ครม.ไฟเขียวผูกพันงบฯ 8.7 พันล้าน สำนักนายกฯซื้อเครื่องบินใหม่รับ-ส่ง 'VIP'

ครม.ไฟเขียวผูกพันงบฯ 8.7 พันล้าน สำนักนายกฯซื้อเครื่องบินใหม่รับ-ส่ง 'VIP'

ครม.ไฟเขียวสำนักนายกฯ ซื้อเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 ที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2548  วงเงิน 8.7 พันล้านบาท โดยก่อหนี้ผูกพันฯ 4 ปีงบประมาณ พร้อมให้กองทัพอากาศทำแผนการประเมินการจัดซื้อ พร้อมแผนบริหารความเสี่ยงป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อ

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.วานนี้ (24 ม.ค.) เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการก่อหนี้

ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อดำเนินโครงการการจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น วงเงินรวม 8,784 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินการก่อหนี้ผูกพันจำนวนดังกล่าว เป็นการผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570

โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  วงเงิน  1,753.538  ล้านบาท

ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 2,191.434  ล้านบาท

ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงิน 2,201.514 ล้านบาท

และผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 วงเงิน 2,637.114 ล้านบาท  

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมาเห็นชอบ แนวทางการจัดทำ งบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่มีรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอไม่เกิน 24 ม.ค.2566 เพื่อประกอบการจัดทำงบประมาณปี 2567

โดยโครงการการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง ของ สลน.มีสาระสำคัญคือ กองทัพอากาศ แจ้งว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 หรือเครื่องบินแบบ Airbus A340-500 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงที่ใช้เครื่องยนต์เจ็ต จำนวน 4 เครื่องยนต์แบบที่ 2 ของกองทัพอากาศ ที่จัดซื้อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ตามมติคณะกรรมการของบริษัท การบินไทยฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ปัจจุบันประจำการ ณ ฝูงบิน 602 กองบิน 6 มีอายุการใช้งานตั้งแต่ปี 2548 – 2555  (การใช้งานโดยบริษัท การบินไทยฯ) และตั้งแต่ปี 2558 ได้เข้าประจำการ เพื่อปฏิบัติภารกิจในกองทัพอากาศ จะครบกำหนดวงรอบการประเมินอายุการใช้งานอากาศยาน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569

 

ประกอบกับตั้งแต่ปี 2555 บริษัท Airbusได้ยกเลิกสายการผลิตเครื่องบินแบบ A340-500 ส่งผลให้การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงมีมูลค่าสูงขึ้น โดยเครื่องบินลำดังกล่าวกองทัพอากาศใช้ในภารกิจการบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญทุกระดับ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ราชอาคันตุกะ หรือแขกของรัฐบาล ตลอดจนการสนับสนุนภารกิจลำเลียงทางอากาศสำหรับการปฏิบัติการ ทางทหารมิใช่การรบ ได้แก่ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ การอพยพคนไทยในต่างแดน และการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ สลน. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายการจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่งบุคคลสำคัญ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นรวมวงเงิน  8,784 ล้านบาท เพื่อบรรจุในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ของ สลน. ในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง  การถวายความปลอดภัยด้านการบิน และการบริหารจัดการด้านความมั่นคงของรัฐบาลต่อไป

 

โดยกองทัพอากาศได้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริต รายการจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญฯ ตามแผนบริหารความเสี่ยงทุจริต เรียบร้อยแล้ว

 

ความเห็นของส่วนราชการทีเกี่ยวข้อง ได้ให้ความเห็นดังนี้ กระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้วเห็นว่า การขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป "การจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น" มีความเหมาะสม ตามที่ สลน. เสนอ

 

ขณะที่กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่ ครม.จะอนุมัติในหลักการ โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 ตามที่ สลน. เสนอ สำหรับกรอบการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเคร่งครัด เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด