ส่งออกปี 65 โต 5.5%มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่งออกปี 65 โต 5.5%มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

พาณิชย์ เผยส่งออกปี 65 โต 5.5% มูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ แม้เดือนธ.ค.65 ติดลบ 14.6% รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เข็นส่งออกปี 66 ขยายตัว 1-2% สรท.เสนอแบงก์ชาติเร่งแก้เงินบาทแข็งค่าเร็ว “แบงก์กรุงเทพ” ชี้หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ย ระวังกระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอี

กระทรวงพาณิชย์ รายงาน การส่งออกไทยเดือน ธ.ค.2565 มีมูลค่า 21,718 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วติดลบ 14.6% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 22,752 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 12% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,033 ล้านดอลลาร์ 

สำหรับ การส่งออกเดือน ธ.ค.ที่ติดลบเป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง 11.6% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 10.8% และสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 15.7% 

ขณะที่การส่งออกรวมทั้งปี 2565 ขยายตัว 5.5% รวมมูลค่า 287,067 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัยทำให้การส่งออกขยายตัว 4.7% ถือว่ายังทำได้ดีเพราะปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่ 4% แต่ปีทำได้เกินเป้าหมาย ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 303,190 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.6% ขาดดุลการค้า 16,122 ล้านดอลลาร์ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกปี 2565 ขยายตัวสูง คือ การผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึกตลาดใหม่ร่วมกับเอกชน การเร่งเปิดด่านชายแดนหลังปิดทำการชั่วคราว เพราะโควิด-19 ทำให้การส่งออกชายแดนขยายตัวดี รวมถึงทั่วโลกเร่งหาแหล่งสำรองอาหาร และปัญหาโลจิสติกส์คลี่คลายทั้งค่าระวางเรือที่ลดลงสู่ภาวะปกติ รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์มีปริมาณเพียงพอ 

สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงในปี 2565 จำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1.น้ำตาลทราย 2.เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 6.อุปกรณ์กึ่งตัวนํา ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 7.ไก่แปรรูป 8.ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง 9.ไอศกรีม 10.อาหารสัตว์เลี้ยง 

ส่วนตลาดที่ขยายตัวสูง 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ตะวันออกกลาง 2.สหราชอาณาจักร 3.แคนาดา 4.สหรัฐ 5.CLMV 6.เอเชียใต้ 7.อาเซียน (5 ประเทศ) 8.ลาตินอเมริกา 9.สหภาพยุโรป 10.ทวีปออสเตรเลีย 

ในขณะที่รัสเซียจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้การส่งออกปีที่แล้วติดลบ 43.3% เหลือมูลค่าส่งออกเพียง 585 ล้านดอลลาร์ จากปี 64 ที่ทำได้ 1,032 ล้านดอลลาร์

ตั้งเป้าส่งออกปี66โต1-2%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกปี 2566 ได้ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) ประเมินเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นปัจจัยหลักที่กระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่กำลังซื้ออ่อนแอจึงตั้งเป้าการส่งออกขยายตัว 1-2% น้อยกว่าปี 2565 ที่ตั้งไว้ 4% โดยหากขยายตัวได้ 1% จะมีมูลค่า 289,938 ล้านดอลลาร์ ส่วนขยายตัว 2% จะมีมูลค่า 292,809 ล้านดอลลาร์ เพราะมีแรงเสียดทานทางลบหลายปัจจัย ประกอบด้วย 

1.ปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศตลาดหลัก เช่น สหรัฐคาดว่าขยายตัว 0.5-1% สหภาพยุโรปขยายตัว 0-0.5% และญี่ปุ่นขยายตัว 1.6% ย่อมกระทบการส่งออก

2.คาดการณ์ว่าไตรมาสแรกปี 2566 อาจมีสต๊อกสินค้าที่นำเข้าจากหลายประเทศในโลกของตลาดหลักอาจชะลอการสั่งซื้อหรือนำเข้า 

3.ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าต้นทุนการผลิตสำคัญของภาคการผลิต 

4.ค่าเงินบาทของเรามีแนวโน้มเริ่มแข็งขึ้นทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกยากขึ้น เพราะจะแพงกว่าคู่แข่ง 

 

อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยมีปัจจัยบวก คือ ระบบขนส่งสินค้าเริ่มปกติ ความต้องการอาหารโลกยังมีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และตลาดศักยภาพบางตลาดรองรับการส่งออกไทยได้ โดยเฉพาะ 4 ตลาดหลัก คือ ตลาดตะวันออกกลาง อาจขยายตัวได้ 20 % ตลาดเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ คาดว่าขยายตัว 10% ตลาด CLMV คาดว่าขยายตัว 15% และตลาดจีนขยายตัวได้ 1%

ห่วงเงินนอกไหลเข้าไทยแรง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนตั้งวอร์รูมติดตามตัวเลขส่งออกตลอดเวลา มั่นใจว่าปีนี้ส่งออกจะไม่ติดลบแน่นอน ขณะที่ประเทศอื่นติดลบ ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่าเกิดจากกองทุนต่างประเทศไม่มีที่ไป เพราะตลาดยุโรปและสหรัฐมีความเสี่ยงจึงทำให้เงินไหลเข้าไทยมากทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว ส่วนระยะยาวคาดไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป้าส่งออกปี 2566 จะขยายตัว 1-2% เป็นตัวเลขใกล้เคียงที่ ส.อ.ท.ประเมินไว้ แม้มีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เชื่อว่าการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเปิดตลาดจะช่วยชดเชยการส่งออก เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้

“ปีนี้ปัญหาเรื่องขาดแคลนชิปคลี่คลายลงแล้ว ส่วนปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนต้องติตตามใกล้ชิดแต่คงไม่มีผลต่อราคาพลังงานนัก เพราะผ่านจุดพีคแล้ว ส่วนค่าเงินบาทยอมรับว่าแข็งค่าเร็ว แค่ 2-3 เดือน แข็งขึ้นมาเกือบ 20% แล้ว

สรท.เสนอ ธปท.สกัดบาทแข็ง

นายชัยชาญ เจริญสุข สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกระทบผู้ผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง ซึ่งปีที่ผ่านมาการส่งออกเติบโตดีเพราะเงินบาทอ่อนค่า แต่มูลค่าส่งออกหดตัวในไตรมาส 3-4 ของปี 2565 และต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเงินบาทกลับมาแข็งค่าจึงมีข้อเสนอต่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 4 ข้อ คือ

1.ขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญทั้งซัพพลายเชน และซ้ำเติมผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น วัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ 2.ขอให้ ธปท.ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ หรือไม่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง 

3.ขอให้ ธปท.กำหนดมาตรการและเครื่องมือตรวจสอบกระแสเงินไหลเข้าเร็ว รวมถึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ติดตามข้อมูลโอนเงินบาทระหว่างบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ ซึ่งมีสัญญาณของธุรกรรมการเงินต่างประเทศเริ่มหนาแน่นกว่าปกติ 4.ขอให้ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง 

ธ.กรุงเทพรอดูทิศทางดอกเบี้ย

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กล่าวว่า ภายใต้ดอกเบี้ยขาขึ้นและยังเห็นการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของไทยเพิ่ม โดยธนาคารกรุงเทพต้องดูทิศทางดอกเบี้ยตลาดว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารคงขึ้นภายใต้หลักการการระมัดระวัง เพราะสิ่งสำคัญมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย คือ การช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เพื่อให้ประคองตัวผ่านพ้นวิกฤติจากโควิด-19

โดยเฉพาะการเข้าไปสนับสนุนด้านสินเชื่อต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการทรงตัวอยู่ได้ หรือให้สินเชื่อการประกอบธุรกิจเพื่อการปรับตัวหลังโควิด และล่าสุดธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ธนาคารช่วยลูกค้าให้ปรับตัวรับโมเดลการทำธุรกิจใหม่ได้ เช่น การช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อปรับตัวของ ธปท.

นอกจากนี้ความจำเป็นเร่งด่วน คือ การเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ให้ประคองตัวได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารแล้ว และยังไม่ได้อยู่ในมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมอาจทำให้ลูกหนี้บางกลุ่ม มีความเปราะบางอยู่ ดังนั้นการเข้าไปช่วยเหลือต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ธนาคารทำได้ คือ การพยายามดูแลลูกหนี้ให้ดีที่สุดทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอดได้ และเชื่อว่าดอกเบี้ยวันนี้ไม่ได้สูงมาก และการขึ้นดอกเบี้ยของระบบคงเป็นการขึ้นอย่างระมัดระวัง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อได้ ซึ่งเราต้องให้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารเหมาะสมและไม่เป็นภาระสำหรับลูกหนี้นัก”

เร่งช่วยลูกหนี้3กลุ่ม

ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารได้แบ่งการดูแลลูกหนี้เป็น 3 กลุ่ม เพื่อช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เช่น ลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่องจะช่วยเหลือให้มีสภาพคล่องรักษาการจ้างงาน ไม่เพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับลูกค้าในระยะนี้ โดยเฉพาะลูกค้าที่เปราะบาง เช่น บางรายอาจต้องขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือการปรับลดยอดผ่อนลงมา ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ถัดมา คือลูกหนี้ที่ต้องการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในช่วงที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งธนาคารจะช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ค้าขายหรือผลิตสินค้าบริการได้ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น 

รวมทั้งสุดท้ายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการสนับสนุนเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมในการปรับตัวดังกล่าว