ดึง กฟภ. ร่วมแก้ ‘หนี้ครัวเรือน’ ฟังมุมมองจากกระทรวงการคลัง
คนจ่ายค่าไฟตรงเวลาได้เฮ หลังรัฐบาลเตรียม ใช้ข้อมูลการชำระค่าไฟฟ้า ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ฟังจากปาก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง ชื่นชอบ คงอุดม
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง (นายชื่นชอบ คงอุดม) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำ มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ได้เป็นประธานในการหารือระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จํากัด เกี่ยวกับแนวทางการนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลการชำระค่าไฟฟ้ามาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินของประชาชน
ตามที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนโดยกำหนดเป็นวาระสำคัญของประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนนั้น จะต้องดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก คือ (1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ (2) การสร้างรายได้ผ่านการให้สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้มีรายได้สอดคล้องกับภาระหนี้ และ (3) การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการสร้างทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้เป็นการผลักดันในข้อ 2 เกี่ยวกับการเข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากที่กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ไปแล้ว
ทีประชุมได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลการใช้และการชำระหนี้สาธารณูปโภค (Utility Data) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศว่าเป็นข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ในการประเมินความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้ (Ability and Willingness to Repay) โดยเฉพาะประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่มีประวัติสินเชื่อสั้นหรือไม่มีประวัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (Thin Files) ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินในอัตราที่เหมาะสมได้ โดยที่ประชุมมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและชำระค่าไฟฟ้าภายใต้การครอบครองของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ในต่างจังหวัด ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและสภาพคล่องในระบบ และบรรเทาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อในสถาบันการเงินในอนาคต
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป 3 หน่วยงานจะร่วมกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อจัดทำโครงการนำร่องในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและชำระค่าไฟฟ้าภายใต้การครอบครองของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินมากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
นายชื่นชอบ คงอุดม กล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้มีการนำข้อมูลทางเลือกมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญญาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับสินเชื่อที่เหมาะสมตามศักยภาพในการชำระหนี้ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนเป็นวาระสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” แล้วจำนวน 4 ครั้ง ทั่วประเทศ และจะมีการจัดมหกรรมครั้งสุดท้ายใน วันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมมหกรรม สามารถลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/Page/Consent.aspx หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1. สมาคมสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร. 02 202 1868 หรือ 02 202 1961
2. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115
3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02 111 1111
4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357
7. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 271 3700 หรือสายด่วน 02 037 6099
8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือสายด่วน 1302
9. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999