“สุริยะ” นำทัพตะลุยญี่ปุ่น เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร-บีซีจี
“สุริยะ” ยกทัพรุกญี่ปุ่น ย้ำความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนขยายฐานผลิตเพิ่ม เซ็นเอ็มโอยูรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ เล็งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมโยงเอสเอ็มอี เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เส้นใยและสิ่งทอ อาหารและเกษตร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11 - 15 ม.ค. 2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ว่า กระทรวงอุตฯ เชิญชวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยการสร้างเครือข่ายคุณภาพผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลอุตสาหกรรม เครื่องจักร เทคโนโลยี การจับคู่ธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ต่อพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมและประเทศญี่ปุ่นโดยจังหวัดอิชิกาวะถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม
"โดยการเดินทางไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมในการต้อนรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเพิ่มในไทย ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยให้มั่นใจว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมพร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก"
รวมทั้ง ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ ให้เกิดการต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม OTAGAI Forum ครั้งที่ 22 ขึ้นที่เมืองนานาโอะ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม Carbon-fiber-reinforced polymers จากการประยุกต์ใช้เส้นใยกัญชง
รวมไปถึงความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร รวมถึงมหาวิทยาลัยคานาซาว่า (Kanazawa University) ที่จะมีการส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงานกับบริษัทในประเทศไทย เพื่อสร้างให้เกิดเครือข่ายธุรกิจระหว่างไทยกับจังหวัดอิชิกาว่า โดยจะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ การจัดนิทรรศการ และการจัดประชุมต่างๆ เป็นต้น ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลข่าวสาร และแผนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
โดยการยกทัพของกระทรวงอุตสาหกรรมเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทางคณะยังได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการกำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมของไทย
ปัจจุบันมีนักลุงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย จำนวนกว่า 6,000 กิจการ โดยมีจำนวนบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนแบบ FDI แบบ Joint Venture รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทย เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท และยังเกิดความร่วมมือในระดับรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ การจัดตั้งสำนักงานจังหวัดโตเกียว ฟุกุโอกะ และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย ขึ้นในประเทศไทย และจังหวัดชิมาเน่ วากายาม่า และเมืองโยโกฮามะ ที่ส่งผู้แทนมาประจำที่กระทรวงอุตสาหกรรม