‘ชาติพัฒนากล้า’พร้อมเปิดตัวนโยบาย ชู 3 เรื่องเด่น แก้ปัญหา-สร้างเศรษฐกิจ
"ชาติพัฒนากล้า" พร้อมเปิดตัวนโยบายปลายเดือนนี้ รื้อโครงสร้างต้นตอปัญหาทางเศรษฐกิจ ยกเลิกแบล็คลิสต์เครดิตบูโรช่วย 6 ล้านคน เปิดเสรีภาคธนาคารเปิดกว้างดิจิทัลแบงก์ ชงยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ แยกสายส่งไฟฟ้า แก้พลังงานแพง มั่นใจได้ส.ส.มากพอทำงานการเมืองได้
ในช่วงเวลาอีกไม่กี่อึดใจที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในปีนี้พรรคการเมืองต่างๆมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสมาชิกพรรค เปิดตัวผู้สมัคร หรือหารือเรื่องการควบรวมพรรคการเมือง แต่ในส่วนของ “พรรคชาติพัฒนากล้า”ที่เป็นการควบรวมกันระหว่างพรรคกล้า และพรรคชาติพัฒนา มีความลงตัวเรื่องของการบริหารงานภายในพรรคและกำลังอยู่ระหว่างที่จะมีการเปิดตัวชุดนโยบายในช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้
“กรณ์ จาติกวณิช”หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ”ถึงแนวนโยบายสำคัญที่จะมีการเปิดตัวเพื่อใช้สู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้
กรณ์กล่าวว่าไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งใกล้เข้ามามากขึ้นจนถึงขณะนี้รัฐบาลผ่านความเห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณปี2567เป็นที่เรียบร้อยซึ่งสามารถที่จะยุบสภาได้ทันที่เมื่อกฎหมายเลือกตั้งมีการประกาศใช้เพราะการที่ยุบสภาเร็วในมุมของรัฐบาลก็อาจหวังจะได้กลับมาทำงบประมาณเร็ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะยุบสภาช่วยปลายก.พ.หรือว่าต้นเดือน มี.ค.แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือน เม.ย.
ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาพรรคชาติพัฒนากล้าจึงได้มีการจัดทำนโยบายที่จะใช้หาเสียงไว้ให้เรียบร้อยและได้หารือกันในพรรคซึ่งทุกฝ่ายในพรรคมีความพอใจและมีความสุขเพราะนโยบายที่ได้เป็นนโยบายที่พรรคมองว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ปัญหาที่ต้นตอซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่สะท้อนตัวตนของคนคิดนโยบายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
“พรรคเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจตามไลฟ์สไตล์และศักยภาพของแต่ละคน แต่ละช่วงวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะโครงสร้างประชากรของเราเปลี่ยน เด็กเกิดใหม่ลดลง และคนอายุยืนขึ้นจึงต้องหาแนวนโยบายที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เรื่องที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพใหม่ๆที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชน”
กรณ์กล่าวว่าพรรคจะมีการประกาศชุดนโยบายอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน ม.ค.โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องจะประกอบไปด้วยนโยบายสำคัญหลายด้านที่มุ่งไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหาหลายด้าน ได้แก่
1.นโยบายทางด้านการเงิน โดยในส่วนแรกที่พรรคได้ประกาศเป็นนโยบายออกมาแล้วคือเรื่องการยกเลิกแบล็กลิสต์ที่อยู่ในบัญชีเครดิตบูโร ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มที่มีปัญหาดังกล่าวนี้ประมาณ5– 6ล้านรายที่เป็นNPL ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แม้จะทำผิดแค่ครั้งเดียว ซึ่งควรจะมาใช้ระบบเครดิตสกอร์ริ่งมากกว่า
ทั้งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ของเครดิตบูโร ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆรวบรวมเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับผู้ขอกู้เงินในปัจจุบันเข้าไปด้วยเช่น ในปัจจุบันทำงานอะไร มีรายได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่เพื่อให้มีข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อในแต่ละช่วงเวลาไม่ใช่ดูว่าเคยเป็นNPLมาแล้วปฏิเสธการปล่อยกู้ ต้องมีข้อมูลในปัจจุบันประกอบด้วย
“ข้อมูลของประชาชนที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงส่งต่อได้ แต่ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ โดยข้อมูลของประชาชนถือว่าเป็นทรัพย์สินของประชาชน หากภาครัฐเข้ามาดูข้อมูลจะต้องมีการแจ้งเตือนมาที่ประชาชนด้วยซึ่งแนวทางนี้ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการ”
นอกจากนั้นภาคการเงินต้องมีการแข่งขันได้มากขึ้นก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีมากขึ้นทำให้หลายประเทศเริ่มมีการออกใบอนุญาตธนาคารรูปแบบดิจิทัล (Digital Bank)ที่นำข้อมูลพฤติกรรมมาใช้ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งการแข่งขันกันในระบบการเงินเมื่อมีDigital Bankจะลดส่วนต่างระหว่างเงินฝากและเงินกู้ลง เนื่องจากธนาคารที่เป็นดิจิทัลไม่มีต้นทุนในการบริหารสาขา และคนจึงสามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยได้มากกว่า ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ก็คิดต่ำกว่าธนาคารทั่วไปได้ทำให้ต้นทุนทางการเงินของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นด้วย
2.นโยบายด้านพลังงาน กรณ์ระบุว่าหลักการในเรื่องนี้คล้ายกับภาคการเงินที่เมื่อมีการผูกขาดก็มีจะมีการแข่งขันที่ลดลง ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทั้งในเรืองของก๊าซ น้ำมัน และไฟฟ้า โดยนโยบายของพรรคจะลงไปดูถึงโครงสร้างว่าอะไรคือต้นทุนแฝงที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจจะเป็นบางขั้นตอน บางหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นก็ควรที่จะต้องยกเลิก
ส่วนเรื่องราคาน้ำมันนั้นมองว่าควรที่จะยกเลิกการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ แต่ต้องมาดูว่าต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร และควรกำหนดราคาขายที่เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม
สำหรับเรื่องของไฟฟ้า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นถือว่ายังไม่สมดุลเนื่องจากเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่ถึงกว่า70%และใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง20%ซึ่งจริงๆแล้วสามารถที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้น เช่น ใน กทม.นั้นมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อีกประมาณ 6,000 เมกะวัตต์แต่ยังไม่เกิดเพราะว่าติดปัญหา และอุปสรรค
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)ก็มีแนวคิดว่าการผลิตไฟฟ้าต้องสงวนไว้ที่ กฟผ.เองทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกของประชาชนยังไม่เกิดขึ้นจริงๆซึ่งต้องมีการแก้ไขในส่วนนี้ด้วย ซึ่งนโยบายที่ควรสนับสนุนคือการแยกกิจการสายส่งออกมาจากการไฟฟ้าแล้วมีหน่วยงานเฉพาะมาดูแลเพื่อให้ไม่มีการผูกขาดและเปิดโอกาสให้ประชาชนขายไฟฟ้า หรือเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้จะเกิดการแข่งขันทันทีราคาพลังงานก็จะถูกลงเพราะประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่จำหน่ายไฟฟ้าในราคาถูก หรือว่าสามารถเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและโปร่งใส
3.การเพิ่มโอกาสของเอสเอ็มในการมีส่วนร่วมเข้ามาในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยงบประมาณของภาครัฐในขณะนี้คิดเป็นสัดส่วน15 – 20%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนนี้ได้ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีมีการเติบโตมากขึ้น และช่วยเพิ่มการจ้างงานของประเทศด้วย
เมื่อถามว่าพรรคตั้งความหวังเรื่องจำนวนส.ส.ไว้จำนวนเท่าไหร่ กรณ์กล่าวว่าพรรคคาดว่าจะได้จำนวนส.ส.มากพอที่จะทำให้เราสามารถทำงานได้ โดยหากให้คาดการณ์ในวันนี้ก็คิดว่าจะได้ ส.ส.ประมาณ10 ที่นั่งหรือว่ามากกว่า แม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงในทุกเขตแต่ก็จะส่งในพื้นที่ที่มีความคุ้นเคยและมั่นใจว่าจะได้คะแนนเสียงมากพอสมควร
“ก็ต้องดูด้วยว่าปาร์ตี้ลิสต์เราได้กี่คะแนน ถ้าได้ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ2ล้านคะแนน ผมว่าผมแฮปปี้แล้ว แสดงว่ามีคนที่ให้โอกาสทำงานจำนวนที่มากพอสมควร”กรณ์ กล่าว