พาณิชย์เคาะเป้าส่งออกไทยปี 66 ขยายตัว1-2 %
พาณิชย์เผย ส่งออกปี 65 ขยายตัว 5.5 % มูลค่า 287,067 ล้านดอลลาร์ มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมเคาะเป้าส่งออกปี 66 ขยายตัว 1-2 % ลดลงจากปี 65 วางไว้ 4 % คาดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.ปี 65 ติดลบ 14.6%มูลค้า 21,718 ล้านดอลลาร์ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 12.5% การนำเข้า มีมูลค่า 22,752.7 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 12.0% ขาดดุล 1,033.9 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกรวมทั้งปี 2565 ขยายตัว 5.5 % มูลค่า 287,067 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัว 4.7 % ซึ่งถือว่าการส่งออกยังทำได้ดี เพราะปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 4% แต่จบปีสามารถทำได้เกินเป้าหมาย ส่วน การนำเข้า มีมูลค่า 303,190.7 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 13.6 % ขาดดุล 16,122.8 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกปี 65 ยังขยายตัวสูงคือการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึกในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน การเร่งเปิดด่านชายแดนหลังปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้การส่งออกชายแดนขยายตัวดีขึ้น ตัวเลขส่งออกภาพรวมดีขึ้นและการเร่งหาแหล่งสำรองอาหารจากผู้ซื้อทั่วโลกยังคงมีอยู่ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่มีปัญหาได้รับการคลี่คลายทั้งค่าระวางเรือที่ปรับลดลงมาสู่ภาวะราคาปกติ รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีปริมาณเพียงพอ
สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงในปี2565 จำนวน 10 รายการได้แก่ 1.น้ำตาลทราย 2.เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้าและ ส่วนประกอบ 6.อุปกรณ์กึ่งตัวนํา ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 7.ไก่แปรรูป 8.ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง 9.ไอศกรีม 10.อาหารสัตว์เลี้ยง
ส่วนตลาดที่ขยายตัวสูง 10 ลำดับแรกได้แก่ 1.ตะวันออกกลาง 2.สหราชอาณาจักร 3.แคนาดา 4.สหรัฐฯ 5.CLMV 6.เอเชียใต้ 7.อาเซียน(5) 8.ลาตินอเมริกา 9.สหภาพยุโรป และ10.ทวีปออสเตรเลีย ส่วนรัสเซียจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้การส่งออก ติดลบหนักสุดถึง 51.1% และทั้งปี 65 ติดลบ 43.3% เหลือมูลค่าส่งออกเพียง 585 ล้านดอลลาร์ จากปี 64 ที่ทำได้ 1,032 ล้านดอลลาร์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยในปี 2566 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่เศรษฐกิจของตลาดเป้าหมายการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี อาทิ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และ อาเซียน รวมถึงการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย ประกอบกับค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะสมดุล ทำให้ตั้งเป้าการส่งออกปี 66 ขยายตัว 1-2 % ซึ่งน้อยกว่าปี 65 ที่ตั้งเป้าไว้ 4 %
อย่างไรก็ดีมีปัจจัยที่จะต้องติดตาม อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียด (สหรัฐ-จีน-ไต้หวัน หรือรัสเซีย-ยูเครน) สร้างอุปสรรคด้านการค้าและความเสี่ยงต่อปัญหาห่วงโซ่อุปทาน แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้ากับความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทยเพื่อรับมือระเบียบการค้าใหม่ ๆ เป็นต้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีแผนผลักดันการส่งออกใน 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้เข้าสู่ประเทศชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัว