5 อันดับทรัพย์ ‘ทางหลวง’ ถูกโจรกรรม วอนประชาชนเป็นหูเป็นตา
กรมทางหลวงเปิดข้อมูลปี 2565 พบทรัพย์สินถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท ส่วนใหญ่โจรกรรมสายไฟฟ้ามากที่สุด วอนประชาชนทุกพื้นที่ให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแส และช่วยกันดูแลทรัพย์สินของทางราชการ
กรมทางหลวงนับเป็นหน่วยงานที่มีทรัพย์สินอยู่ในความรับผิดชอบ 23 ประเภท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา และซ่อมบำรุงเป็นประจำ เพื่อให้มีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน และปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน
ดังนั้นในทุกปีกรมทางหลวงจะมีการจัดเก็บข้อมูลทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทราบถึงความจำเป็นในการซ่อมบำรุง และประมาณค่าใช้ง่ายได้อย่างเหมาะสม
ปัจจุบันทรัพย์สินที่กรมทางหลวงต้องดูแลและบำรุงรักษาทั้ง 23 ประเภท ประกอบด้วย
- ผิวทางและไหล่ทาง
- ทางเท้า
- ทางจักรยาน
- เกาะแบ่งถนน
- ท่อระบายน้ำ
- ทางระบายน้ำ
- สะพานและทางยกระดับ
- สะพานกลับรถ
- อุโมงค์หรือทางลอด
- สะพานลอยคนเดินข้าม
- กำแพงกันดิน
- ป้ายจราจร
- เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง
- ราวกันอันตราย
- ไฟสัญญาณจราจร
- ไฟเตือนหรือไฟสัญญาณทางข้าม
- ไฟฟ้าแสงสว่าง
- เครื่องหมายนำทาง หลักกิโลเมตร และหลักเขตทาง
- ศาลาทางหลวงและที่รอรถประจำทาง
- ทางเชื่อม
- บริเวณข้างทาง
- อาคาร
- ที่ดินนอกเขตทาง
ขณะที่สำนักอำนวยความปลอดภัย ได้รายงานข้อมูลการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางของกรมทางหลวง ประจำปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม 2565) พบว่ามีอุปกรณ์และสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง ถูกโจรกรรมไปรวมมูลค่าทั้งสิ้น 30,627,034 บาท
ทรัพย์สินของกรมทางหลวงที่ถูกโจรกรรมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- สายไฟฟ้า จำนวน 249 แห่ง มูลค่า 13,320,279 บาท คิดเป็น 48%
- อุปกรณ์สัญญาณไฟจราจร จำนวน 70 แห่ง มูลค่า 1,596,021 บาท คิดเป็น 13%
- หม้อแปลงไฟฟ้า จำนวน 39 แห่ง มูลค่า 8,247,820 บาท คิดเป็น 7%
- อุปกรณ์ราวกันอันตราย จำนวน 38 แห่ง มูลค่า 1,560,421บาท คิดเป็น 7%
- ฝาตะแกรงเหล็ก/ท่อ จำนวน 32 แห่ง มูลค่า 2,213,619 บาท คิดเป็น 6%
นอกจากนี้ หากจำแนกตามแขวงทางหลวงพบว่า พื้นที่ที่มีปัญหาการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางเรียงลำดับตามมูลค่าความเสียหายสูงสุด ได้แก่
- สำนักงานทางหลวงที่ 14 (ชลบุรี)
- สำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ)
- สำนักงานทางหลวงที่ 15 (ประจวบคีรีขันธ์) ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางประจำปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 25,013,275 บาท พบว่า มูลค่าอุปกรณ์งานทางได้ถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมทางหลวงได้มีมาตรการในการป้องกันการโจรกรรมและมาตรการเพิ่มเครือข่ายประชาสังคมในการร่วมดูแลรักษาอุปกรณ์งานทาง ถือเป็นการช่วยกันสอดส่องดูแลในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้ทางและประชาชนผู้อาศัยบริเวณสองข้างทางหลวงช่วยกันดูแลทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อให้ปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินงานทางและทรัพย์สินทางราชการลดลง รวมทั้งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและนำไปพัฒนาทางหลวงได้ต่อไป โดยหากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดหรือสงสัยจะกระทำผิดสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงในพื้นที่ทั่วประเทศ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) และตำรวจทางหลวง 1193 ตลอด 24 ชั่วโมง