การรถไฟฯ พัฒนาพื้นที่พาณิชย์ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

การรถไฟฯ พัฒนาพื้นที่พาณิชย์ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

การรถไฟฯ เตรียมเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” คาดประกาศเชิญชวน ก.พ.นี้ ดันเป้าหมายศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางอาเซียน พร้อมคาดพลิกโฉมบริการทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และสินค้าแบรนด์เนม

เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการสำหรับ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ที่เริ่มปรับเปลี่ยนนำขบวนรถไฟทางไกลเข้ามาให้บริการเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนำร่องให้บริการจำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย

สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน

สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน

สายใต้ จำนวน 20 ขบวน 

ส่วนขบวนรถรถไฟกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ประกอบด้วย

สายตะวันออก จำนวน 22 ขบวน

สายเหนือ จำนวน 16 ขบวน

สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน

สายใต้ จำนวน 4 ขบวน

ขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 14 ขบวน

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้บริการผู้โดยสารที่มาใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีความสะดวกสบายมากขึ้น ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเอกสารประกวดราคาเพื่อเชิญชวนเอกชนในการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจการเชิงพาณิชย์และติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยคาดว่าผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.จะพิจารณาอนุมัติและออกประกาศได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ หลังจากจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกข้อเสนอเอกชน และคาดว่าจะสรุปผลการพิจารณาคัดเลือก เพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เห็นชอบ และทำสัญญากับเอกชนได้ในเดือน ก.ย.2566 ก่อนอนุมัติให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่พัฒนาโครงการ และทยอยเปิดให้บริการปลายปี 2566

สำหรับรายละเอียดสัญญาการประมูล แบ่งออกเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย

1.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พื้นที่ 47,675 ตารางเมตร จำนวน 1 สัญญา

2.การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2,303 ตารางเมตร จำนวน 1 สัญญา

3.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 แห่ง พื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตร จำนวน 1 สัญญา

4. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในสถานี 12 แห่ง พื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร จำนวน 1 สัญญา

โดยสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 และ 4 เป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี เพื่อนำมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้งพร้อมกับโครงการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนบริหารและเดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งจะจูงใจเอกชนในการประกวดราคามากขึ้น ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จึงประเมินว่าตลอดอายุสัมปทาน 20 ปีนั้น จะสามารถสร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. ประมาณ 7.9 พันล้านบาท หรือเฉลี่ย 399 ล้านบาทต่อปี

ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื่องจากปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว จึงมีการปรับพื้นที่บางส่วนรองรับตู้บริการอัตโนมัติ หรือร้านค้าคีออส และร้านอาหาร หลังจากนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่ารูปแบบของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม คือการพัฒนาพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ ร้านสินค้าแบรนด์เนมคล้ายกับห้างสรรพสินค้า เพื่อเพิ่มตัวเลือกในบริการแก่ผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างคอยเที่ยวเดินรถไฟ และดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพื่อพักผ่อนหย่อนใจในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มากขึ้น