ตรวจสุขภาพด้านต่างประเทศของไทย ผ่านเลนส์ IIP | ถิรนันท์ สงวนจีน

ตรวจสุขภาพด้านต่างประเทศของไทย ผ่านเลนส์ IIP | ถิรนันท์ สงวนจีน

แม้จะเข้าสู่ปีใหม่ แต่ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยอาจไม่น่ารักสดใสสมเป็นปีกระต่าย เศรษฐกิจการเงินโลกยัง ผันผวนทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสุขภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแรงพอรับมือกับปีแห่งความท้าทาย วันนี้ผู้เขียนจึงพาทุกท่านมาวิเคราะห์สุขภาพด้านต่างประเทศของไทยผ่านเลนส์ “International Investment Position (IIP)

เปิดกล้อง IIP

ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ หรือ IIP เป็นบัญชีแสดงฐานะทางการเงินที่ไทยมีกับต่างประเทศ ที่มีความสำคัญและครอบคลุมการวิเคราะห์พัฒนาการและความเสี่ยงด้านต่างประเทศ

โดย IIP เป็นงบดุลที่แสดงยอดคงค้างสินทรัพย์และหนี้สินของคนไทย (Resident) ที่มีกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Non-resident) โดยหากมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน หรือ Net IIP เป็นบวก แสดงว่าไทยเป็นเจ้าหนี้กับต่างชาติ (Net creditor) 

แต่หาก Net IIP เป็นลบ ก็แปลว่าไทยเป็นลูกหนี้กับต่างชาติ (Net debtor) นอกจากนี้ IIP ยังสามารถแสดงใน

  • มิติประเภทสินทรัพย์และหนี้สินที่ประเทศมีกับต่างชาติ (Instrument)
  • มิติภาคเศรษฐกิจที่บอกว่าใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์และหนี้สินนั้น (Sector) พัฒนาการฐานะการลงทุนสุทธิระหว่างประเทศของไทยตั้งแต่ 2548 - ปัจจุบัน

พัฒนาการฐานะการลงทุนสุทธิระหว่างประเทศของไทยตั้งแต่ 2548 - ปัจจุบัน

ตรวจสุขภาพด้านต่างประเทศของไทย ผ่านเลนส์ IIP | ถิรนันท์ สงวนจีน

ที่มา: คำนวณ โดย ธปท.

สำหรับไทย ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิของประเทศปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และเปลี่ยนจากการเป็นลูกหนี้กับต่างชาติมาเป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่ปี 2563 โดยในมิติประเภทสินทรัพย์และหนี้สิน

พบว่า ตั้งแต่อดีต สินทรัพย์ต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินสำรองระหว่างประเทศ ขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงและหลักทรัพย์ต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 16% ของสินทรัพย์ทั้งหมด (ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2548-2554)

แต่นับตั้งแต่ปี 2555 การลงทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากจนมาอยู่ที่ 45% (ณ สิ้น Q3/2565) จากความพร้อมใจออกไปลงทุนของภาคธุรกิจและคนไทย รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท. แม้ในช่วงโควิดระบาดคนไทยก็ยังออกไปลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง

ขณะที่ด้านหนี้สิน เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจนส่งผลให้มีการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศเข้าไทยต่อเนื่อง แม้ในแง่ยอดคงค้างอาจเห็นว่า

มูลค่าหนี้สินปรับลดลงบ้างจากผลของการตีมูลค่า สำหรับมิติภาคเศรษฐกิจ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ธปท. เป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่เป็นเจ้าหนี้กับต่างชาติ เห็นได้จากการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง

ส่วนภาครัฐบาล ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจ มีแนวโน้มเป็นลูกหนี้สุทธิลดลง สะท้อนจากฐานะการลงทุนของทุกภาคเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น จากการออกไปลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตรวจสุขภาพด้านต่างประเทศของไทย ผ่านเลนส์ IIP | ถิรนันท์ สงวนจีน

นอกจากนี้ การสะสมความมั่งคั่งของประเทศจากการหารายได้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ ที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 7.9% ต่อ GDP (ปี 2558-2562) จากการส่งออกสินค้าและรายรับภาคท่องเที่ยว 

แม้การระบาดของโควิด 19 จะทำให้รายได้ภาคท่องเที่ยวลดลงมากและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกรวมถึงจีน จะส่งผลบวกให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอีกครั้งในไม่ช้า

มองไปข้างหน้า ประเมินว่าไทยจะยังมีฐานะเป็นประเทศเจ้าหนี้ เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่ารายได้ที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่มาก

(การออกไปลงทุนโดยตรงและหลักทรัพย์คิดเป็น 1.4% ต่อ GDP) จึงมีโอกาสที่คนไทยจะออกไปสะสมสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อปรับสมดุลระหว่างรายได้ การออม และการลงทุนของประเทศ

ส่องกล้อง “ตรวจสุขภาพต่างประเทศของไทย” ผ่านเลนส์ IIP

งานศึกษาในอดีตมีการนำข้อมูล IIP มาใช้ประเมินความเสี่ยงภาคต่างประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ 

  • ความไม่สมดุลของโครงสร้างเงินทุน (Capital structure mismatch) คือ การมีเงินทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในรูปตราสารหนี้และเงินกู้มากกว่าตราสารทุน 
  • ความไม่สมดุลของอายุหนี้สินและสินทรัพย์ (Maturity mismatch) คือ การมีหนี้สินระยะสั้นสูงแต่ไม่มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ 
  • ความไม่สมดุลของสกุลเงินในสินทรัพย์และหนี้สิน (Currency mismatch) คือ การมีหนี้สินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแต่สินทรัพย์เป็นเงินในประเทศ

กรณีของไทย ผู้เขียนประเมินว่าเสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง โครงสร้างเงินทุนทั้งฝั่งสินทรัพย์และหนี้สินไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากอดีต และแม้ในช่วงโควิดก็ไม่ได้มีความเสี่ยงภาคต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับความเสี่ยงทั้ง 3 ด้านมีจำกัด โดย

  • โครงสร้างหนี้สินส่วนใหญ่เป็นตราสารทุน (65% ของหนี้สิน ณ สิ้น Q3/2565) และมากกว่าครึ่งของตราสารทุนเป็น FDI
  • ไทยมีสัดส่วนสินทรัพย์ระยะสั้นต่อหนี้สินระยะสั้นมากกว่าหนึ่ง และหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว คิดเป็น 60% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด
  • สินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ (96% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้น Q3/2565) 

ขณะที่หนี้สินส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินบาท (75% ของหนี้สินทั้งหมด) ตามสัดส่วนหนี้สินที่อยู่ในรูปแบบ FDI และการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ปกติจะลงทุนในบาท

ส่วนด้าน External debt แม้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศกว่า 70% แต่ภาคธุรกิจที่ไม่รวมธุรกิจการเงินส่วนใหญ่ทำ FX hedging ไว้แล้ว

บทสรุปส่งท้าย

Net IIP ที่ปรับดีขึ้นสะท้อนระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศและการเปิดกว้างทางการเงินของไทยที่มีมากขึ้น และแม้การเปิดกว้างทางการเงินที่มากขึ้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในระบบการเงินโลกได้ง่ายขึ้น 

แต่เมื่อวิเคราะห์ผ่านเลนส์ IIP เราก็มั่นใจได้ว่า “สุขภาพด้านต่างประเทศของไทยในระยะสั้นถึงปานกลางยังคงแข็งแกร่ง และยังไม่มีโรคร้ายใดๆ แฝงตัวอยู่อย่างแน่นอน”

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย