“เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (1)
Geopolitics กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในประชาคมโลก เมื่อความขัดแย้งทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการเมือง และการค้าระหว่างประเทศ มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างอีกระลอก
ต้องยอมรับว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ทำให้ทุกประเทศต้องเสี่ยงหนักกับความไม่แน่นอนสูง ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ไม่นาน ก็จะเห็นสัญญาณร้ายในการเผชิญกับวิกฤติการณ์หลายเรื่องที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ทั้งที่ ในช่วงสงครามเย็นยุติลง โลกยังมีความสงบ มีสันติภาพ ไร้สงครามขนาดใหญ่ เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 “โลกาภิวัฒน์” และ “ระบบทุนนิยมเสรี” ซึ่งเป็นกระแสโลก สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปได้เต็มกำลัง
จนขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ชาวโลกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จำนวนคนจนหลุดออกจากขีดความยากจนหลายร้อยล้านคน
แม้ห้วงเวลานั้น จะเป็นปรากฎการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง กลับเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในทุกมิติ ในลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย เพราะความมั่งคั่งร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับคนที่มีทรัพย์สินและรายได้สูง ขณะที่หนี้สินประเทศ และหนี้สินประชาชนกลับเพิ่มขึ้นสูง
กระทั่งในเวลาต่อมา สภาพปัญหานี้ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายใน และระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น ทั้งการเมือง การค้า เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.2007 มาถึงปัจจุบัน
เป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น โลกกลับเข้าสู่วิกฤติการณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ต่อเนื่องถึง 4 วิกฤติ นั่นคือ “วิกฤติซับไพรม์” หรือวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ ค.ศ. 2007-2008
โดยมีจุดเริ่มในสหรัฐอเมริกา เกิดจากการบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และการกำกับดูแลของกลุ่มวาณิชธนกิจที่ผิดพลาด ไม่รัดกุม จนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกันออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE โดยการพิมพ์เงินเพิ่ม แล้วอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่อง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เหตุของวิกฤตินี้มีหลายประเด็น แต่ต้นทางน่าจะมาจากระบบทุนนิยมเสรีและเทคโนโลยีพัฒนาถึงจุดที่ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินตามไม่ทัน เมื่อวิกฤติการณ์ซับไพรม์ปะทุขึ้น สหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะไม่มีช่องทางอื่นเข้าแก้ปัญหา จึงตัดสินใจเลือกใช้มาตรการ QE เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงิน
แม้ QE จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวขึ้นได้ในภายหลัง แต่ในเวลาเดียวกัน QE ก็สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว จากเม็ดเงินล้นโลก ดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือศูนย์ มีเงินเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นสูงขึ้น เกิดความไม่สมดุลของราคาและสินทรัพย์ รวมทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ก็สูงขึ้นด้วย
ที่สำคัญ QE ซึ่งทำให้เศรษฐกิจส่วนบนได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่มีผลทำให้เศรษฐกิจส่วนล่างได้รับประโยชน์ไปด้วย (Trickle Down Economic) มิหนำซ้ำยังสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้นไปอีก
เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแอ ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานั้นยังดีอยู่ จึงมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไม่ให้เลวร้ายลงไปอีก
วิกฤติซับไพรม์จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 เรื่อง คือ
- ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
- .ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่แข่งยังขยายตัวได้ดี ยังไม่ประสบวิกฤติเหมือนสหรัฐฯ
จึงทำให้สหรัฐฯ รู้สึกหวั่นไหวว่า อาจจะสูญเสียแชมป์เศรษฐกิจโลกเร็วขึ้น จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยสหรัฐฯ ว่า จะยอมให้เศรษฐกิจจีนแซงโค้งนี้ไปไม่ได้ และจุดนี้เอง น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ “สงครามการค้า” ในเวลาต่อมา “สงครามการค้า” ค.ศ.2018 คือ วิกฤติต่อมา โดยเกิดจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ว่ากันว่า สาเหตุหลักมาจากกรณีสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงลิ่วกับจีน และมองว่าจีนใช้วิธิปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ไม่นาน ก็ประกาศมาตรการตอบโต้จีนทันที
ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า และห้ามธุรกิจอเมริกันทำการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีของจีน ส่วนจีนก็ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- “เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (2)
- เศรษฐกิจโลกถดถอย บาทแข็ง กดส่งออกไทยซึมยาว
- แนวโน้มทางการจัดการสำหรับปี 2023 | พสุ เดชะรินทร์
สงครามการค้าครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปอย่างสิ้นเชิง โดย "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่รับไม้ต่อจาก “ทรัมป์” ได้สานต่อแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศของทรัมป์
ประเด็นนี้ ผมมองว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามการค้า เพราะการขาดดุลกับจีนมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่น่าจะมาจากการแข่งขันที่สหรัฐฯ ต้องการรักษาสถานภาพในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง ของโลก และการเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเอาไว้ให้ได้
ดังนั้น การนำมาตรการปกป้องกีดกันทางการค้า (Protectionism) กลับมาใช้กับคู่ค้า จึงสวนทางกับแนวทางการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำมาตลอด และเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อหยุดยั้ง และเพื่อสร้างเงื่อนไข ไม่ให้จีนก้าวมาทันสหรัฐฯ จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องสำคัญ คือ
- นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ภาครัฐและธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัวตาม
- เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือสหรัฐและจีน
ดังนั้น ระบบการค้าเสรีจะไม่เหมือนเดิม และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศจะเกิดการเลือกปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไป ขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์การค้าโลก (WTO) เอง หากไม่เร่งปฏิรูป ก็จะเสื่อมลงไปด้วย