เดินหน้า‘ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 2’ 66-70 สั่งทำงบฯพุ่งเป้า - ยกระดับขีดแข่งขัน
รัฐบาลเคาะแนวทางเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 2 ปี 2566 - 2570 ส่งต่อรัฐบาลหน้า สั่งทำงบประมาณ แผนการบริหารสอดคล้องกับแนวทางและเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งเป้าเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การสร้างความมีส่วนร่วม และยกระดับขีดสามารถแข่งขันของประเทศ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580)โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในปี 2580 โดยในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติได้มีการแบ่งระยะเวลาในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นระยะครั้งละ 5 ปี โดยในระยะที่ 1 ได้ครบกำหนดระยะเวลาเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ (8 ก.พ.) ที่ผ่านมาโดยมีการประชุมร่วมกับชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ ปี 2566-2570 โดยหลายเรื่องที่ดำเนินงานมา มีความก้าวหน้าสำเร็จส่วนหนึ่ง ขณะที่บางส่วนยังช้าอยู่ และบางส่วนยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในช่วงระยะที่ 2 ให้ดีมากยิ่งขึ้นเพื่อการสานต่องานให้ไปได้ด้วยดี
วางแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ2
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (ปี 2566-2570)
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 เรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act : PDCA) โดยมอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) นำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานดำเนินการต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของการวางแผน หน่วยงานของรัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ
พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ภาคีการพัฒนาและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบันกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงบประมาณและหน่วยงานกำกับแผนงานบูรณาการหรืองานวิจัย ต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้า หน่วยงานเจ้าภาพแผนแม่บทฯ ประสานและบูรณาการและกำกับให้หน่วยงานดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน แผนระดับที่ 2 การปฏิบัติ (Do) ในส่วนของ
แผนระดับที่ 3 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อให้มีแผนเท่าที่จำเป็นต่อบริบทของการพัฒนาประเทศ สำนักงานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวิเคราะห์หาช่องว่างประเด็นการพัฒนาที่จำเป็นต้องมีแผน หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า
สั่งทำงบฯแบบพุ่งเป้า
ในส่วนของโครงการ หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า สำนักงบประมาณ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณโดยพุ่งเป้าไปยังเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยที่มีสถานะการบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤต (สีแดง) และปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญประจำปีงบประมาณ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งประสานบูรณาการการดำเนินการให้กระทรวงกำกับผู้ตรวจราชการกระทรวง/กรม ปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 อย่างเคร่งครัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงต้องจัดทำแผนการตรวจราชการที่เป็นเจ้าภาพหลัก ตามภารกิจของหน่วยงาน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ต้องเร่งกำหนดประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลประจำปี
โดยต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มีสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ (สีแดง) และ/หรือ มีระดับวิกฤติต่อเนื่อง และ/หรือ เป้าที่ได้รับการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ และการปรับปรุงการทำงาน (Act) หน่วยงานของรัฐใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบการปรับปรุงการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของ PDCA บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดการพุ่งเป้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องกระบวนการงบประมาณ ที่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง
ทบทวนพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ
รวมทั้งเห็นชอบการดำเนินการทบทวนพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยให้สำนักงานฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานฯ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบกลาง (www.law.go.th.) และวิธีการอื่น ๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไป
คณะกรรมการฯ มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยรายงานประจำปี 2565 เป็นรายงานฉบับที่ 4 โดยภาพรวมของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วง 5 ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์พัฒนาปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่มีเป้าหมายการพัฒนาอยู่ในระดับวิกฤติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ผ่านมามีประเด็นท้าทายที่สำคัญ
เช่น ทำความเข้าใจของหน่วยงานของรัฐในหลักการและวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ทำให้ยังขาดความบูรณาการ ความเข้าใจของการดำเนินงานที่ควรต้องมุ่งเน้นการบรรลุผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของ“เป้าหมาย”ส่งผลให้หลายหน่วยงานยังดำเนินงานเพื่อตอบ“ตัวชี้วัด”บางหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้นำเข้าแผนระดับที่ 3 โดยเฉพาะแผนปฏิบัติ และโครงการ/การดำเนินงานในระบบ eMENSCR รวมถึงข้อมูลสถิติ งานวิจัยต่าง ๆ ในระบบ OpenD ส่งผลให้กลไกติดตาม ตรวจสอบ และประเมินขาดข้อมูลประกอบการติดตามและตรวจสอบที่ครอบคลุมซึ่งต้องแก้ไขต่อไป