สนค.ประเมินสงครามเทคโนโลยี กระทบส่งออกอุตสาหกรรมไทย
สนค. เผยสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จับตาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โดนฟาดหางเต็มๆ แนะเร่งปรับตัวรับผลกระทบ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 61 นั้น ขณะนี้ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก สนค.มองว่า แนวโน้มการแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีโอกาสส่งผลต่อไทย เช่น การเป็นแหล่งผลิตทางเลือกให้กับสหรัฐฯ และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ไทยยังต้องจับตาใกล้ชิด เช่น การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในอนาคต, ความขัดแย้งประเด็นไต้หวันหากรุนแรงขึ้น อาจทำให้เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงไทย ที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ อีกทั้งความขัดแย้งอาจสร้างความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อการลงทุน การผลิต การค้า และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ชาติ และพันธมิตรที่ คาดว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมของไทย ในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ในอนาคค
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้ 1.ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนา หรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและขยายฐานการผลิตและแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต 2.เตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย
3.ปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งขั้วห่วงโซ่การผลิตของเทคโนโลยีสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผ่านการส่งออกวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ จีน และประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ผลิตของสหรัฐฯ เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยที่สอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐฯ และจีน
4.เร่งส่งเสริมการค้าสินค้าเทคโนโลยี โดยในช่วง 5 ปีล่าสุด หรือปี 60-64 มูลค่าส่งออกเทคโนโลยีระดับกลาง เช่น เครื่องยนต์ ยานยนต์ ของไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ขณะที่สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.9% และ 4.2% ตามลำดับ จึงยังมีโอกาสที่ไทยจะส่งเสริมการส่งออกได้อีก
5.ลดความผันผวนของห่วงโซ่ผลิตและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ 6.เร่งส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเป้าหมาย และ7.ผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษี/การเก็บภาษีระดับต่ำ