เอกชนหวั่น ‘ค่าไฟ’ ทะลุ 6 บาท/หน่วย ซ้ำเติมผู้ประกอบการ

เอกชนหวั่น ‘ค่าไฟ’ ทะลุ 6 บาท/หน่วย ซ้ำเติมผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการห้องเย็นเดือดร้อนหนักจากค่าไฟฟ้าที่ปรับใหม่ต้องจ่ายอยู่ขณะนี้เดือนละกว่า 5 ล้านบาท หากมีการปรับอีก 5.42บาท เท่ากับเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก 15% ยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการ ห่วงหลังรัฐบาลหมดวาระ จะเกิดสูญญากาศทางการเมือง

   นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) หรือ TRS ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยตลาดส่งออกอยู่ในแถบเอเชีย 90% และอีก 10% ไปยุโรป และอเมริกา นำผู้สื่อข่าวดูส่วนของโรงงานทั้งหมด 4 โรง ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิตและรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง ที่มีกำลังการผลิตวันละประมาณ 20 -30 ตัน ซึ่งแต่ละโกดังจะใช้ไฟฟ้าที่อุณหภูมิที่แตกต่างกัน เช่น ส่วนของแผนกการผลิตจะต้องใช้ไฟฟ้า เฉพาะเวลากลางวันที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส ส่วนโกดังที่จะต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย ห้องแช่แข็ง หรือห้องฟีซ อุณหภูมิติดลบ 40 -50 องศาเซลเซียส , โกดังจัดเก็บผลิตภัณฑ์ อุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ บางห้องจากที่ต้องใช้อุณหภูมิติดลบ 25 องศา ก็ลดความเย็นลงมาที่ลบ 20 องศา เพื่อความประหยัด แต่คงคุณภาพ แต่หากเป็นปลาตัวใหญ่ ประเภท ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลากะพงแดง ต้องใช้ที่อุณหภูมิติดลบ 30 องศาเซลเซียส จึงทำให้โรงงานอาหารแช่แข็งจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

      นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) หรือ TRS กล่าวว่า การปรับกระแสไฟฟ้าที่มีอย่างต่อเนื่องกระทบธุรกิจอย่างมาก จนล่าสุดต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 -5.00 บาทต่อยูนิต แต่ตอนนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ยูนิตละ 5.20 - 5.50 บาท ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นอีกประมาณ 15 % ปกติค่าไฟฟ้าต้องจ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับขึ้นอีกประมาณ 15% จะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเดือนละกว่า 1 ล้านบาท หรือต้องจ่ายเพิ่มอีกปีละกว่า 12 บาท ซึ่งราคานี้เป็นแค่ขั้นต้นตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่เท่าที่ฟังมาจากหลายๆฝ่าย การไฟฟ้าอาจจะดันค่า FT ไปให้ถึงหน่วยละ 6 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนัก 
      ส่วนตัวมองว่าอาจจะเป็นเพราะการไฟฟ้าต้องใช้ก๊าซเป็นหลัก ซึ่งต้นทุนก๊าซสูงขึ้นประกอบกับค่าเงินบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของเราจากเดิม 37 -38 บาท ตอนนี้แข็งค่าลดลงเหลือประมาณ 32 บาท ก็มีผลทำต้นทุนการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนตัวก็เข้าใจ แต่หากมีการปรับขึ้นอีกกระทบกับผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เป็นห่วงมากหลังจากนี้อีกคือ ในเดือนมีนาคมรัฐบาลจะหมดวาระการทำงาน ก็จะทำให้เกิดสุญญากาศในการบริหารประเทศ ถ้าหากผู้บริหารไม่ได้ดูแลประเด็นนี้ อาจจะมีการถือโอกาสขึ้นค่าเอฟทีในทันที โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ กว่าที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาจัดการตอนนั้นราคาค่าไฟก็ขึ้นไปชนเพดานแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นภาคอุตสาหกรรมก็รู้สึกเป็นห่วงในประเด็นนี้ และเมื่อค่าไฟปรับขึ้นค่าอื่นๆก็จะต้องปรับตาม ทั้งวัตถุดิบ ค่าแพคเกจจิ้ง ค่าขนส่ง และเชื่อว่าเงินเฟ้อก็จะต้องตามมาอีก ทั้งนี้ เมื่อเรากระทบคนอื่นก็กระทบด้วย ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาวของของลูกค้า การบริโภคก็ลดลง การซื้อก็ลดลง ตอนนี้ประเมินสถานการณ์ไม่ได้เลยว่า นับจากนี้ต่อไปอีกประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี ข้างหน้า จะต้องเจอกับอะไรบ้าง ตอนนี้ก็ต้องหาทางบริหารเอาตัวรอดก่อน มองสั้นๆในระยะ 3 เดือนเท่านั้น และยังจะต้องเจอกับการปรับขึ้นค่าแรงอีก ตอนนี้อยู่ที่วันละ 350 -380 บาท แต่ถ้าขึ้นอีกก็ต้องจ่ายวันละ 400 บาท ซี่งค่าแรงเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงที่สุดของผู้ประกอบ จึงอยากให้ผู้บริหารมองปัญหาในระยะยาวด้วย