โลกยัง "ผันผวน" ต้องรับมือให้ทัน
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะภาคการส่งออก หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะไม่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกถดถอยขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ก้าวเข้าปี 2023 มาแล้ว 1 เดือน โลกยังคงมีแต่ความผันผวน คาดเดายาก นอกจากปัจจัยเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง และจะจบอย่างไร ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสังคมยุคใหม่ พฤติกรรมใหม่ๆ ที่ส่งผลให้ธุรกิจ องค์กรต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับความผันผวน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งโควิด-19 อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่อาจมีการกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ จนทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่คู่กับโรคใหม่ๆ และเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์กับสิ่งที่ไม่เคยมี รู้หนทางแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง การระบาดของโควิดทั่วโลกกว่า 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเกิดองค์ความรู้มากมาย การรับมือกับการระบาด การกักตัว การเวิร์คฟรอมโฮม วิถีชีวิตในแบบใหม่ อนาคตเราจึงต้องหาทางสร้างความคุ้นเคยกับการรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด
ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ หรือปมโลกแบ่งขั้ว ซึ่งกลายเป็นคนละเรื่องกับ โลกาภิวัตน์ ที่พูดพร่ำมาอย่างยาวนานหลายปี สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ช่างสวนทางกับกระแสโลกไร้พรมแดน ที่ควรจะทำให้มนุษย์โลกใช้ชีวิตได้อย่างเสรีไม่มีกำแพงกั้น
หากตอนนี้กลับต้องเจอกำแพงแห่งความเกลียดชัง ขัดแย้งจากการเมืองระหว่างประเทศ จนทำให้อุตสาหกรรมต้องวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ ยังไม่นับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจน คนรวยที่ถ่างกว้างขึ้น จากการกระจายรายได้และโอกาสที่ไม่ทั่วถึง เพียงพอ จนไม่รู้ว่าจะมีวิธีแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ประเด็นความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดแค่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เกิดขึ้นไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
อีกหนึ่งในประเด็นปัญหาเชิงภาพรวมเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยยังต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมีผลต่อปากท้องของคนทั้งประเทศ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะ ภาคการส่งออก ที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนประเทศ เมื่อหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะไม่สามารถขยายตัวได้ หรือ มีอัตราการขยายตัวเท่ากับศูนย์ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกถดถอยขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องมองหาหนทางในการแก้ปัญหา อาจต้องมองไปยังตลาดเกิดใหม่ เหมือนที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ แนะนำไว้อย่าง เอเชียใต้ อาเซียน และ ตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย ที่น่าจะเป็นตลาดที่ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ส่งออกของไทย เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก และกำลังประสบปัญหาย่ำแย่ เพราะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง