แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2566

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2566

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบกับสถานการณ์ทั้งโรคระบาด สงครามในยูเครน เงินเฟ้อ รวมถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางหลายพื้นที่ทั่วโลก

รวมทั้งไทยเองที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในสิงหาคม 2565 ตั้งแต่โควิดระบาดเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อ เมื่อเข้าสู่ปี 2566 เศรษฐกิจไทยส่อแววฟื้นตัวจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ทาง IMF และธปท.ต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ที่ 3.7% ในปี 2566 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ก่อนสถานการณ์โควิด ไทยมีการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการภาครัฐที่ผ่อนคลายและการเปิดประเทศ โดยธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ไทยได้บรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนแล้ว โดยมาจากมาเลเซียมากที่สุด ตามด้วยอินเดียและลาว และคาดว่าจะพุ่งสู่ 22 ล้านคนในปี 2566

ปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนสูงจากเงินเฟ้อส่อแววคลี่คลายลง เงินเฟ้อของไทยผ่านจุดสูงสุดที่ 7.9% เมื่อสิงหาคม 2565 ไปแล้ว โดยคาดว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานสูงเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะน้ำมันดิบ

เมื่อมองที่ค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์  เมื่อตุลาคม 2565 จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ แต่เริ่มแข็งค่าขึ้นในปัจจุบันจากที่เฟดประกาศจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง TDRI คาดการณ์เมื่อพฤศจิกายน 2565 ว่าจะอยู่ที่ราว 36.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2566

ทิศทางของอุตสาหกรรมในไทยค่อนข้างหลากหลาย อุตสาหกรรมที่ส่อฟื้นตัวดีกว่าระดับก่อนโควิดได้แก่การค้าปลีกและค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า จากแรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ กำลังซื้อของกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง และการฟื้นตัวการท่องเที่ยว นอกจากนี้การใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรม ICT 

รวมทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังโควิดยังช่วยสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การขนส่ง และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่น่ากังวลคือรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยืดเยื้อ ราคาวัตถุดิบสูง และแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล็กยังประสบปัญหาราคาต้นทุนสูง ซึ่งทั้งการบริโภคและการนำเข้าของผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปต่างหดตัวลง 23% ในตุลาคม 2565 (YoY) ตามข้อมูลจากสลท.

ความเสี่ยงและโอกาสของเศรษฐกิจไทยปี 2566

ความเสี่ยงสำคัญที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน ความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน ที่ส่งผลให้อุปทานหยุดชะงักหรือราคาพลังงานสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทำให้กำลังซื้อลดลง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดยังกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามโอกาสของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากภูมิภาคอื่นที่เปิดพรมแดน การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศหลังโควิด และการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน


มองไปข้างหน้าสำหรับกระแสปี 2566

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและ ESG เป็นแนวโน้มระดับโลกที่สำคัญทุกธุรกิจ ผู้นำต่างๆ ควรเข้าใจและใช้ประโยชน์สูงสุดจากกระแสธุรกิจนี้

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับธุรกิจอีกต่อไปจากแรงกดดันจากโรคระบาดและแนวโน้มของผู้บริโภคที่ไปทางดิจิทัลมากขึ้น บทความของ Deloitte Tech Trend 2023 เผยว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีเกิดใหม่นั้นส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างกว้างขวางทั้งด้านความท้าทายและโอกาส

คติประจำใจของสตาร์ทอัพที่กล่าวว่า ‘move fast, fail fast and break things’ อาจใช้ไม่ได้กับบริษัท เนื่องจากไม่มี legacy คุ้มกัน ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องตระหนักว่าพวกเขาอาจไม่สามารถเสี่ยงกับการทำลายสิ่งใหม่ๆได้แบบสตาร์ทอัพ จึงควรสร้างสมดุลในความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล จากการปรับปรุงเทคโนโลยีหรือกระบวนการทางธุรกิจหลักให้ทันสมัย ไปจนถึงการขยายขีดความสามารถทางธุรกิจ หรือแม้แต่การปรับรูปแบบธุรกิจใหม่

ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จ รวมถึงควรคาดการณ์แนวโน้มและความท้าทายของธุรกิจในอนาคตเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจต่อไป

ความพร้อมขององค์กรเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อความเป็นผู้นำ ผู้บริหารระดับ C-suite ควรมีแรงจูงใจและสามารถดำเนินการตามวิสัยทัศน์ด้วยทัศนคติเชิงบวกและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง มีการปลูกฝังวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม กล้าเสี่ยง รวมทั้งมีการออกแบบบุคลากรและโครงสร้างทีมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

ความตั้งใจของผู้นำและความพร้อมขององค์กรจะช่วยกำหนดและวางโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวกับวิธีการจัดการและขับเคลื่อนความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้สำเร็จอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ประเด็น ESG ยังสำคัญมากยิ่งขึ้น นักลงทุนได้ให้ความสนใจในบริษัทที่กำหนดเป้าหมาย ESG มากขึ้น ผลสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey 2022 ของดีลอยท์ประเทศไทยพบว่า ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการตระหนักถึง ESG ในองค์กรและได้ผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์องค์กร

นอกจากนี้ 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืนในธุรกิจของตนแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังมองว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ดีขึ้นจะให้เกิดผลบวก 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ และการบริหารความเสี่ยง