“เพ็ชร” ลุยเจรจาต่างชาติดึงลงทุน ยืนยันไม่ลาออกจากรองเลขาธิการ EEC
“เพ็ชร” ยืนยันยังไม่ลาออกจากรองเลขาธิการ EEC เดินหน้าทำงานดึงการลงทุน ชี้ ค่ายรถจีนเดินหน้าแผนลงทุนอีวีในไทย “บีวายดี” เตรียมตอกเสาเข็มตั้งโรงงาน
การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านหลังจาก นายจุฬา สุขมานพ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกพอ.คนใหม่ โดยได้ทำงานร่วมกับรองเลขาธิการที่มีอยู่ทั้ง 4 คน และที่ปรึกษาพิเศษของ สกพอ.
นายเพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการ สกพอ. โดยการออกจากตำแหน่งดังกล่าวต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
รวมทั้งขณะนี้ยังทำงานในภารกิจการลงทุนจาก ซึ่งล่าสุดวันที่ 7 ก.พ.2566 ได้หารือกับบริษัทเกรทวอลล์มอเตอร์ และบริษัทบีวายดี เกี่ยวกับการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย
ทั้งนี้ บีวายดีเตรียมที่จะเริ่มสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 หลังจากที่ได้ลงนามซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 600 ไร่ เมื่อปลายปี 2565 โดยสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 17,891 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปอาเซียนและยุโรป
นอกจากนี้ จากการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีใน 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่ากลไกเอกชนร่วมลงทุนกิจการรัฐ (PPP) มีความสำคัญต่อการพัฒนามาก ซึ่งระยะต่อไปหลังโครงสร้างพื้นฐานเสร็จจะทำให้การพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
รวมทั้งเป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นโจทย์สำคัญ เช่น การพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โรงพยาบาลปลวกแดง ซึ่งเป็นต้นแบบ PPP ในทุกโอกาสทางการพัฒนาธุรกิจร่วม ระหว่างรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ จนถึงเอกชนท้องถิ่นทุกระดับ
“นโยบายที่ชัดเจนจะสร้างมิติสัมพันธ์ให้การลงทุนเมื่อนโยบายภาครัฐชัดเจน นักลงทุนก็ยกระดับตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะบีวายดีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มียอดขาย EV เป็นอันดับ 1 ของโลก ที่เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้าประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ในไทยเช่นกัน อาทิ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งนำโดยบริษัท EA ได้ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในอีอีซี รวมถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทระดับภูมิภาค การกำหนดนโยบายของภาครัฐ และการผลักดันให้ทันกระแสโลก มีความสำคัญต่อทุกห่วงโซ่การผลิต