ฝนชุก ทำหอมใหญ่เน่าเสียหาย สศก. คาดปีนี้ได้ผลผลิต 2.8 หมื่นตันลดฮวบ 11 %
สศก. เกาะติดสถานการณ์หอมหัวใหญ่ 3 จว. ภาคเหนือ แหล่งผลิตสำคัญ พื้นที่ปลูกลดลง11 % ผลจากฝนชุกทำต้นกล้า เน่า เสียหาย คาดมี ผลผลิตรวม 28,716 ตัน ลดลง 8 %
นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ และเป็นพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของ สศท.1 โดยปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลของ สศท.1 ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) คาดว่ามีเนื้อเพาะปลูกรวม 3 จังหวัด 7,581 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 8,519 ไร่ (ลดลงร้อยละ 11)
เนื่องจากสภาพอากาศและมีฝนตกช่วงต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้ต้นกล้าเน่าได้รับความเสียหายบางส่วนทำให้พื้นที่ปลูกลดลง ด้านผลผลิตรวม 3 จังหวัด 28,716 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 31,298 ตัน (ลดลงร้อยละ 8) เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงและบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคหมานอน (โรคแอนแทรคโนส) รวมถึงโรคเน่าที่เกิดจากแบคทีเรีย
สำหรับภาพรวมการผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 เกษตรกรในพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัด เริ่มทยอยปลูกไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2565 - ต้นเดือนมกราคม 2566 โดยผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัด ได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด
โดยหากจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า เชียงใหม่ มีเนื้อที่เพาะปลูก 5,557 ไร่ ผลผลิตรวม 21,390 ตัน ขณะนี้อยู่ในช่วงเจริญเติบโต เชียงราย มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,944 ไร่ ผลผลิตรวม 7,054 ตัน ขณะนี้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว และมีผลผลิตออกไปแล้ว 80 % และ แม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่เพาะปลูก 80 ไร่ ผลผลิตรวม 272 ตัน ขณะนี้อยู่ในช่วงการเจริญเติบโต
ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ปีนี้ยังคงมีทิศทางดี โดยราคาหอมหัวใหญ่สดของทั้ง 3 จังหวัด (ราคา ณ วันที่ 19 มกราคม 2566) ขายแบบแบ่งเกรด คือ หอมหัวใหญ่ เบอร์ 0 ราคา 21 บาท/กิโลกรัม , หอมหัวใหญ่ เบอร์ 1 ราคา 20 บาท/กิโลกรัม , หอมหัวใหญ่ เบอร์ 2 ราคา 18 บาท/กิโลกรัม และแบบคละเกรด ราคา 16 บาท/กิโลกรัม ด้านการจำหน่ายผลผลิตในภาพรวม ประเทศไทยมีการส่งออกทั้งในรูปแบบหอมหัวใหญ่สด และหอมหัวใหญ่แห้ง ไปยังตลาดคู่ค่าสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรในพื้นที่ได้มีการรวมกลุ่มผลิตหอมหัวใหญ่ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ผาตั้ง จ.เชียงราย กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จ.เชียงใหม่ และกลุ่มผู้ปลูกหอมหัวใหญ่อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 5 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่เข็มแข็งมีศักยภาพการผลิต และเป็นจุดจำหนายเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกร
สำหรับมาตราการบริหารจัดการสินค้าหอมหัวใหญ่ในปี 2565/66 ได้มีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเน้นมาตรการกระจายผลผลิต ส่งจำหน่ายให้กับห้างส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และโรงงานแปรรูป รวมทั้งมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร รวมถึงวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับตลาดรองรับ เพื่อลดผลผลิตกระจุกตัว บริหารผลผลิตตามพื้นที่การปลูกให้มีการเหลื่อมเวลาปลูก ในทุกมาตรการ
ทั้งนี้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 059121318-9 หรือ อีเมล [email protected]