จับตา 3 ปัจจัย ก่อน ‘เคาะ’ ค่าเอฟที งวดพ.ค.-ส.ค. 66

จับตา 3 ปัจจัย ก่อน ‘เคาะ’ ค่าเอฟที งวดพ.ค.-ส.ค. 66

กกพ. ชี้ จับตา 3 ปัจจัยก่อนเคาะค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 66 ในเดือนมี.ค. นี้ แง้มภาคครัวเรือนอาจจ่ายเพิ่มแตะหน่วยละ 5.2 บาท ลุ้นรัฐต่ออายุ 2 กลุ่ม จ่อประกาศค่าไฟสีเขียวหนุนเอกชนแข่งขันเวทีโลก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 ว่า จะสรุปอัตราค่า Ft ได้ประมาณเดือนมี.ค.นี้ เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนเม.ย. และเริ่มใช้เดือนพ.ค. เนื่องจากต้องพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงและปัจจัยผลกระทบให้รอบด้านเพื่อให้การพยากรณ์ใกล้เคียงมากที่สุด

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา 3 ปัจจัย คือ 1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่าจะผลิตได้เท่าไร โดยก๊าซฯ ส่วนนี้จำเป็นที่สุดเพราะราคาเพียง 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 2.ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (LNG Spot) ที่ปัจจุบันราคากว่า 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งราคานี้ถือว่าลดลงพอสมควรแต่ต้องติดตามความผันผวนหลังจากนี้อีกครั้ง และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เดิมประเมินจากระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าเหลือระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทระดับนี้ส่งผลดีต่อแนวโน้มค่าหลังจากนี้แน่นอน

"แม้แนวโน้มราคา LNG Spot และค่าเงิน จะส่งผลดีต่อค่าไฟงวดหน้า แต่กกพ.ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าแนวโน้มจะลดลงหรือไม่ เพราะปัจจัยที่สำคัญกว่า คือ ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ยังไม่กลับมาปกติ แม้แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแต่ก็มีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันปริมาณการใช้ไฟของไทยในก็เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นหากจะพิจารณาแนวโน้มค่าได้ใกล้เคียงที่สุดจึงอยู่ที่เดือนมี.ค. 2566"

นายคมกฤช กล่าวว่า ราคา Ft งวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.2566) เมื่อบวกกับค่าไฟฐานจะอยู่ที่ 5.2 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟครัวเรือนไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟกลุ่มอื่น อาทิ เอกชน ขยับไปอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วยก่อนจะลดลงเหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยข้างต้น และรัฐบาลไม่มีนโยบายแยก 2 ราคาและกำหนดค่าไฟราคาเดียว คาดว่างวดหน้า คือ พ.ค.-ส.ค. 2566 จะถูกกว่า 5.2 บาทต่อหน่วย แต่หากต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงก็สามารถตรึงไว้ที่ 5.2 บาทต่อหน่วยได้ และหากต้นทุนเพิ่มค่าไฟจะสูงกว่า 5.2 บาทต่อหน่วย 

"รอดูการตัดสินใจของรัฐบาลด้วยว่าจะมีนโยบายอย่างไร ที่ผ่านมาการทำ 2 ราคา โดยใช้วิธีนำก๊าซฯในอ่าวไทยมาให้ประชาชนใช้ก่อน และเอกชนจ่ายแพงกว่า แต่งวดใหม่นี้ต้องดูจะใช้แนวทางไหน จะให้เอกชนจ่ายแพงอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันรัฐและเอกชนอยู่ระหว่างจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างพลังงานร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ค่าไฟอยากให้ยึดจากราคา 5.2 บาทต่อหน่วยเป็นหลัก"

อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้แข่งขันในตลาดโลก ทั้งมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่น ๆ รัฐบาลจึงเดินหน้ากลไกสำคัญ คือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (Rec) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟสะอาด โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและยุ่งยากกับกระบวนการออกใบรับรอง 

ทั้งนี้ สำนักงานกกพ. อยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถกำหนด อัตรา Green Tariff ได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียว และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ คาดว่าการออกประกาศอัตราดังกล่าวแล้วเสร็จภายในครึ่งปีนี้ และประกาศอัตรา UGT 1 และ UGT 2 ได้ในเดือนเม.ย. 2566 นี้ จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจซื้อไฟฟ้าสีเขียวจองสิทธิ์ได้ในช่วงเดือนมิ.ย.2566 และเริ่มการซื้อขายจริงได้ เมื่อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่รัฐเปิดรับซื้อเข้าระบบล็อตใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ เริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป