานด่วนแบงก์ชาติศรีลังกา ขณะที่วิกฤติที่เกิดขึ้นในศรีลังกาถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนประเทศอื่นๆที่แบกรับหนี้สินในปริมาณสูงด้วยเช่นเดียวกัน

แบงก์ชาติศรีลังกาเรียกร้องจีนและอินเดียช่วยลดภาระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้   หลังจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอการสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ยืนกรานว่าจะไม่ปล่อยกู้ให้แก่ศรีลังกาอีกจนกว่าจีนและอินเดียเห็นพ้องลดหนี้หลายพันล้านดอลลาร์แก่ประเทศนี้  

ตอนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ในศรีลังกาเริ่มกลับสู่ความสงบแล้ว แต่ครอบครัวจำนวนมากรับรู้ถึงผลกระทบของการที่คนตกงานจำนวนมากและราคาข้าวของที่สูงขึ้น

ผู้บริหารไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาในลักษณะเดียวกันกับศรีลังกา

“ประเทศที่มีระดับหนี้สูง และนโยบายที่จำกัดจะเผชิญกับความตึงเครียดเพิ่มขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกาถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือน” คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าว

จอร์จีวา บอกด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาต่างเจอปัญหาการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาสี่เดือนติดต่อกัน ทำให้ความฝันของพวกเขาที่จะตามทันประเทศพัฒนาแล้ว กลายเป็นฝันที่เกินเอื้อม และเต็มไปด้วยความเสี่ยง
“ลดหนี้”จีน-อินเดีย:งานด่วนแบงก์ชาติศรีลังกา

พี. นันดาลัล วีระสิงห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา ให้สัมภาษณ์รายการบีบีซี  นิวส์ไนท์ว่า  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลปักกิ่งปล่อยกู้แก่ศรีลังกามูลค่าประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอินเดีย ปล่อยกู้ให้ในมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์

“ยิ่งพวกเขาลดหนี้ให้เราเร็วมากเท่าไหร่ ย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสำหรับเราซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้และบรรดาเจ้าหนี้ของเราทุกฝ่าย และจะช่วยให้เราเริ่มจ่ายคืนหนี้่สินต่างๆได้  เราไม่อยากให้สถานการณ์นี้ยืดเยื้อยาวนานออกไป เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศของเรา และฉุดความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนในประเทศเราด้วย” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติศรีลังกา กล่าว

ทั้งนี้ อินเดียและศรีลังกามีความใกล้ชิดกันทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจ จุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศย้อนกลับไปเป็นศตวรรษ

นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกายังนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากอินเดีย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ขณะที่ชนกลุ่มน้อยของประเทศอย่างชาวทมิฬมีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับประชาชนในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย

ทำไมศรีลังกาจึงวิกฤติ

แม้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศนี้บรรเทาลงแล้วนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ราคาอาหารในศรีลังกาเมื่อเดือนที่แล้วยังคงสูงกว่าปีก่อนหน้านี้ 65% โดยโครงการอาหารโลกประเมินว่าชาวศรีลังกา 8 ล้านคน มากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนประชากรอยู่ในสถานะไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยในพื้นที่ชนบท

ปัญหาความวุ่นวายทางเศรษฐกิจในศรีลังกาจุดชนวนการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อเมื่อปีที่แล้ว จนเป็นเหตุให้อดีตประธานาธิบดีหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนก.ค.

ด้านธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจศรีลังกาจะหดตัวประมาณ 9.2% ในปี 2565 และจะหดตัวต่อไปที่ 4.2% ในปีนี้

วีระสิงห์ บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการทำข้อตกลงยกหนี้ในช่วงปลายเดือนนี้แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกล่าวว่า ตอนนี้ศรีลังกาได้ส่งข้อมูลที่จำเป็นให้แก่ทั้งจีนและอินเดียแล้ว

ลดงบฯทุกกระทรวง5% 

รัฐบาลศรีลังกาประกาศลดงบประมาณของทุกกระทรวงลงกระทรวงละ 5% และพยายามลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพวิกฤตหนัก ทำร้ายชาวศรีลังกาตลอดปีที่ผ่านมา

เมื่อวันอังคาร(10 ม.ค.) สำนักข่าวเอพี รายงานว่า บัณฑูลา กุนาวาร์เดนา รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร และโฆษกรัฐบาลศรีลังกา เปิดเผยว่า รัฐบาลจะปรับลดงบประมาณประจำปีของทุกกระทรวงลงกระทรวงละ 5% และรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย

เมื่อเดือนธ.ค.รัฐสภาของศรีลังกาอนุมัติงบประมาณ 5.82 ล้านล้านรูปี (15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ ลดเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า และเพิ่มภาษีเพื่อเพิ่มการเก็บรายได้เข้ารัฐ ตามเงื่อนไขการกู้เงินเพิ่มเติมของไอเอ็มเอฟภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นวงเงินกู้ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยอมปรับสถานะเพื่อเข้าเกณฑ์กู้ยืม

รัฐบาลศรีลังกาไฟเขียวปรับสถานะประเทศเป็นประเทศรายได้ต่ำ เพื่อเปิดทางให้มีคุณสมบัติเข้าถึงเงินกู้แก้วิกฤติเศรษฐกิจประเทศในอนาคต

โฆษกรัฐบาลศรีลังกาเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ยืนยันการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในการปรับสถานะดังกล่าวในบัญชีของธนาคารโลก หลังจากที่ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง จนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ซึ่งทางการศรีลังกาเคยออกมายอมรับถึงขั้นว่า ศรีลังกาอยู่ในสถานะประเทศที่ล้มละลายแล้ว

โฆษกรัฐบาลศรีลังกา เปิดเผยด้วยว่า บรรดาผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศได้ให้ข้อมูลกับทางการศรีลังกาว่า ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่ศรีลังกาเผชิญอยู่ การปรับลดสถานะเป็นประเทศรายได้ต่ำ จะทำให้สามารถเข้าถึงเงินจากแหล่งกองทุนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

สื่อท้องถิ่นของศรีลังการะบุว่า การปรับลดสถานะประเทศจะทำให้ศรีลังกาสามารถเข้าถึงเงินจากกองทุนของสมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารโลก ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือประเทศยากจนและประเทศที่มีเศรษฐกิจเปราะบางเป็นหลัก