ร้อยปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีอะไรก้าวหน้า | สกล หาญสุทธิวารินทร์
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งกระทรวงพาณิชย์ขึ้น และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 มีพระบรมราชโองการให้จัดตั้ง กรมทะเบียนการค้าขึ้นในกระทรวงพาณิชย์
ต่อมาในปี 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ มีการเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ของกรมทะเบียนการค้า และเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า"
หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของกรมทะเบียนการค้าหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน คือการให้กำเนิดองค์กรธุรกิจ คือห้างหุ้นส่วนบริษัทตาม ป.พ.พ. ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท และบริษัทมหาชนจำกัด
มีอะไรก้าวหน้าเมื่อเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- แก้ไขปรับปรุงกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบธุรกิจ ที่สำคัญคือ
- ลดผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทเหลือสามคน จากประสบการณ์จากการจดทะเบียนของกรม พบว่าผู้ลงทุนตัวจริงที่จะจัดตั้งบริษัทมีสองถึงสามคน จึงเสนอกฎหมายแก้ไขลดจำนวนผู้เริ่มก่อการที่จะจัดตั้งบริษัท
จากเดิม 7 คน เหลือ 3 คน เพื่อไม่ให้ผู้ขอจัดตั้งบริษัทต้องไปรบกวนเสมียนทนาย พนักงานเดินเอกสาร แม่บ้าน ขอชื่อมาใส่เป็นผู้เริ่มก่อการให้ครบ 7 คนและให้ถือหุ้นลมคนละ 1 หุ้น
- การจัดตั้งบริษัทให้เสร็จในวันเดียว
สืบเนื่องมาจากมีกรณีนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยต้องการจัดตั้งบริษัทโดยด่วน เพื่อให้ทันเข้าร่วมการประมูลโครงการมูลค่าเป็นพันล้านโครงการหนึ่ง แต่ไม่สามารถกระทำได้
เพราะติดขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 วัน จึงมีเสียงบ่นว่ากฎหมายไทยและหน่วยงานของไทยล้าหลัง ไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ
เมื่อมีเสียงบ่นเช่นนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงแสดงให้เห็นว่า ในยุคกรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจได้
โดยเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัทให้สามารถจัตตั้งบริษัทได้เร็ว ให้เสร็จในวันเดียวก็ยังได้
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่18) พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2561 คือ มาตรา 1097 กำหนดจำนวนผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัท เหลือสามคน
และการจัดตั้งบริษัทเสร็จในวันเดียว กำหนดไว้ในมาตรา 1111/1 ที่เพิ่มขึ้นใหม่ สรุปได้คือ ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการตามขั้นตอน ที่กำหนดใน (1)-(4) ภายในวันเดียวกันกรรมการจะขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนบริษัทไปพร้อมกันในวันเดียวกันก็ได้
- ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการลงอีก
เนื่องจากมี ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ต้องการตั้งบริษัทประกอบธุรกิจ เพื่อแยกทรัพย์สินและกิจการออกจากทรัพย์สินและกิจการส่วนตัว แต่ไม่ประสงค์จะร่วมทุนกับผู้ใด เกรงว่า จะเกิดข้อขัดแย้ง เสนอให้สามารถจัดตั้งบริษัทโดยบุคคลคนเดียวก็ได้
แต่เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทโดยบุคคลคนเดียว เข้าพวกกับกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัทไม่ได้ เพราะเป็นเอกเทศสัญญา ต้องมีผู้เข้าทำสัญญาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จึงต้องตราเป็นกฎหมายเฉพาะออกมาต่างหาก
แต่ปรากฏว่าในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาทางปฏิบัติบางประการ จึงนำกลับมาทบทวนและรับฟังความคิดเห็นใหม่แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็สนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ลดผู้เริ่มก่อการเหลือ 2 คน ซึ่งน่าจะทำให้หาผู้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ที่เชื่อใจกันได้ง่ายขึ้น
- ปัญหาชื่อบริษัทที่ควบกัน
ตามกฎหมายเดิมเมื่อควบบริษัทเข้ากัน บริษัทเดิมที่ควบเข้ากันเป็นอันยกเลิก เกิดบริษัทขึ้นใหม่ และต้องใช้ชื่อใหม่ ผู้ประกอบการบางรายอยากใช้ชื่อเดิม เพราะเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว ก็มีการแก้ไขให้โดยกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่23) พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
มาตรา 1097 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดผู้จะเริ่มก่อการและจัดตั้งบริษัทเหลือสองคน ส่วนการควบรวมบริษัท จะควบรวมแบบเดิมหรือควบรวมกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพนิติบุคคล ซึ่งเปิดช่องให้ยังสามารถใช้ชื่อเดิมของบริษัทเดิมบริษัทหนึ่งบริษัทใดก็ได้ แล้วแต่จะเลือก
ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจการค้า
ยุค กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำคลอดองค์กรธุรกิจแล้ว ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้วย ไม่ใช่แค่ดูแลเพียงการทำบัญชีอย่างเดียวที่สำคัญ เช่น
การส่งเสริมพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดาหรือเป็นองค์กรธุรกิจที่มีอยู่เดิมหรือตั้งใหม่ให้สามารถติดต่อทำธุรกิจค้าขายทางออนไลน์ได้
มีการกำหนดเครื่องหมายรับรองสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ประกอบการค้าขายทางออนไลน์ด้วย นอกจากผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยทำให้การค้าออนไลน์เติบโตมาก ก็เป็นผลมาจากการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย
ส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ ให้เจริญเติบโต อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเจ้าของแฟรนไชส์ และประโยชน์ต่อผู้เริ่มต้นประกอบธุรกิจด้วย
ส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมของไทย เปลี่ยนแนวคิด จากการควบคุมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกทุนรายใหญ่ เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมโชห่วย ให้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง เป็นสมาร์ทโชห่วย ให้ยืนด้วยตนเองได้
ใช้เทคโนโลยียุคดิจิดัลให้บริการ งานด้านจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หอการค้า สมาคมการค้า การจองชื่อนิติบุคคลและจดทะเบียนออนไลน์ได้เต็มรูปแบบโดยจะขยายบริการภถึงการจดทะเบียนตั้งบริษัทมหาชนจำกัด ด้วย
สำหรับการออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ได้พัฒนาให้สามารถออกหนังสือรับรองทางไกลที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ
การให้บริการ E Filing ตามกฎหมายการบัญชีผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำบัญชี และต้องจัดทำงบการเงินส่งต่อกรมในเวลาที่กฎหมายกำหนด
เมื่อถึงฤดูกาลต้องส่งงบการเงิน จะเป็นช่วงที่ผู้มีหน้าที่ต้องส่งงบการเงินออกันเข้ามาส่งงบการเงินในช่วงสัปดาห์สุดท้าย จะเป็นมหกรรมที่วุ่นวายทั้งผู้ประกอการและเจ้าหน้าที่ การจราจรแถวสนามบินน้ำจะติดขัดวุ่นวายกันไปทั่ว
จึงมีการนำเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการสามารถนำส่งงบการเงินทางออนไลน์ที่เรียกว่า E Filing ได้ ตั้งแต่ปี 2558 ความวุ่นวายจากมหกรรมสางงบการเงินจึงหมดไปในเวลาต่อมา
ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 กรมทะเบียนการค้าหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน มีอายุครบหนึ่งศตวรรษ ถึงแม้จะมีอายุมากครบหนึ่งศตวรรษแล้ว แต่ก็ยังคงความก้าวหน้าในการให้บริการประชาชนดุจชายฉกรรจ์
โดยผู้บริหารเปิดตัวการให้บริการที่สำคัญจะเป็นศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย พัฒนาต่อไปเป็น Big Data และการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดทางออนไลน์
การให้บริการประชาชนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ก้าวหน้าไปมากไม่อาจจาระไนได้หมดในหน้ากระดาษของคอลัมน์นี้
ขนาดบุคคลที่เคยทำงานในกรมทะเบียนการค้าและช่วงที่เปลี่ยนมาเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อระยะเริ่มแรก เมื่อมารับทราบความก้าวหน้าในการให้บริการประชาชนในยุคนี้ มี อุทานออกมา โอ้โฮ!ก้าวหน้ารวดเร็วมาก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริงแต่อย่างใด